1125
ตอนที่ 5 สั่งสอนลูกโดยไม่เสียสัมพันธภาพ

ตอนที่ 5 สั่งสอนลูกโดยไม่เสียสัมพันธภาพ

โพสต์เมื่อวันที่ : November 15, 2020

พ่อแม่ต้องไม่พูดซ้ำเติมลูก

หลังจากที่ลูกได้ลงมือทำสิ่งที่ตนเองตัดสินใจไปแล้ว หากผลลัพธ์ออกมาดี เราก็มีความสุขด้วย ลูกก็ภาคภูมิใจและมั่นใจในตนเองมากขึ้น เป็นแรงผลักดันให้กล้าคิด กล้าฝันและกล้าทำต่อ ๆ ไป

 

อย่างไรก็ตาม ไม่มีมนุษย์คนใดไม่เคยผิดพลาด ลูกก็เช่นกัน เมื่อผลลัพธ์ไม่เป็นอย่างที่หวัง ลูกก็ต้องผิดหวัง เสียใจ ความยากลำบากในช่วงเวลานี้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่ลูกคิดไม่ได้ แต่เกิดจากรับอารมณ์ตนเองไม่ไหวต่างหาก นอกจากผิดหวัง เสียใจแล้ว หลายคนก็โกรธตัวเองที่ผิดพลาด ยิ่งถ้าเรื่องไหนตัดสินใจโดยฝืนคำเตือนของพ่อแม่ ก็ยิ่งโกรธตัวเองมากขึ้น หลายคนเจ็บใจที่ไม่ฟังพ่อแม่ และอาจรู้สึกผิดร่วมด้วย

 

หากความผิดพลาดทำให้ลูกมีความรู้สึกเชิงลบต่อตนเองบ่อย ๆ แทนที่ลูกจะแข็งแกร่งขึ้น อาจกลายเป็นอ่อนแอลงก็ได้ เด็กจะสงสัยในความสามารถของตนเอง กังวลที่จะล้มเหลว และไม่อยากรับรู้ว่าตนไม่เก่ง บางคนกลัวมากจนไม่กล้าคิด ไม่กล้าตัดสินใจ กลายเป็นเด็กไม่มั่นใจไปเลย

 

ดังนั้นพ่อแม่ควรมองมุมเด็ก แสดงความเข้าใจและให้กำลังใจลูก อย่าพูดซ้ำเติม ตำหนิหรือประชดประชันให้ดำดิ่งลงอีก เช่น ...“เห็นมั๊ย ถ้าเชื่อพ่อแม่ก็คงไม่ลงเอยแบบนี้”... หรือ ...“ทำไมไม่คิดดี ๆ แต่แรก”... หรือ ...“บอกแล้ว ก็ไม่เคยฟังเลย”... หรือ ..."เป็นไงล่ะ อวดดีนัก”... การพูดเช่นนี้ จะไปสนับสนุนความคิดที่ว่าลูกไม่เก่ง คิดไม่เป็น ไม่ฉลาด ตอกย้ำว่าลูกไม่มีความสามารถจริง ๆ ทำให้กลายเป็นเด็กไม่มั่นใจ

อันที่จริงแล้ว คำพูดลักษณะนี้ก็มาจากความเจ็บปวดในใจพ่อแม่ที่เห็นลูกพลาด เราอยากให้ลูกพบแต่สิ่งดี ๆ จนไม่ทันคิดว่าพูดแบบนี้จะตอกย้ำลูก เอาล่ะ...ตอนนี้รู้แล้ว ก็ขอให้เริ่มที่จัดการความรู้สึกเจ็บปวดของตนเองให้เรียบร้อยเสียก่อน อย่าผลีผลามปล่อยออกมาเป็นคำพูดเชิงลบ ไม่ว่าลูกจะมองตนเองลบแค่ไหน พ่อแม่ก็ไม่ควรเป็นคนหนึ่งที่บั่นทอนคุณค่าในตัวลูก

 

 

สิ่งที่ลูกต้องการมากที่สุด ณ ตอนนี้ คือ 'พ่อแม่ที่ใจสงบ' ไม่สร้างบรรยากาศตึงเครียด ไม่บ่น ไม่หงุดหงิด หรือพยายามสอน ลูกต้องการจัดการความรู้สึกตนเองก่อน อยากให้พ่อแม่รับฟังก่อน ขอบรรยากาศที่สงบและเวลาที่มากพอด้วย พ่อแม่ควรนั่งอยู่ใกล้ด้วยใจเมตตา อย่าหนีหายไปไหน สร้างพื้นที่ปลอดภัยทางความรู้สึก รับฟังลูกและแสดงความเข้าใจผ่านสีหน้า แววตา ท่าที และน้ำเสียง ควรใช้เทคนิคสะท้อนความรู้สึกร่วมด้วย (คลิกเพื่ออ่าน ตอนที่ 3 พูดสะท้อนความรู้สึก แสดงออกว่าพ่อแม่เข้าใจ)

 

เมื่อไรก็ตามที่ลูกรู้สึกถูกเชื่อมโยง ไม่โดดเดี่ยว พ่อแม่เข้าใจและไม่ทอดทิ้ง ลูกจะไม่จมอยู่ที่ความรู้สึกว่า ฉันแย่ ฉันไม่เก่งนาน, ความกังวล ความโกรธ ความกลัวจะเริ่มเบาลง ลูกก็จะมีสติมากพอที่จะฟังพ่อแม่สอน นำข้อผิดพลาดมาคิดทบทวนได้

ข้อพึงระวังในช่วงสั่งสอนและชี้แนะลูก เราอย่าทำให้เรื่องของลูกดูเล็กลง เช่น กรณีลูกโกรธเพราะครูให้ทำงานเพิ่ม (สืบเนื่องจากตนเองบอกว่าจะจัดการเอง แล้วทำไม่ได้ ครูลงโทษด้วยการเพิ่มงานให้) พ่อแม่อาจปลอบด้วยคำว่า ...“ไม่เป็นไร ไม่เห็นต้องโกรธเลย เรื่องนิดเดียว แค่งานเพิ่ม”... ถึงแม้จะไม่มีการตำหนิ แต่ลูกก็รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ เพราะพ่อแม่มองว่าเรื่องเล็ก แต่สำหรับเขาคือเรื่องใหญ่ เมื่อพ่อแม่บอกว่าไม่เห็นต้องโกรธเลย ลูกรับรู้ว่าความรู้สึกของเขาไม่สำคัญ ก็จะโกรธมากขึ้น อาจเถียงกลับ พาลมาโกรธพ่อแม่แทน

 

 

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว จะเห็นว่าการจัดการความรู้สึกของลูก เป็นประตูด่านแรกที่ลูกจะต้องก้าวผ่านไปให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยพ่อแม่ทำหน้าที่รับฟังอย่างไม่ตัดสิน สร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยต่อการระบายความรู้สึก อย่าเพิ่งรีบสอน อย่าตอบสนองเหมือนไม่มีอะไร ซึงเป็นงานที่ยากเช่นกัน จนเมื่อลูกผ่านประตูด่านแรกแล้ว ประตูด่านที่สองก็จะตามมา นั่นคือ นำข้อผิดพลาดมาขบคิด โดยมีพ่อแม่สั่งสอนหรือชี้แนะได้

 

ดังนั้นหากลูกไม่ฟังตอนเราสั่งสอน อย่าเพิ่งสรุปไปว่าลูกดื้อ หรือเราสอนไม่ดี ลองวิเคราะห์ดูก่อนว่า เราผ่านประตูด่านแรกหรือยัง การชี้แนะในช่วงเวลาที่ลูกยังจัดการกับความรู้สึกตนเองไม่ได้ ต่อให้คำสอนนั้นมีประโยชน์แค่ไหน ลูกก็ไม่สามารถรับเอาไว้

 

 


อ่านต่อตอนที่ 6 สั่งสอนลูกโดยไม่เสียสัมพันธภาพ (ฝึกวิธีพูดให้กำลังใจ)