
"พ่อแม่ที่เพอร์เฟ็กต์" อาจทำร้ายลูกไม่รู้ตัว
เราทุกคนอยากเลี้ยงลูกให้ดีที่สุดภายใต้บริบทของบุคคล ครอบครัว
คำตอบ : “เด็กเล็กโดยเฉพาะในช่วงวัย 0-3 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ยังพูดสื่อสารได้ไม่ดี ยังยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentric) และอยู่ในช่วงที่ทดลองและทดสอบร่างกายของเขาว่า “สามารถทำอะไรได้บ้าง"
ดังนั้นจึงไม่แปลกหากเขาจะใช้ร่างกายในการตอบสนองต่อความต้องการของเขา ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องความสนใจ ให้คนสนใจเขา ให้คนเล่นกับเขา หรือแม้แต่เวลาไม่พอใจก็ใช้การตี ปา กัด และการทำร้ายร่างกายอื่น ๆ
"การสอนเด็กเล็ก" ไม่ควรสอนโดยการพูดบอกอย่างเดียว แต่ตัวเราต้องเข้าไปจับ และทำให้เขาดูชัดเจนเลยว่า อันนี้ทำไม่ได้ ไม่ใช่แค่นิ่งแล้วปล่อยเขาทำ โดยไม่พูดอะไร หรือพูดบอกแค่ห้ามทำ แต่เราก็ไม่เข้าไปทำอะไรเลยเช่นกัน เด็กเรียนรู้จากการกระทำมากกว่าคำพูดบอก
...“สอนเด็กเล็ก ต้องเข้าถึงตัว แล้วทำให้ดู ไม่ใช่ยืนพูดบอกเขาเฉย ๆ”...
▶︎ ขั้นที่ 0 “ก่อนจะสอนอะไรเด็ก ต้องสร้างสายสัมพันธ์กับเขาก่อนเสมอ” ถ้าเราอยากให้เด็กทำในสิ่งที่เราสอน เราต้องมีความสำคัญกับเขา และเขาก็รู้ด้วยว่า ตัวเขาสำคัญกับเรา เด็กจะอยากทำเพื่อคนที่เขารัก การสอนจะเป็นเรื่องง่ายขึ้นอีกมาก
การสร้างสายสัมพันธ์ ไม่ใช่การตอบใจ แต่ใช่การมีเวลาคุณภาพ อ่านนิทาน เล่นด้วยกัน ทำงานบ้าน สัมผัสหอม กอด และการพูดคำไหนคำนั้น อธิบายสั้น ๆ คือ “สิ่งไหนได้คือได้ สิ่งไหนไม่ได้คือไม่ได้ ไม่ตามใจในสิ่งที่ไม่เหมาะสม กล้าขัดใจเด็กในสิ่งที่ถูก และจริงใจกับความสัมพันธ์ที่เราสร้างกับเขา”
ดังนั้นผู้เลี้ยงดูหลักหรือพ่อแม่คือบุคคลแรกที่สามารถสร้างสายสัมพันธ์แบบนี้ได้ แต่ถ้าเราเป็นผู้เลี้ยงดูรอง (ไม่ได้เลี้ยงตลอดเวลา) อาจจะไม่สามารถสร้างสายสัมพันธ์แบบนี้ได้เต็มร้อย
▶︎ ขั้นที่ 1 “ตั้งกติกาให้ชัดเจนในบ้าน ซึ่งขออนุญาตแนะนำให้เริ่มจาก 'กฎ 3 ข้อ' ห้ามทำร้ายผู้อื่น ห้ามทำร้ายตนเอง ห้ามทำลายข้าวของ” เด็กอาจจะไม่เข้าใจวันนี้ แต่เราต้องตั้งกติกาให้ชัดเจนเพื่อให้คนที่บ้านเข้าใจตรงกันว่า เราจะใช้หลักยึดอะไรในการ “ห้าม” หรือ “ไม่ห้าม” ให้เด็กทำอะไร คนที่บ้านควรไปในทิศทางเดียวกันก่อนเสมอ เพื่อป้องกันเด็กสับสน
▶︎ ขั้นที่ 2 “เมื่อมีกติกาที่ชัดเจนแล้ว หากเด็กทำผิดกติกาดังกล่าว ให้สอนเขาทันที”
ยกตัวอย่างในกรณีที่เด็กทำร้ายผู้อื่นโดยเจตนา เด็กเข้าไปตีคนอื่นเพราะโมโหหรือถูกชัดใจ ให้เราเข้าไปจับมือเขาทันทีพร้อมมองตาเขาและบอกเขาชัดเจนว่า “ไม่ตีค่ะ/ครับ” แต่ถ้าเด็กยังทำต่อหรืออาละวาดหนักขึ้น ให้เราพาเด็กออกมาจากบริเวณดังกล่าวทันที แล้วมานั่งบริเวณที่สงบข้าง ๆ กัน พร้อมบอกเขาว่า “ไม่ตีค่ะ/ครับ”
เมื่อเขาพร้อมฟัง ให้เราบอกเขาว่า “ถ้าพร้อมแล้ว ให้นับ 1-10 ตามนะ” โดยให้เราเป็นฝ่ายนับนำเขา เช่น เรานับ “1” เด็กนับตาม “1” แล้วค่อยนับต่อไปจนถึง 10 แต่ถ้าเด็กพยายามนับนำเรา เราบอกเขาว่า ให้เราเริ่มนับให้ โดยชี้นิ้วช่วย เช่น ชี้ที่เรานับ “1” แล้วชี้ที่เขานับ “1” สับกันไปจนถึง 10
สาเหตุที่ให้เด็กนับเลข ก็เพื่อตรวจสอบความพร้อมฟังเราจริง ๆ และให้เขาได้สงบลง นับจบถึง 10 ด้วยกัน ให้เราสอนเขาว่า “ลูกโมโหได้ ลูกร้องไห้ได้ แต่ลูกจะตีคนอื่นไม่ได้ ถ้าลูกโมโห แล้วลูกอยากตี ให้ลูกมาหาแม่นะ แล้วแม่จะช่วยหาที่ที่ลูกสามารถปล่อยพลังได้”
ยกตัวอย่างในกรณีที่เด็กทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ได้เจตนา เด็กเล็กมักจะมีปัญหากับการสื่อสาร เมื่อพูดไม่ทันความคิด หรือ สื่อสารไม่ตรงกับใจ เขาเลือกที่ใช้ร่างกายตอบสนอง เพราะทันใจเขากว่า เด็กเล็กจึงเป็นนักขว้า หยิก จับ กำ และตี ที่เร็วมาก ดังนั้นเมื่อผู้ใหญ่ควรสอนเขาสื่อสารนั่นเอง (ให้อ่านในขั้นที่ 3 เพิ่มทักษะสื่อสารให้เด็ก)
นอกจากนี้เด็กเล็กมีการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กที่ยังไม่สมบูรณ์ ทำให้เขาควบคุมได้ยากลำบากกว่าผู้ใหญ่มากนัก เขาอาจจะอยากแค่เขามาจับ แต่กลายเป็นจับแรงจนของพัง หรือเขาอยากเรียกเราโดยการสะกิด ก็กลายเป็นการตีเสียอย่างนั้น
ดังนั้นผู้ใหญ่สอนเขาได้โดยการจับมือเขา แล้วพาสัมผัสสิ่งต่าง ๆ อย่างแผ่วเบา เช่น เด็กอยากเรียกพี่ แล้วไปตีพี่แทน ให้เราจับมือเด็ก แล้วสอนเขาพูดว่า “พี่ ๆ” แล้วให้เอามือไปสัมผัสหลังพี่เบา ๆ หรือลองให้เขาสัมผัสจากการลองสัมผัสมือเราเบา ๆ ก่อนก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถสอนทักษะนี้ได้ผ่านการเก็บของเล่น ให้เขาลองเก็บเบา ๆ ถ้าทำไม่ได้ ให้เราจับมือเขาเก็บ เด็กจะจดจำน้ำหนักมือ และลักษณะการสัมผัสได้ดีขึ้น
...“สำคัญมากที่ผู้ใหญ่ต้องหาทางออกให้เด็กด้วย ไม่ใช่แค่ห้ามเขาเพียงอย่างเดียว”...
เมื่อทุกอย่างจบลง อย่าลืมพาเขาไปขอโทษคนที่เขาทำร้าย หรือคนที่เขาไปทำของ ๆ เขาพังด้วย สอนให้เขารับผิดชอบในสิ่งที่เขาทำจะเก็บกวาด เข้าไปขอโทษ แล้วกอด ก็สามารถทำได้เช่นกันค่ะ ถ้าเด็กยังไม่ยอมพูดขอโทษ ไม่เป็นปัญหา เราพูดไปกับเขา จับมือเขาทำได้ ไม่ต้องคาดหวังว่า เขาต้องทำมันได้วันนี้ ทำไปเรื่อย ๆ เด็กจะเรียนรู้เมื่อถึงเวลาที่พร้อมค่ะ เคล็ดลับให้ทำจนเป็นนิสัยค่ะ
▶︎ ขั้นที่ 3 “เพิ่มทักษะการสื่อสารให้เด็ก” เด็กบางคนใช้การตี การทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ได้มีเจตนาเพื่อทำร้ายใคร แต่เขาใช้การทำร้ายเพื่อเรียกร้องความสนใจให้ผู้อื่นสนใจหรือมาเล่นกับเขา ดังนั้นเมื่อเรารู้ว่า เด็กตีเรา เพราะเขาอยากให้เราสนใจ ให้ตอบสนองด้วยการจับมือเขาทันทีเมื่อเขาจะตี แล้วพูดกับเขาว่า “ไม่ตีค่ะ/ครับ ถ้าอยากให้เเม่เล่นด้วย ให้พูดว่า แม่มาเล่นกัน” หรือถ้าเขาปาอาหารลงพื้นเพราะอิ่มแล้วหรือไม่อยากกิน ให้เราจับมือเขาทันที แล้วพูดกับเขาว่า “ไม่ปาค่ะ/ครับ ถ้าไม่กินแล้วให้พูดว่า พอแล้ว”
อย่าให้ท้าย เช่น เมื่อผู้ใหญ่คนหนึ่งสอนเด็กไม่ให้ตีคนอื่น แต่ผู้ใหญ่อีกคนบอกเขาว่า “ปล่อยมันไปเถอะ มันยังเด็ก” การเป็นเด็กไม่ใช่ข้ออ้างของการทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการไปทำร้ายคนอื่น ดังนั้นอย่าให้ท้ายเขา ไม่ยิ้ม หรือหัวเราะให้กับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็ก ให้ทำหน้านิ่งและน้ำเสียงจริงจัง (กดเสียงต่ำลงหน่อย) เวลาสอนเขา (แต่ก็ไม่ใช่ตะคอก ขึ้นเสียง หรือ ทำหน้ายักษ์ใส่เขา)
ส่วนผู้ใหญ่ท่านอื่นถ้าเขาไม่สามารถสอนเด็กได้ ให้เราไม่ให้ท้ายเด็ก แต่ถ้าเราป้องกันไม่ได้ว่า ที่บ้านมีผู้ใหญ่ที่ยังให้ท้ายเขา ให้เราพาเด็กมาสอนเดี่ยว ๆ กับเราในห้องที่ไม่มีผู้ใหญ่ท่านอื่น การที่เด็กไม่สามารถสื่อสารได้ ทำให้เขาทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นหน้าที่ของผู้ใหญ่ คือ การสอนเขาสื่อสารอย่างเหมาะสม เมื่อเด็กสื่อสารบอกความต้องการหรือปฏิเสธได้ เขาจะเลือกสื่อสารแทนการทำพฤติกรรมดังกล่าว
▶︎ ขั้นที่ 4 “สอนสม่ำเสมอ และทุกครั้งที่มีโอกาส” เมื่อเด็กทำผิดกติกา อย่าปล่อยผ่าน แม้จะเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะการปล่อยผ่านครั้งเดียว ทำให้พฤติกรรมดังกล่าวยังคงอยู่ต่อไป สำหรับเด็ก ถ้าเราไม่ให้ทำอะไร แล้วเขาเผลอทำได้ครั้งหนึ่งจาก 100 ครั้ง นั่นก็มากพอที่จะทำให้เขาอยากลองทำต่อ (พฤติกรรมแบบนี้ก็พบในผู้ใหญ่เราเช่นกัน ยกตัวอย่างเวลาเราเสี่ยงดวง ซื้อหวย ขอแค่ถูกสักครั้งจากร้อยครั้งเราก็อยากซื้อต่อ)
เด็กบางคนอาจจะใช้เวลาเรียนรู้นานกว่าเด็กคนอื่น ดังนั้นเราสอนเขาครั้งแรก เด็กอาจจะยังไม่เรียนรู้ เขาอาจจะเรียนรู้ครั้งที่ 100 ก็เป็นได้ ดังนั้นอย่าปล่อยโอกาสให้ผ่านเลย หากมีโอกาสสอน ให้สอนทุกครั้ง
▶︎ ขั้นที่ 5 “เด็กก็คือเด็ก เขาต้องการพื้นที่ปล่อยพลัง” อย่าคาดหวังให้เด็กต้องเรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้ เพราะธรรมชาติของเด็กคือการเล่นซน เราควรมีพื้นที่ให้เขาได้เป็นเด็ก เล่นซนเหมือนเด็กด้วย ถ้าเราเอาแต่ห้ามเขา พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจะเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เพราะเด็กเป็นเด็กซน แต่เพราะเราคาดหวังให้เขาไม่ให้เป็นเด็กต่างหาก
สุดท้าย "การสอนเด็กที่ดีที่สุด" คือ การเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเขา ไม่ใช่ความรุนแรงในการแก้ปัญหา แต่ให้ใช้ความสงบและความรักในการสอนเขาแทน