ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
เมื่อเราเห็นลูกนั่งห่อเหี่ยวอยู่บนโซฟาหลังสอบตก หรือพลาดการเข้ารอบระดับสำคัญ อย่าเพิ่งดุหรือสั่งให้ไปทบทวนหนังสือหรือฝึกซ้อม ในช่วงที่ลูกหมดแรงนั้น เขาต้องการ “กำลังใจ” กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ใช่เฉพาะผู้ใหญ่ที่กำลังแย่เท่านั้น เด็ก ๆ ก็ต้องการเหมือนกัน
ในช่วงเวลานี้เด็กหลายคนที่มีศักยภาพดี ๆ จะขาดความเชื่อมั่นในตนเอง บางคนก็โกรธตัวเองและท้อใจอยู่นานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน กำลังใจจากพ่อแม่จะช่วยดึงลูกให้ลุกขึ้นมาเชื่อมั่นในตนเองได้อีกครั้ง
คำพูดให้กำลังใจที่มีประสิทธิภาพ ควรมีเนื้อหาของความจริงบรรยายอยู่ด้วย เช่น ประสบการณ์ที่ลูกผ่านอุปสรรคมาก่อน ความสามารถที่ลูกมีจนทำให้สิ่งต่าง ๆ ลุล่วง หรือความมุ่งมั่นอดทนที่เป็นคุณสมบัติที่ดีของลูก ดึงให้ลูกเห็นภาพดี ๆ ของตนเองในช่วงเวลาที่ลูกเห็นแต่มุมแย่ ๆ หมอไม่แนะนำให้ชื่นชมลูกหรือแสดงความมั่นใจแบบลอย ๆ เช่น ..."ลูกทำได้อยู่แล้ว"... หรือ ..."เดี๋ยวก็ดีขึ้นนะ"... เพราะลูกจะรู้สึกได้ว่าพ่อแม่อยากปลอบใจมากกว่า ตนเองมีความสามารถจริง ๆ
นอกจากนี้ ควรบอกให้ลูกรู้ว่า ความรู้สึกแย่หรือดำดิ่งนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เป็นสิ่งปกติตามธรรมชาติ ลูกไม่ได้แปลกจากคนอื่น ลูกจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ทำให้ฟื้นกลับมาได้เร็วขึ้น
ตัวอย่างประโยคของการพูดให้กำลังใจ
...“เป็นธรรมดามากเลยที่เราจะรู้สึกหมดแรง หมดพลัง ใครที่ฝึกซ้อมมาก ๆ แล้วยังผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็คงรู้สึกแบนี้เหมือนกัน ความจริงนะ เราก็รู้อยู่ว่า ไม่ใช่เราไม่พัฒนาขึ้น เป็นช่วงแย่ ๆ ช่วงหนึ่ง ที่ในที่สุดก็จะผ่านไป”...
...“ลูกเคยสอบเกือบตก จำได้มั้ย ตอนนั้นลูกก็เสียใจและกลัวไม่ต่างจากตอนนี้เลย แต่ลูกก็ผ่านมันมาได้ ลูกเข้มแข็งรู้มั้ยจ้ะ ลูกแม่ทำได้ มันเป็นบททดสอบอีกครั้งน่ะ"...
...“พ่อมั่นใจว่าเราจะผ่านช่วงเวลาแย่ ๆ แบบนี้ไปได้ เราจะอยู่ด้วยกัน พ่ออยู่ตรงนี้เสมอนะลูก”...
...“เหนื่อยกายก็พักกาย หากเหนื่อยใจก็พักใจ วันพรุ่งนี้มีใหม่เสมอนะลูก”...
เวลาที่พูดกับลูก พ่อแม่ควรมีความรู้สึกร่วมกับลูกด้วย ไม่ควรแสดงท่าทีชิล ๆ ทำเป็นเรื่องเล็กน้อยบอกว่า ...“อย่าไปคิดมาก”... การไม่มีอารมณ์ร่วมกับสิ่งที่ลูกกำลังรู้สึก ใจลูกจะไม่เชื่อมโยงกับพ่อแม่ ลูกจะไม่ได้กำลังใจกลับมา และอาจรู้สึกเสียใจหรือโกรธเพิ่มขึ้นที่พ่อแม่ไม่เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ
นอกจากนี้ ก็ต้องระวังการการเปรียบเทียบกับคนที่เก่งกว่า บ่อยครั้งที่เด็กรู้สึกมีพลัง หรืออยากทำเหมือนต้นแบบเก่ง ๆ ได้ แต่พ่อแม่ต้องพูดในเชิงบวก ไม่พูดเชิงลบแบบชูคนนั้นขึ้นและกดลูกตนเองลง เช่น...“นักกีฬาทีมชาติเขาเก่งได้แบบนี้ เขาไม่นอนขี้เกียจแบบลูกหรอก”...ควรพูดในเชิงบวกแทน ...“นักกีฬาทีมชาติก็เคยพลาดแล้วเสียใจหมดแรงแบบลูกแหละ เขาก็ลุกขึ้นมาได้ แม่มั่นใจว่าลูกแม่ก็ลุกขึ้นมาได้เหมือนกัน”...
อย่างไรก็ตาม การพูดให้กำลังใจต้องมาพร้อมกับความจริงใจ โดยเฉพาะคำว่า ...“พ่อแม่มั่นใจ”... เพราะหากลูกไม่มั่นใจในตนเองเลย แต่พ่อแม่พูดว่ามั่นใจในตัวลูก โดยเฉพาะถ้าพูดลอยๆโดยไม่มีการบรรยายสิ่งที่เป็นความสามารถของลูกมาก่อน ลูกจะตีความว่าพ่อแม่คาดหวังให้ตนเองทำได้ ซึ่งกลายเป็นความกดดันมากกว่ากำลังใจ ดังนั้นหากจะพูดว่ามั่นใจลูก โดยไม่บรรยายประสบการณ์ที่ผ่านมา พ่อแม่ต้องแน่ใจในศักยภาพลูกระดับหนึ่ง หรือไม่ก็ต้องมีวิธีที่จะช่วยลูกไปต่อได้จริง ๆ ลูกถึงจะไม่รู้สึกว่าพ่อแม่กดดัน
อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยสร้างกำลังใจและแรงบันดาลได้ดีก็คือ การเล่าประวัติของคนที่ประสบความสำเร็จหลาย ๆ คนให้ลูกฟัง ซึ่งสามารถหาอ่านได้ใน Social media ทั่วไป พ่อแม่ยุคใหม่หาข้อมูลเหล่านี้ง่ายมาก ขอให้ออกแรงอีกนิด สนับสนุนให้ลูกลุกขึ้นสู้ ดีกว่าตำหนิหรือบ่นลูกไปเรื่อย ๆ โดยทั้งเราและลูกก็มีแต่ความรู้สึกแย่ใส่กันทุกวัน