ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
คุณเป็นพ่อแม่ที่เคยคุยเรื่องเงินในบ้านกับลูกหรือไม่ ? หลายเหตุผลของพ่อแม่ที่มักคิดว่าไม่ต้องคุยกับลูกเรื่องเงินในบ้าน
...เพราะลูกยังเล็ก...
...เพราะไม่คิดว่าจำเป็น...
...เพราะเป็นเรื่องของผู้ใหญ่...
...เพราะไม่อยากให้ลูกรู้...
โดยเฉพาะในครอบครัวที่ต้องมีการวางแผนชีวิต วางแผนครอบครัว วางแผนเรื่องการเงิน ยิ่งครอบครัวที่มีลูก ค่าใช้จ่ายจะงอกเพิ่มพูนขึ้นทันทีตามอายุลูกที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้นถ้าไม่มีการเตรียมรับมือหรือวางแผนที่ดี ก็อาจมีปัญหาตามมาแน่นอน
แต่การเตรียมตัววางแผนเรื่องเงินที่ดี ก็ควรต้องคำนึงให้ลูกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวด้วย ให้เขาได้เรียนรู้เรื่อง “เงิน” ผ่านการใช้ชีวิตของเขาพร้อมครอบครัวตั้งแต่เล็ก ตามวัยของเขาอย่างเหมาะสม
ผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่มักบ่นเด็กยุคปัจจุบันว่าใช้เงินเก่ง ใช้เงินเกินตัว ใช้เงินแบบไม่คิด ไม่ยับยั้งชั่งใจ ไม่เห็นคุณค่า ฯลฯ ยิ่งยุคดิจิทัลการใช้เงินยิ่งสะดวกและง่ายดายกว่าในอดีตมาก ทำให้มีโอกาสที่เด็กจะใช้จ่ายเงินแบบไม่ยั้งคิด
นั่นหมายความว่าพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ในบ้านมีส่วนอย่างมากว่าจะทำให้ลูกหลานมีลักษณะนิสัยหรือวิธีคิดในการใช้เงินอย่างไร และจะทำอย่างไรให้เด็กตระหนักว่าเรื่อง “เงิน” เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต้องให้ลูกได้เรียนรู้อย่างเหมาะสม
✚ 1. คุยเรื่องสถานะทางการเงินของครอบครัว ✚
พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกเรื่องสถานะทางการเงินของครอบครัวให้เป็นเรื่องปกติ รวมถึงเป้าหมายเรื่องการเงินของครอบครัว แม้แต่มีภาระหนี้สินก็ควรบอกเช่นกัน เพื่อให้ลูกได้รับรู้ถึงฐานะการเงินที่แท้จริง จะได้ระมัดระวังไม่ใช้จ่ายเงินเกินตัว ข้อนี้สำคัญมาก เพราะบางครอบครัวไม่อยากให้ลูกรู้ถึงฐานะการเงินที่แท้จริง ลูกก็ไม่รู้ ฉะนั้น เขาอยากได้อะไรก็มักร้องขอ เพราะเข้าใจเอาเองว่าพ่อแม่มีเงินที่จะซื้อได้ ตรงกันข้ามถ้าพ่อแม่พูดความจริงกับลูกว่าตอนนี้พ่อแม่ติดขัดอย่างไร ขอให้ลูกช่วยกันประหยัดด้วย ถ้าลูกรับรู้เรื่องราวภายในบ้านมาโดยตลอด เขาจะเข้าใจและจะทำให้ลูกเห็นคุณค่าของตัวเองที่จะช่วยพ่อแม่ประหยัดด้วย
✚ 2. สอนลูกจากการใช้ชีวิต ✚
จะทำให้เขามองเห็นคุณค่าของชีวิต เพราะหากเขาได้เงินมาง่าย เขาก็ย่อมใช้จ่ายไปได้ง่าย ๆ เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง โดยไม่เห็นคุณค่าของเงินที่พ่อแม่หามาอย่างยากลำบาก และมักจะเข้าใจเอาเองว่าพ่อแม่มีเงินอยู่แล้ว เมื่อเขาอยากได้อะไรก็ขอพ่อแม่ ตรงกันข้ามถ้าพ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดีของการใช้เงิน ให้เขาได้เรียนรู้และซึมซับจากชีวิตประจำวันที่เห็นพ่อแม่ปฏิบัติตัว เป็นการเรียนรู้ทางตรงที่ได้ผลมากที่สุด และพฤติกรรมการใช้เงินเหล่านั้นจะติดตัวเขาไปจนโต
✚ 3. ฝึกให้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ✚
การฝึกให้ลูกรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของตัวเอง โดยช่วงแรกอาจต้องให้คำแนะนำ และสอนให้เขารู้จักการทำบัญชีรายรับรายจ่าย จากนั้นพ่อแม่อาจเปิดบัญชีออมทรัพย์ให้เขา พร้อมกันนั้นก็ถือโอกาสอธิบายให้ฟังว่า ถ้าเขานำเงินมาฝากเป็นประจำ จำนวนเงินในบัญชีก็จะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ
✚ 4. รู้จักสร้างรายได้ ✚
เมื่อเด็ก ๆ มีความรับผิดชอบหน้าที่ต่าง ๆ ของตัวเองได้ดีแล้ว พ่อแม่ก็อาจจะให้เขาเรียนรู้ที่จะหารายได้ด้วยตัวเอง เริ่มจากงานง่าย ๆ ในบ้าน โดยเป้าหมายสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงิน แต่เป็นการสอนให้เขารู้ถึงคุณค่าของเงินที่กว่าจะหามาได้
ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องแสดงให้เห็นถึงความสำคัญเรื่อง “เงิน” การใช้จ่ายเงินที่หามาได้อย่างรู้คุณค่าจนเป็นนิสัย เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่า ถ้าต้องการสิ่งของสิ่งใดต้องใช้เงินแลก และคนเราก็ต้องหาเงิน ไม่ใช่อยู่ ๆ จะมีเงินขึ้นมาได้ จากนั้นก็สอดแทรกให้ลูกเรียนรู้ว่าจำเป็นต้องเลือกความสำคัญ และความจำเป็นในการจะซื้อของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
..."อย่าลืมว่า ถ้าเด็ก ๆ สามารถขอเงินพ่อแม่ได้ตลอด เด็กคนนั้นมักมีแนวโน้มที่จะขาดความรับผิดชอบทางด้านการเงิน เพราะเขาจะคิดว่าเวลามีปัญหาก็ขอพ่อแม่ได้ทุกที จนติดเป็นนิสัย"...
แต่เหนือสิ่งอื่นใด พ่อแม่ควรสอนลูกให้เรียนรู้ว่าแม้เงินมีความสำคัญในการดำเนินชีวิต มีไว้เพื่อซื้อหาสิ่งของที่ต้องการ แต่เงินก็ไม่สามารถซื้อได้ทุกสิ่งที่ต้องการ ยังมีคุณค่าของความดีงามด้านอื่น ๆ ในชีวิตที่เงินทองซื้อหาไม่ได้ เช่น ความมีน้ำใจ การแบ่งปัน มิตรภาพ ฯลฯ ซึ่งเป็นคุณค่าที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างมีความหมาย