การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
...การได้รู้ว่าตัวเองเป็น 'ที่รัก' ...
...การได้รู้สึกว่าตัวเอง 'ทำได้' ...
...การได้รู้สึกว่าตัวเอง 'มีตัวตน' ...
...การได้รู้ว่าตัวเองมี 'ความสำคัญ' ...
สิ่งเหล่านี้คือ การบอก “รัก” โดยไม่ต้องเอ่ยคำว่ารัก ความรู้สึกเหล่านี้จะกลายเป็นแรงผลักเชิงบวกให้เด็กคนหนึ่งเติบโตไปเป็นคนที่มีตัวตน มีความมั่นใจในตัวเอง นับถือตนเอง และพร้อมที่จะเห็นอกเห็นใจคนอื่น
ตรงกันข้าม หากเด็กคนหนึ่งเติบโตมาพร้อมกับความเคลือบแคลงสงสัยใน 'คุณค่าของตัวเอง' ไม่มีคนตอบสนองความต้องการพื้นฐานของร่างกายและจิตใจอย่างเพียงพอ เพิกเฉย หรือกระทั่งใช้ความรุนแรงกับเขา เด็กคนนั้นจะเติบโตมาด้วย ‘ความรู้สึกไม่ปลอดภัย’ ทางร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ สิ่งเหล่านี้อาจเพาะบ่มให้เด็กเติบโตขึ้นมาแบบไม่สามารถไว้เนื้อเชื่อใจคนอื่น เป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจในตนเอง โหยหาความรักจากผู้อื่น และไม่นับถือตนเอง
สิ่งสำคัญเหล่านี้เกิดขึ้นในหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมที่เรียกว่า “ครอบครัว” โดยผู้เลี้ยงดูหลัก อาจจะเป็นพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรืออาจเป็นเพียงใครสักคนที่อยู่ตรงนั้นเพื่อเขาในยามที่เขาต้องการ ให้เขารู้สึกว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเขานั้นจะยังเป็น 'ที่รัก' และ 'คนสำคัญ' ในสายตาของใครสักคนเสมอ
การสื่อสารให้ลูก ‘รู้’ ว่า ‘รัก’ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่หลายคนรักลูกมาก แต่ไม่แสดงออกให้ลูกได้รู้ เพียงแต่คิดว่าลูกคงเข้าใจและเห็นในความรักที่พ่อแม่มีให้เขา แต่ในความเป็นจริง ลูกอาจไม่เคยรู้สึกได้ถึงความรักนั้น บางคนกลัวลูกเหลิงกับความรักที่พ่อแม่ให้เสียอีก ทั้งที่ความเป็นจริงนั้นตรงกันข้าม การบอกรักไม่เท่ากับการสปอยล์หรือตามใจแต่อย่างไร
❤︎ การชื่นชม ❤︎
เมื่อทำดีควรถูกมองเห็นและชื่นชม เพราะคนเราทุกคนย่อมต้องการได้ยินคำพูดเชิงบวกและชื่นชม นี่เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการให้ลูกได้เห็นว่าสิ่งดี ๆ ที่เขาทำนั้น ‘มีค่า’ และ ‘ถูกมองเห็น’ โดยพ่อแม่เสมอ ลูกจะรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองและยิ่งอยากที่จะทำสิ่งดี ๆ ให้มากขึ้นไปกว่าเดิม
...‘จับถูก’ ดีกว่า ‘จับผิด’...
ด้วยวัฒนธรรมของบ้านเราที่กลัวเด็กเหลิงและหลงระเริงไปกับการชื่นชม ทำให้คนไทยมีแนวโน้มจะจับผิดและดุด่าว่ากล่าวเด็กมากกว่าชื่นชม ทำดีไม่เคยมีใครเห็น แต่พอทำไม่ดีเมื่อไร พ่อแม่จะเข้ามาดุด่าและลงโทษเสมอ เหล่านี้ทำให้เราใช้เวลาทะเลาะกันมากกว่ามีเวลาที่ดีให้กัน แถมยังปลูกฝังความรู้สึกว่า ‘ฉันเป็นเด็กไม่ที่ทำตัวไม่ดี ไม่มีค่าควรชม’ สำหรับพ่อแม่ บั่นทอนความภาคภูมิในในตนเองและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันอีกด้วย
❤︎ การพูดและการฟัง ❤︎
การบอกคำว่า “รัก” เป็นการสื่อสารที่บอกลูกให้รู้ว่าพ่อแม่รักเขาอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ไม่ต้องคาดเดา และพูดคุยด้วยถ้อยคำดี ๆ ต่อกัน สร้างบทสนทนาที่ดีระหว่างกัน ให้ความสำคัญกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของกันตั้งแต่เล็ก ๆ ฟังให้มาก ตัดสินให้น้อย เคารพเหตุและผลของลูก ในขณะเดียวกันก็แบ่งปันมุมมองของผู้ใหญ่อย่างเรา
...มีอะไรพูดกัน ไม่สำคัญเท่ากับเราฟังกันหรือเปล่า...
พราะเราจะให้ความสำคัญกับคนที่สำคัญสำหรับเราเสมอ ยิ่งเราฟังลูกมากขึ้น ลูกก็จะรับรู้ได้ว่า ‘เขาคือคนสำคัญ’ ของพ่อแม่โดยที่ไม่ต้องเอ่ยคำว่า “ลูกคือสิ่งที่สำคัญของพ่อแม่” เลยด้วยซ้ำ
❤︎ เวลาคุณภาพต่อกัน ❤︎
เพราะคำว่า “รัก” ต้องดูทั้ง ‘ปาก’ และ ‘การกระทำ’ จะมีประโยชน์อะไร หากบอกรักกันแต่ไม่เคยมีเวลาที่จะอยู่ด้วยกันเลย เวลาคุณภาพอาจเป็นเวลาที่เราได้ทำกิจกรรมดี ๆ ร่วมกัน เวลาที่ได้พูดคุยเรื่องที่ผ่านมาในแต่ลวันของกันและกัน หรือเป็นเพียงเวลาที่เราได้นั่งนิ่ง ๆ อยู่ข้างกันโดยไม่ต้องเอ่ยคำพูดใด ๆ ก็ได้
...เวลาที่อยู่ด้วยกัน โดยไม่มีอะไรมารบกวน...
เวลาที่เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เล่นด้วยกัน พูดคุยกัน หากไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร บางทีเพียงแค่เราวางโทรศัพท์ลง นั่งกินข้าวด้วยกัน แค่นี้ก็เป็นเวลาคุณภาพดี ๆ ระหว่างกันได้แล้วครับ
❤︎ การสัมผัสของร่างกาย ❤︎
ไม่มีใครอีกแล้วในโลกใบนี้ที่จะกอดรัดฟัดเหวี่ยงเราได้เท่ากับพ่อแม่ การได้สัมผัส ได้กลิ่นกายที่คุ้นเคยของกันและกัน การอุ้ม การกอด การหอมแก้มสักฟอด การสบตา หัวเราะ จั๊กจี๋กัน หรือกระทั่งการที่พ่อแม่มาแตะไหล่ของลูกในวันที่ลูกเหนื่อยล้า ท้อใจ หรือเสียใจ หากเราใช้การสัมผัสเหล่านี้ให้ถูกที่ถูกเวลา มันจะมอบความรัก ความอ่อนโยน ความห่วงใย และความรู้สึกปลอดภัยให้กับลูกได้อย่างเต็มเปี่ยมให้กับทุกวันของลูก และที่สำคัญร่างกายของพ่อแม่ยังเป็นเครื่องกระตุ้นพัฒนาการที่ดีที่สุดสำหรับเด็กเล็กอีกด้วยนะครับ
..."บอกรักลูกกันทุกวันด้วยคำพูด สายตา ท่าทาง รอยยิ้ม และอ้อมกอด รวมถึงการใช้เวลาดี ๆ ร่วมกันนะครับ"...