การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เราได้ยินข่าวนักร้อง ดารา หลายคนฆ่าตัวตาย ทำให้เราเริ่มรู้ว่า โรคซึมเศร้าอันตรายและใกล้ตัวกว่าที่คิด คลินิกวัยรุ่นของหมอ เราพบวัยรุ่นซึมเศร้าเยอะขึ้นมาก จากรายงานพบว่ามีสูงถึง 10-20% หลายคนได้รับความช่วยเหลือด้วยความเข้าใจ แต่หลายคนก็ยังถูกขังไว้ด้วยความเชื่อ
...“คิดไปเอง”...
...“เพราะอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง”...
...“ชีวิตก็ไม่เห็นมีอะไรจะเศร้าไปทำไมนัก”...
...“คงแค่เรียกร้องความสนใจ”...
...“ไปบวชเดี๋ยวก็ดีขึ้น”...
...“จะไปพบจิตแพทย์ทำไม ไม่ได้เป็นบ้านะ”...
...“กินยาทำไม เดี๋ยวสมองก็ไปหมด”...
ทุกวันนี้วัยรุ่นซึมเศร้ามากขึ้น อาจเพราะเราอยู่ในสังคมที่สุขยากขึ้น ทั้งปัญหาจากบ้านที่ไม่มีความสุข ทุกข์จากการแบบรับความคาดหวัง ปัญหาเศรษฐกิจ โรงเรียน เพื่อน คนรัก การโดนล้อ แกล้ง รังแก การเสพสื่อ เล่นโซเชียล ที่ทำให้เกิดความเครียดจากการเปรียบเทียบ เราแตกต่าง... ดีไม่เท่า... สวยไม่พอ... ไม่เก่งเหมือนใคร
ในวัยที่กำลังสร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง ที่สำคัญซึมเศร้าสามารถเกิดได้จากสารสื่อประสาทในสมองที่ทำงานผิดปกติ ซึ่งเป็นผลจากยีนส์ กรรมพันธุ์ ฮอร์โมน หรือไม่มีสาเหตุแน่ชัด... จาก “อะไรก็ไม่รู้” ที่หลาย ๆ อย่างบังเอิญมามีผลต่อกัน
หมอชอบบอกคนไข้ที่ไม่อยากรักษาเพราะโตมากับชุดความเชื่อ ว่าเปรียบได้เหมือนคนเรามีน้ำในเข่า (สารสื่อประสาท) ไม่เท่ากัน บางคนเกิดมามีเยอะ บางคนเกิดมามีน้อย คนที่มีน้อยวันไหนที่ต้องเดินขึ้นเขาแห่งอุปสรรค ก็อาจจะเกิดอาการเจ็บเข่าเดินไม่ไหว หรือบางคนแค่เดินวันธรรมดา ๆ ก็ไปต่อไปไม่ได้ เพราะน้ำในเข่าไม่สมดุลเอามาก ๆ
การพบแพทย์เพื่อหาวิธี “สร้างสมดุล” ของน้ำในเข่า (สารสื่อประสาท) ทั้งการกินยา ทำจิตบำบัด การฝึกวิธีคิด การออกกำลัง การฝึกสติ ฯลฯ เป็นวิธีที่ทำให้คนที่มีโรคซึมเศร้าดีขึ้นได้ การทำความเข้าใจเรื่องโรคซึมเศร้าของคนรอบข้าง มีความสำคัญต่อการช่วยเหลือ อย่ามองคนเหล่านี้ด้วยการตั้งคำถาม
...“ทำไมไม่ออกไปไหนล่ะจะได้ดีขึ้น”...
...“ไม่ได้เศร้าอะไรหรอกเห็นเล่นเกมได้ทั้งวัน”...
...“จะคิดมากทำไม เรื่องแค่นี้เอง”...
การตั้งคำถามที่ไม่ได้นำไปสู่ความเข้าใจ โรคซึมเศร้าคือ “เรื่องจริง” โรคซึมเศร้า “เป็นอันตรายถึงชีวิต” แต่โรคซึมเศร้าเป็นโรค “รักษาได้” และหลาย ๆ พฤติกรรมที่เรามองเห็น อาจเป็นสิ่งที่คนเป็นโรคซึมเศร้าพยายามเป็น แต่จริง ๆ มันไม่ใช่ตัวเค้าเลย ไม่มีใครอยากป่วยด้วยโรคซึมเศร้า เหมือนที่ใครก็ไม่ได้อยากเป็นมะเร็ง แต่มันเกิดกับใครก็ได้ ไม่ว่าเค้าจะมีชีวิตที่ดีอยู่แค่ไหน
การช่วยเหลือคือการรับฟังด้วยความเข้าใจ ไม่ตัดสิน ทำให้เค้ารู้ว่ายังมีคนที่ห่วงใย และรีบพาพบแพทย์เพื่อช่วยการทำงานของสมอง จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้ แต่ถ้าสุดท้ายใครจะรู้สึกว่าไม่ไหว เราก็อาจทำได้แค่เคารพการตัดสินใจ โดยไม่ต้องไปพิพากษาตัดสินใคร เพราะเราก็ไม่อาจเข้าใจชีวิตใครได้อย่างแท้จริง