การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับการนั่งโดยสารรถยนต์แล้วน่าจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า “อ้อมอกแม่ ไม่ได้ปลอดภัยที่สุดถ้าเป็นเรื่องอุบัติเหตุยกเว้นไม่ได้จริง ๆ” หากกอดลูกไว้แล้วรถเบรกกะทันหัน เราเองที่จะกระแทกหรือทับลูกเข้าไปเต็ม ๆ ถ้าเรากอดหรือจับลูกไม่แน่นหลุดมือกระเด็นออกนอกรถเสียชีวิตก็มีข่าวให้เราเห็นเป็นอุทาหรณ์ ไม่มีใครอยากให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นและเป็นเรื่องที่ป้องกันได้
คาร์ซีทจำเป็นไหม ?
สำหรับบ้านเรา ..."จำเป็นมาก"... ความสำคัญของคาร์ซีทที่จะคุ้มครองความปลอดภัยให้ลูก ลูกนั่งอยู่กับที่ รัดเข็มขัด นอนหลับเอนสบาย ปลอดภัย ไม่ปีนไปปีนมา ไม่ต้องคอยจับ ก่อนหน้านั้น… ตามประสาคนงก ๆ ตอนไม่รู้ ตอนยังไม่ศึกษาพอไปเจอหลักพัน ไปจนถึงหมื่นก็สะดุ้ง…ไม่ต้องมีก็ได้มั้ง แต่คิดอีกทีไม่ได้สิ !
พอรู้ถึงความรักความปลอดภัยที่เราจะให้ลูกได้ ช่างเถอะเงินเท่านี้กับชีวิตลูกเรามันเทียบกันไม่ได้เลย พอใช้จริงประสบการณ์ตรง รถเบรกกะทันหัน ตัวเราเองตั้งตัวไม่ทันหัวพุ่งไปข้างหน้าตอนนั้นตกใจมาก รีบหันไปดูลูกยังนอนหลับสบาย คิดถึงเถอะ ถ้าอุ้มลูกอยู่กับตัวลูกคงเจ็บแน่ ๆ
วันที่ตัดสินใจซื้อ คำพูดที่ได้ยินบ่อย ๆ จากคนรอบตัว แล้วพาจิตตกไปด้วยคือ ซื้อมาแล้วแต่ลูกไม่นั่ง (คือคนที่ให้นั่งแล้วไม่สำเร็จ ร้องไห้ก็อุ้มออกจนนั่งบ้างไม่นั่งบ้าง) ให้ลืมไปเถอะค่ะ จริง ๆ แล้วทั้งหมดนั่งหรือไม่นั่ง จากประสบการณ์แม่ลูกสอง คนที่สร้างนิสัยได้คือครอบครัว ไม่ได้อยู่ที่ตัวเด็ก ๆ ว่าเขาจะเลือกทำหรือไม่ทำ อยู่ที่การสอนการฝึกล้วน ๆ
...“ถ้าเรามองเห็นความสำคัญกับเรื่องไหนเป็นพิเศษ เราจะทำมันได้โดยไม่ลังเลและไม่มีข้อแม้”... เช่น ลูกเล่นมีด เล่นไม่ได้ แม้แต่ถือก็ไม่ได้ พ่อแม่ก็จะเอาออกจากลูกทันที จบในตัวว่า ของชิ้นนี้เล่นไม่ได้ไม่ว่าจะมีเหตุผลใด ๆ การฝั่งนั่งคาร์ซีทก็เช่นเดียวกันค่ะ ถ้าเป้าหมายพ่อแม่ชัดเจน เราจะประสบความสำเร็จได้เร็ว
เตรียมฝึกนั่ง 'Car seat' กันดีกว่า
โครงสร้างมาตรฐานปลอดภัย วัสดุแข็งแรง ผ้าระบายอากาศดีนั่งแล้วไม่ร้อน ถอดซักได้ง่าย ปรับเอนนอนได้หลายระดับ เข็มขัดรัดนิรภัย ระบบล็อคที่รัดกุม ความสะดวกสบายต่างกันไปตามราคาแบบที่เราพอใจได้เลย
ต้องเข้าใจปลายทางในการฝึกนั่งคาร์ซีทตรงกัน ของพ่อแม่ และคนในครอบครัวที่ต้องนั่งรถคันเดียวกัน ต้องปฎิบัติเหมือนกัน รับรู้ว่าจะมีเสียงร้องไห้ ดราม่าของลูก ต้องอดทนและเข้าใจในช่วงแรก ถ้าสมาชิกเข้าใจแนวทางเดียวกันทุกอย่างจะง่ายค่ะ เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจริง ๆ การที่เด็กร้องระหว่างเดินทางก็มีความเครียดอยู่เหมือนกัน คุยกันก่อนไม่ให้ผู้ใหญ่ทะเลาะกันภายหลังนะคะ
เทคนิคที่ช่วยให้ลูกยอมนั่งคาร์ซีท
❤︎ 1. เริ่มหัดนั่งให้เร็วที่สุด ตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาลวันแรกได้เลย ยิ่งฝึกตั้งแต่ทารกจะยิ่งง่าย
❤︎ 2. สร้างกฎให้ชัดเจนร่วมกันทั้งบ้าน ทำให้เป็นเรื่องปกติ ถ้านั่งรถทุกครั้งก่อนล้อหมุนจะต้องไปนั่งประจำที่เท่านั้น ถ้าไม่นั่งรถจะไม่ออก พ่อแม่ก็ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเป็นตัวอย่าง
❤︎ 3. เมื่อลูกร้องไห้ (เช็คทุกอย่างปกติไม่อึ ไม่ฉี่ ไม่หิว ทุกอย่างสบายหมด) ไม่ต้องอุ้มออกจากคาร์ซีททุกครั้งที่ร้องไห้ ใช้วิธีปลอบใจ นั่งข้าง ๆ จับมือลูก เงียบสงบ เค้าจะค่อย ๆ เรียนรู้ว่าร้องแล้วไม่มีคนอุ้มออกก็จะหยุดร้องไปเองค่ะ (พอเป็นแม่เราจะแยกออกระหว่าง ร้องไห้แบบขัดใจและไม่ได้เจ็บปวด กับร้องไห้แบบไม่สบายจริงออกจากกันได้) ถ้าร้องไห้แล้วได้ทุกอย่างลูกจะใช้การร้องไห้เป็นการต่อรองกับสิ่งที่เข้าต้องการ ต้องดูว่าเคสนี้อาจจะใช้ไม่ได้น้าเพราะแม่ใจดีแต่ไม่ใจอ่อนกับเรื่องความปลอดภัยของหนู
❤︎ 4. บอกลูกเสมอว่านั่งคาร์ซีทแล้วเค้าจะได้ไปเที่ยว และคอยชื่นชมลูกในทุกครั้งที่นั่งได้สำเร็จ ไม่ร้องไห้เพื่อเป็นกำลังใจให้ลูก
❤︎ 5. เริ่มนั่งจากระยะไม่ไกลใช้เวลาเดินทานไม่นานเกิน 15 - 30 นาที เช่น บ้าน-โรงพยาบาล บ้าน-ร้านอาหาร ให้ลูกชินกับการเดินทางในเวลาไม่นาน
❤︎ 6. ลูกหิวไหม ปวดปัสสาวะหรือเปล่า ปวดอึ หรือร้อนเกินไปไหม ทุกอย่างทำให้เรียบร้อยคอนเฟริ์มว่าลูกสบายดีกก่อนจะออกเดินทาง
❤︎ 7. รัดเข็มขัดให้กระชับไม่แน่นจนเกินไป และไม่หลวมจนสอดมือออกได้
❤︎ 8. เปิดเพลงให้ฟัง ชวนคุย หนังสือนิทาน ของเล่น ของชอบของลูกเตรียมให้พร้อม
❤︎ 9. เมื่อเดินทางแวะพักทุก 1 ชั่วโมงเพื่อผ่อนคลายและพร้อมเดินทางต่อแบบไม่เครียด
❤︎ 10. ชวนลูกคุย ดูสิ่งที่ผ่านข้างทางตรงนู้นมีอะไรบ้าง เช่น มองหาธงชาติ มองหาสะพาน หาอะไรสนุก ๆ ที่ลูกสนใจ ไม่ให้โฟกัสที่การร้องไห้
❤︎ 11. จับเวลาทุกครั้งที่ลูกร้อง จะจดไว้ก็ได้แล้วจะเห็นความเปลี่ยนแปลงว่า ระยะเวลาการร้องจะสั้นลงจนชิน ยกเว้นถ้ามีคนอุ้มออกครั้งนึง ครั้งต่อไปเค้าจะร้องนานกว่าเดิมเพื่อให้อุ้มออกเป็นการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ค่ะ ฉะนั้นถ้าจะฝึก เรียนรู้และเข้าใจทำรวดเดียวจะทำให้เกิดผลสำเร็จได้เร็วกว่าทำ ๆ หยุด ๆ หรืออุ้มบ้าง เข้มบ้าง จะทำให้เด็กต่อต้านนานขึ้นนะคะ
❤︎ 12. ถ้าต้องเดินทางยาวไกล ก่อนออกจากบ้านให้พาวิ่งให้เหนื่อย ๆ ใช้พลังเยอะ ๆ พอขึ้นรถนั่งคาร์ซีทเปิดแอร์สบาย ๆ นอนดื่มนม หลับปุ๋ยยาว ๆ เลยค่ะ
เคล็บ(ไม่)ลับที่เราเขียนไว้ เราได้เรียนรู้มาจากลูกทั้งสองคนที่ใช้ได้จริง ไม่ใช่เพียงทฤษฎี น้อง ๆ ขณะเขียนบทความอายุ 4 ขวบครึ่ง และ 1 ขวบ ที่เด็ก ๆ ทั้งสองคนนั่งคาร์ซีทจนชินติดเป็นนิสัย นั่ง และนอนหลับสบาย เริ่มนั่งตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาลทั้งคู่ และทุก ๆ ครั้งที่เดินทาง คนโตใช้เวลาฝึกอยู่ประมาณ 2 เดือน การร้องไห้ก็น้อยลงเรื่อย ๆ เคยร้องนานที่สุดร้อง ๆ หยุด ๆ ประมาณ 20 นาทีแล้วก็หลับไป
โดยที่เราพ่อแม่ก็เห็นความสำคัญมาโดยตลอด ส่วนคนเล็กร้องไห้น้อยมาก ส่วนใหญ่ร้องเพราะง่วงนอนให้ตบก้นเบา ๆ น้องจะเลียนแบบพี่ชายเลยทำให้น้องนั่งตามแบบสบาย ๆ ทุกวันนี้ทั้งสองคนดีใจค่ะ ถ้าอยากไปเที่ยวก็จะนั่งคาร์ซีทกันเป็นชีวิตประจำวันไปแล้ว เราพ่อแม่เองก็สบายไม่ต้องคอยจับลูก เดินทางอย่างปลอดภัย ไปไหนมาไหนกับลูกสองคนก็ได้
บ้านไหนที่กำลังฝึกอยู่ขอให้อดทนและสู้ไปด้วยกันนะคะ รับรองว่าผลลัพธ์จะทำให้ทุกคนชื่นใจสุด ๆ ไปเลย เพราะมูลค่าชีวิตของลูกประเมิณค่าไม่ได้และไม่มีสิ่งใดจะทดแทนได้ ถ้าเราสามารถเลือกได้ก็เลือกทำในสิ่งที่ปลอดภัยกับชีวิตเค้าทำเถอะค่ะ เรียนรู้ไปพร้อมกับลูก