1255
คำพูดที่ทำร้ายลูก

คำพูดที่ทำร้ายลูก

โพสต์เมื่อวันที่ : December 28, 2020

"คำพูด" เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทรงอิทธิพลต่อจิตใจและความรู้สึกของผู้ฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพูดของพ่อแม่นั้นมี "น้ำหนัก" ต่อจิตใจและพัฒนาการของลูกอย่างมาก ไม่ว่าจะในทางที่ดีและไม่ดี

 

คำพูดของพ่อแม่ อาจเป็น ‘น้ำฝน’ ที่หล่อเลี้ยงให้ต้นกล้าต้นหนึ่งเติบโตอย่างมั่นคงและแข็งแรง หรืออาจเป็น ‘พายุฝน’ ซัดสาดต้นกล้าน้อย ๆ ต้นนั้นให้สะบักสะบอมและทิ้งแผลเป็นแผลใหญ่ไว้แม้วันที่เขาเติบโตแล้ว

คำพูดที่ดีจะสร้างทัศนคติที่ดีต่อตนเองและสิ่งรอบข้าง จูงใจให้อยากทำในสิ่งที่ดี มีความมั่นใจและนับถือตนเอง มองโลกในแง่ดี สร้างกรอบความคิดแบบเติบโตที่พร้อมจะเรียนรู้และใช้ชีวิต กล้าที่จะลอง กล้าที่จะล้มเหลว กล้าที่จะล้มแล้วลุกขึ้นยืนต่อ และพร้อมที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อตนเอง ต่อคนอื่น และต่อสังคม

 

ในทางกลับกัน... คำพูดที่ไม่ดีก็บั่นทอนและสร้างบาดแผลที่ส่งผลเสียในการมองโลก การใช้ชีวิต และทัศนคติส่วนตัวของลูกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะความมั่นใจในตนเอง ความเครียด แรงจูงใจและพลังในการใช้ชีวิต เรียกได้ว่า พูดผิดชีวิตเปลี่ยนได้เลยครับ ดังนั้นวันนี้ลองมาทำความรู้จักกับตัวอย่างที่เราควรหลีกเลี่ยงที่จะพูดกับลูกกัน

 

...“หยุดร้องไห้นะ”...

...“เป็นผู้ชายเขาไม่ขี้แยกัน”...

...“ร้องทำไม ไม่เห็นมีอะไรเลย” ...

 

“อารมณ์” เป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์

ทุกคนต้องรู้จักและสัมผัสความรู้สึกของความดีใจ เสียใจ ผ่านการร้องไห้ และเสียงหัวเราะ การเติบโตทางอารมณ์มิใช่การ ‘เก็บกด’ อารมณ์หรือข่มตนเองไม่ให้แสดงออกเมื่อเรารู้สึก หากแต่เป็นการรู้เท่าทันอารมณ์ และจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสม เสียใจก็ร้องไห้ได้แต่เราจะไม่ทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น หรือทำลายสิ่งของ ดีใจก็หัวเราะได้ แต่เราต้องไม่ก้าวล้ำสิทธิ์หรือพูดจาโอ้อวดจนเกินพอดี โดยการเรียนรู้และฝึกจัดการกับอารมณ์นั้นควรเริ่มต้นอย่างดีตั้งแต่วัยเด็ก

 

ดังนั้นการที่ห้ามลูกไม่ให้ร้องไห้ หรือสร้างมายาคติที่ว่า “คนที่เข้มแข็งเขาไม่ร้องไห้” ไม่แสดงความรู้สึกให้คนอื่นเห็น อาจยิ่งส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์และจิตใจในระยะยาว เกิดความเครียด เก็บกด มีปัญหาเกี่ยวกับการแสดงออกทางอารมณ์ในอนาคตได้ “เจ็บปวด เสียใจก็ร้องไห้ได้ลูก พ่อ/แม่อยู่ตรงนี้ใกล้ ๆ หนู”

 

...“เดี๋ยวให้พ่อกลับมาบ้านก่อนเถอะ”...

...“ทำตัวแบบนี้ พ่อบอกแม่แน่”...

...“พ่อ...ดูลูกทำสิ จัดการเลย” ...

 

“คำขู่” กับ “ตัวร้าย” คือสิ่งที่หลายบ้านใช้เป็นเครื่องมือในการหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูกที่ง่ายและใช้กันเป็นประจำ... ขู่เพื่อให้ ‘กลัว’ พ่อหรือแม่เพียงเพราะเขาเอาจริงเอาจังกับการปรับพฤติกรรมกว่าเรา เพราะเราไม่สามารถปรับพฤติกรรมของลูกได้ด้วยวิธีที่เหมาะสมด้วยตนเอง เหล่านี้ส่งผลเสียต่อทั้งลูกและความสัมพันธ์ระหว่างกันในระยะสั้นและระยะยาว

 

การปรับพฤติกรรมที่ดีควรทำ ณ จุดเกิดเหตุด้วยความใจเย็นและเด็ดขาดของคุณพ่อคุณแม่ ไม่ควรปล่อยรอจนเนิ่นนานเพราะมันจะลดทอนประสิทธิภาพและความศักดิ์สิทธิ์ของคำพูดหรือการลงมือทำของพ่อแม่ บางทีเด็ก ๆ อาจจะลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้นไปแล้วก็ได้ และไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากเป็นและไม่ควรมีใครในครอบครัวเป็น ‘ตัวร้าย’ ในสายตาของลูก ทุกคนควรอยู่ในทีมเดียวกันที่จะช่วยกันเลี้ยงดูและปรับพฤติกรรมของลูกบนพื้นฐานของความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน

 

...“อย่าเถียงแม่นะ”...

...“ทำตาม ไม่ต้องเถียง”...

 

"การเจรจา" คือหนึ่งในทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิต

ในสังคมในอนาคตของลูก เมื่อไม่เห็นด้วย เราจึงต้องบอกความต้องการของตนเอง รู้จักปฏิเสธเป็น รู้จักต่อรองเจรจาเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ หรือสิ่งที่เหาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ โดยทักษะการเจรจาต่อรองถูกพัฒนาและฝึกฝนตั้งแต่ที่บ้าน ตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก ยิ่งเถียง ยิ่งต่อรองเก่ง อาจยิ่งดีต่อพัฒนาการและทักษะสังคมระยะยาว

 

เพียงแต่เราต้องสอนลูกให้ต่อรองและเจรจาอย่างเหมาะสม มีเหตุมีผล สามารถโน้มน้าวอีกฝ่ายด้วยวิธีการที่ดีได้ โดยการขึ้นเสียง ตะคอก การใช้พฤติกรรมที่รุนแรง หรือดื้อแพ่งโดยไม่มีเหตุผลเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำและยอมรับไม่ได้ และนี่คือเงื่อนไขที่คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนให้ลูกเรียนรู้และฝึกฝน มิใช่การบังคับให้ลูกทำตามโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของเขา มิใช่การใช้อำนาจและแต้มต่อในฐานะพ่อแม่กดลูกเอาไว้ให้มาตามที่ตนเองเห็นควรว่าดีเท่านั้น เพราะนั่นอาจทำให้ "เด็กดื้อ"

"เด็กดื้อ" ☞ เป็นอีกคำพูดที่ ‘ตีตรา’ ลูกโดยที่ไม่มีต้นสายปลายเหตุ ได้แต่บอกว่า ‘ลูกเป็นเด็กดื้อ’ โดยที่ไม่ได้อธิบายกับลูกว่า ‘พฤติกรรม’ ใดเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี พฤติกรรมที่ควรปรับปรุง แต่กลับเหมาเข่งไปว่าเขาเป็นเด็กที่ไม่ดี ในขณะเดียวกันก็ไม่เคยมีคำพูดที่ดี ชื่นชมยามที่ลูกทำสิ่งที่ดี ดังนั้นสุดท้ายลูกก็จะเติบโตมาด้วย ‘ความเชื่อ’ ที่ว่าตนเองก็เป็นเด็กดื้อแบบนี้นั่นแหละ และไม่รู้ว่าควรจะปรับปรุงหรือพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไร และควรทำไปเพื่ออะไรเพราะทำไปก็ไม่มีใครเห็น

 

"ทำไมไม่ทำตัวให้ดีเหมือน ... " ☞ คำเปรียบเทียบที่อาจเกิดมาจากความหวังดีของผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกเห็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกได้ยึดเป็นแบบอย่าง ในทางตรงข้ามกลับเป็นการเปรียบเทียบที่ทำให้เขารู้สึกว่า ‘ไม่มีค่าพอ’ ที่จะทำให้พ่อแม่ชื่นชม ภูมิใจ บางครั้งอาจเป็นแรงผลักทำให้เขาทำได้ดีขึ้นได้ แต่หลายครั้งกลับทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาดีไม่พอในสายตาของพ่อแม่ บั่นทอนความเชื่อมั่นในตนเอง และการนับถือตนเองลงได้ เพราะพื้นฐานของความมั่นใจในตนเองอยู่ที่ความรู้สึกที่ว่า ‘ตนเองมีดี’ ‘ทำได้’ และ ‘มีค่า’ ในสายตาของใครสักคนหนึ่ง

 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลากหลายคำพูดที่อาจทำร้ายลูกได้โดยที่พ่อแม่อย่างเราไม่รู้ตัว ไม่เฉพาะกับลูก แต่กับทุกคนที่อยู่รอบตัว ก่อนพูดทุกครั้งควรไตร่ตรองให้ดีว่า คำพูดของเรานั้นกำลังบั่นทอนจิตใจของคนรอบข้างอยู่หรือไม่ เพราะคนพูดอาจไม่เคยจำ แต่คนฟังอาจไม่เคยลืม

 

..."พูดจาดี ๆ ต่อกัน คือของขวัญที่เราสามารถให้กันได้ทุกวันที่เติบโต ♡"...