310
ผลแห่งการรู้ใจลูกมากเกินไป

ผลแห่งการรู้ใจลูกมากเกินไป

โพสต์เมื่อวันที่ : January 12, 2021

 

ผลแห่งการรู้ใจลูกมากจนเกินไป อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ดังนี้

 

◉ พัฒนาการด้านการสื่อสารล่าช้า ในเด็กที่อยู่ในวัย 1 - 2 ปี เป็นวัยที่เริ่มสื่อสาร ถ้าพ่อแม่รู้ใจลูกเกินไป เช่น ลูกไม่ทันได้พูดอะไร แค่มองของที่อยากได้ พ่อแม่ก็นำมาให้ หรือ แค่ร้องแอ๊ะเดียวเราก็ยื่นให้ทันที เด็กจะไม่เรียนรู้ว่า “เขามีความจำเป็นต้องสื่อสารบอกความต้องการหรือปฏิเสธ” เพราะระหว่างเขากับพ่อแม่แค่มองตาก็รู้ใจกันแล้ว เมื่อไม่ต้องสื่อสาร สิ่งที่จะไม่ได้รับการพัฒนาการ ได้แก่...

 

  • "การพูด" ซึ่งเมื่อเด็กสื่อสารด้วยการร้องหรือพ่อแม่รู้ใจเขาอยู่แล้วว่า ลูกอยากได้แบบไหน เขาก็ไม่ได้ฝึกพูดออกเสียง
  • “คลังคำที่น้อย” เมื่อเด็กไม่ต้องพูด คำศัพท์ใหม่ ก็ไม่ได้รับการสอน เขาอาจจะรู้เพียง “อันนั้น” “อันนี้” “นี่” “นั่น”
  • “สื่อสารไม่เหมาะสม” เช่น เมื่อคนอื่นไม่รู้ใจเข้า เพราะบางครั้งสิ่งที่เขาอยากได้เป็นสิ่งใหม่ เด็กใช้การร้องไห้ การกรี๊ด การทำร้ายผู้อื่น การทำร้ายตนเอง หรือ ทำลายข้างของ เป็นต้น แทนการบอกสื่อสารดี เพราะเขาไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรคนอื่นถึงจะเข้าใจเขา

 

ดังนั้นหากต้องการให้เด็กสื่อสาร เราไม่ควรรู้ใจลูกจนเกินไป ทั้งนี้หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยเพิ่มเติมว่าลูกมีพัฒนาการการพูดที่ช้ากว่าปกติ ควรพาลูกไปพบกุมารแพทย์หรือแพทย์พัฒนาการ

 

 

◉ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตามวัย ในเด็กวัย 3 - 6 ปี เมื่อผู้ใหญ่รู้ใจเขา ทำให้เขาทุกสิ่งทุกอย่าง เด็กจะไม่อยากทำเอง เพราะจะทำเองให้เหนื่อยไปทำไม ในเมื่อคนอื่นทำให้สบายกว่ามาก ซึ่งเมื่อเด็กไม่ได้ฝึกฝนการช่วยเหลือตัวเอง กินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว ใส่รองเท้า เข้าห้องน้ำ และลุกจากที่นอนเมื่อถึงเวลาตื่น ผลของการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ได้แก่...

 

  • ผลลัพธ์ที่ 1 คือ “การอดทนรอคอยที่มีอยู่จำกัด” → “หงุดหงิดง่าย” “เอาแต่ใจ โวยวาย อาละวาด”

 

  • ผลลัพธ์ที่ 2 คือ “ทักษะในการดูแลตัวเองต่ำ” “ต้องพึ่งพาคนอื่นมาก” “ความมั่นใจในตนเองต่ำ” “ปรับตัวยาก” “ไม่อยากลองทำสิ่งใหม่และยึดติดกับสิ่งที่คุ้นเคย”

 

  • ผลลัพธ์ที่ 3 คือ “ดูแลตัวเองได้ไม่ดี" “ภาพลักษณ์ สุขอนามัย เช่น เสื้อผ้าหน้าผม ขี้มูก ขี้ตา เข้าห้องน้ำ ถอด - ใส่เสื่อผ้าไม่ได้ตามวัย” “ไม่มั่นใจในการเข้าสังคม” และ “สังคมเพื่อนมองเขาแตกต่าง"

 

  • ผลลัพธ์ที่ 4 คือ "ความพยายามน้อย" "ยอมแพ้ง่าย"

 

ดังนั้น 'การรู้ใจ' แล้วเข้าไปช่วยเหลือและทำให้ลูกทุกอย่าง จึงทำให้ลูกขาดโอกาสได้ฝึกฝนการช่วยเหลือตัวเอง พ่อแม่ต้องตระหันอยู่เสมอว่า “เราไม่สามารถอยู่เคียงข้างลูกได้ตลอดเวลา เขาต้องไปโรงเรียน เข้าสู่สังคม หากเขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ความมั่นใจของเขาจะถูกบั่นทอน แทนที่เขาจะได้เข้าไปเรียนรู้สิ่งใหม่ เด็กต้องกลับมากังวลเรื่องที่ทุกคนสามารถทำได้ แต่เขากลับทำไม่ได้”

 

 

◉ ไม่รับผิดชอบในหน้าที่และการกระทำของตนเอง ในเด็กวัย 3 ปี ขึ้นไป เมื่อผู้ใหญ่รู้ใจเขามากเกินพอดี ทำให้เขาขาดโอกาสที่ทำอะไรด้วยตนเอง ทุก ๆ อย่าง ที่ควรจะเป็น “หน้าที่” ของเขา เขากลับเรียนรู้ว่า “หน้าที่นั้นเป็นของคนอื่น ไม่ใช่หน้าที่ของเขา”

 

นานวันไป เมื่อเขาเติบโตมากขึ้นจนถึงวัยที่ต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่มีมากขึ้น เขาจะมองว่า นั่นไม่ใช่หน้าที่ของเขา และจะบังคับให้คนอื่นช่วยเขาเหมือนเดิม เช่น หน้าที่ของเขาที่ต้องกินข้าวเอง แต่เรากลับป้อนเขาตลอดมา เมื่อเราอยากให้เขากินเอง เด็กจะอิดออดโวยวายว่า ทำไมเขาต้องทำ ในเมื่อที่ผ่านมาเขาไม่เคยทำมันเลย ที่หน้าหนักใจไปกว่านั้น คือ การรับผิดชอบต่อของใช้ของตัวเอง เขากลับไม่รับผิดชอบต่อสิ่งใด เช่น...

 

  • ของเล่น เล่นเอง รื้อเอง แต่ไม่สามารถเก็บด้วยตนเองได้
  • กระเป๋านักเรียนของเขา ก็ให้คนอื่นถือตามเขาจนเข้าประตูโรงเรียน เลิกเรียนก็โยนกระเป๋าทิ้งทันที
  • เสื้อผ้า ก็ถอดกองไว้ ไม่เก็บใส่ตระกร้าผ้า ผ้าเช็ดตัวหมกไว้บนเตียง
  • การบ้านไม่ทำ งานกลุ่มไม่สน

 

เพราะการที่คนอื่นทำหน้าที่ของเด็กให้จนเคยชิน ทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้หน้าที่ที่แท้จริงของตนเอง ทั้งที่จริงแล้ว การที่คนอื่นมาทำให้ นั่นคือ “คนอื่นมาช่วยเขาอยู่" ดังนั้น 'การฝึกฝนเด็กให้รับผิดชอบต่อหน้าที่' ควรเริ่มตั้งแต่เล็ก เพราะเมื่อเขาเรียนรู้ที่จะทำหน้าที่ของตนเองได้ทีละน้อย และเพิ่มพูนไปตามอายุที่มากขึ้น จะไม่ทำให้หนักหน้าเกินไปที่จะปรับตัวกับหน้าที่ที่มากขึ้น

 

แต่ถ้าเรามาฝึกเขาในตอนโต พ่อแม่ต้องต่อสู้กับการปรับเปลี่ยนความคิดลูกว่า “สิ่งที่เราเคยทำให้เขา แท้จริงแล้วเป็นหน้าที่ของเขา” และการที่เด็กไม่เคยฝึกฝนให้ทำหน้าที่ใด เมื่อมาทำในวัยที่มากขึ้น หน้าที่จากจะเริ่มแค่หนึ่งอย่าง เขาต้องทำมันทีเดียวหลายอย่าง เช่น ในวัย 1 - 3 ปี อาจจะมีเพียง กิน นอน ตื่น อาบน้ำ แต่งตัว แต่เมื่อเข้าสู่วัยเข้าโรงเรียน เขาต้องรับผิดชอบงานบ้าน งานกลุ่ม และอื่น ๆ เพิ่มด้วย

 

 

...“ค่อย ๆ สอนเขาไปทีละอย่าง เริ่มต้นตั้งแต่ให้ลูกกินเอง ช่วยงานบ้านเล็กๆ น้อย ตามวัยที่เขาสามารถทำได้ เด็กจะปรับตัว และเรียนรู้รับผิดชอบหน้าที่ได้อย่างดี”...

 

 

◉ เมื่อทำผิด ไม่ยอมรับผิด และชอบโทษผู้อื่น "เมื่อเราทำทุกอย่างให้เด็ก" → “ไม่รู้จักหน้าที่” “ไม่รับผิดชอบ” “เมื่อทำผิด โทษทุกสิ่งยกเว้นตัวเอง” เหตุและผลง่าย ๆ ของการที่เด็กไม่ได้เรียนรู้หน้าที่ของตนเอง มีผู้อื่นทำให้ทั้งหมด คือ การไม่รู้ว่าคนอื่นมาช่วยเขาอยู่ ทั้งที่จริงแล้ว นั่นคือหน้าที่ที่เขาต้องรับผิดชอบ

 

ยกตัวอย่างเช่น

"การบ้านของเขา" → เขาลืมทำ และโดนทำโทษมา เด็กกลับมาบ้านโทษพ่อแม่ที่ไม่เตือนให้เขาทำ
“ต้องจัดตารางสอน” เขาไม่จัด รอแม่มาจัดให้ ลืมเอาของที่ต้องเรียนวันนั้นไป พ่อแม่ต้องตามเอาไปให้เขาที่โรงเรียน
“ต้องแต่งชุดพละ” เขาไม่เตรียม เเต่งผิด พ่อแม่ต้องเอาชุดพละไปเปลี่ยนให้ที่โรงเรียน
“ต้องตื่นไปสอบ” เขาลืมตั้งนาฬิกาปลุก ตื่นสาย ไปไม่ทันสอบ โทษพ่อแม่ที่ไม่ปลุกเขา และอื่น ๆ อีกมากมายที่จะเกิดขึ้นจากการไม่ได้รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง

 

ในวัยเด็กเขาอาจจะโทษพ่อแม่ได้ แต่เมื่อเขาโตไปเป็นผู้ใหญ่ ถ้าเขาทำผิด เขาจะโทษใครไม่ได้เลย นอกจากตัวเอง ดังนั้นเมื่อลูกทำผิด ให้สอนเขาและให้เขารับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองตาม เช่น เมื่อทำของแตก ก็สอนเขาให้เก็บอย่างไร ไม่ให้เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น เมื่อเขาทำผิด สอนเขาขอโทษ แล้วให้เขามาช่วยงานพ่อแม่ สำคัญที่สุด อย่าโทษคนอื่น โทษสิ่งของ หมา แมว หรือตุ๊กตา

 

 

◉ พ่อแม่ถูกควบคุมโดยลูก การรู้ใจที่มากเกินพอดี ไม่ได้นำไปสู่สายสัมพันธ์ที่ดี เพราะลูกสำคัญที่สุด และทุกคนต้องหมุนรอบตัวลูก เด็กที่เติบโตอย่างมีความสุข ไม่ได้เกิดจากการตามใจ หรือ มีคนตอบสนองเขาตลอดเวลา แต่เกิดจากการได้เรียนรู้ว่า “เขาเป็นที่รัก และเขาสามารถรักผู้อื่นเป็น” “เขามีคุณค่า และผู้อื่นก็มีคุณค่าเช่นกัน" ซึ่งเด็กเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จาก “พ่อแม่”

 

“พ่อแม่ควรมีอยู่จริงสำหรับลูก และลูกควรมีอยู่จริงสำหรับเรา” โดยทุกคนไม่ได้มีใครเหนือใคร เราให้กติกาของครอบครัวเป็นผู้ที่ควบคุมเราทุกคน กติกาครอบครัวที่ดี ควรมี 3 ข้อนี้ประกอบอยู่ด้วย คือ “ไม่ทำร้ายผู้อื่น” “ไม่ทำร้ายตนเอง” “ไม่ทำลายข้าวของ” เมื่อไม่มีใครเหนือใคร สายสัมพันธ์ที่ดีจะเกิดอย่างเหนียวแน่น ไม่มีใครเห็นแก่ตัว ไม่มีใครถูกลืม เราฟังกันและกัน พ่อแม่ฟังลูก ลูกฟังพ่อแม่ ทุกคนมีคุณค่า มีความสำคัญ นั่นคือ “ครอบครัว”

 

บทความที่เกี่ยวข้อง : กฎ 3 ข้อที่ทุกบ้านควรมี

 

ดังนั้นการรู้ใจที่ดี ที่ควรเกิดขึ้นในทุกครอบครัว คือ “การเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน” เช่น อีกฝ่ายชอบและไม่ชอบอะไร และเราจะพยายามทำในสิ่งที่อีกฝ่ายชอบ และหลีกเลี่ยงในสิ่งที่อีกฝ่ายไม่ชอบ ในขณะเดียวกัน เราจะไม่ลืมที่จะบอกความต้องการของเราให้กับคนอื่นรู้ด้วย

 

 

“เด็กที่มีความสุขอย่างยั่งยืน คือ เด็กที่มองเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น” การดูแลตัวเอง และรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน คือ พื้นฐานของการสร้างคุณค่าในตนเอง เมื่อรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองได้ เขาจะเผื่อแผ่ความรับผิดชอบนั้นไปสู่สาธารณะด้วยตัวเขาเอง