การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- บทเรียนที่ 1 -
“เด็กทุกคนเกิดมาเพื่อเป็นตัวเอง”
ในวันที่เด็กทุกคนลืมตาดูโลก เขาไม่ใช่ผ้าขาว แต่เขามีตัวตนของเขาติดตัวมาด้วย รอเวลาที่เขาเติบโตและค้นพบมัน "เด็กทุกคนจึงเกิดมาเพื่อเป็นตัวของตัวเอง”
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม “ตัวตน” ที่เด็กเลือกที่จะเป็นต้องไม่ทำให้ตัวเขาหรือใครเดือดร้อน พ่อแม่และผู้ใหญ่จึงมีหน้าที่ดูแลสอนเขาให้เขามีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง ไม่ว่าจะสอนให้เขาช่วยเหลือตัวเองตามวัย สอนเขาดูแลตัวเอง สิ่งของและคนรอบข้าง เพื่อที่เด็กจะมีพื้นฐานทางร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง และสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างดี เมื่อวันที่เขาค้นพบตัวเอง เขาจะสามารถนำทักษะและพื้นฐานที่เขามีมาต่อยอดพัฒนาต่อไปเป็นตัวเองที่เขาอยากจะเป็น
พ่อแม่ ครอบครัว คือ สภาพแวดล้อมด่านแรกบนโลกใบนี้สำหรับเขา หากสภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยความรักและความเข้าใจ การยอมรับและการสนับสนุน ต้นทุนชีวิตของเด็กคนนี้มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว แต่ถ้าสภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยความรุนแรงและความไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับและไม่สนับสนุน เด็กคนนี้ขาดทุนตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตของเขาเสียแล้ว หากเรามีโอกาสได้ดูแลเด็กสักคน โปรดโอบกอดเขาด้วยความรักและการยอมรักที่ปราศจากเงื่อนไข
เมื่อ “ตัวตน” ของเด็กได้รับการยอมรับ เขาจะมีแนวโน้มที่จะยอมรับในความแตกต่างของผู้อื่นอีกด้วย เฉกเช่นเดียวกับการที่เมื่อเขามองเห็นคุณค่าในตัวเอง เขาจะมองเห็นคุณค่าในผู้อื่นเช่นกัน
- บทเรียนที่ 2 -
“อย่าทำร้ายเด็กด้วยเหตุผล ในนามแห่งความรัก"
บางครั้งผู้ใหญ่อย่างเราไม่รู้ตัวว่า "เรากำลังทำร้ายเด็ก” เพราะเราคิดว่าการกระทำของเราทำไปเพราะความรัก การกระทำที่ว่า คือ “การดุด่า ทุบตี บ่นทุกอย่าง สอดส่องทุกกระเบียดนิ้ว และที่สำคัญคือ คาดหวังเด็กเกินวัย” และเมื่อเราทำไปแล้ว เรามักตบท้ายการกระทำของเราด้วยคำพูดที่ว่า “ทำไปเพราะรัก”
ทั้งที่จริงแล้ว เราสามารถสอนเด็กได้ด้วยใจดีแต่ไม่ใจอ่อน (Kind but firm) ซึ่งการสอนนี้ ต้องเริ่มด้วยการมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กก่อน หากเราไม่มีสายสัมพันธ์นี้ เด็กจะไม่เห็นเรา เพราะเราไม่มีอยู่จริงในสายตาเขา
บทความที่เกี่ยวข้อง : ให้เด็กได้เป็นเด็ก ด้วยการคาดหวังให้ตรงกับวัยของเขา
เมื่อสายสัมพันธ์ดี คำพูดของเราจะมีอยู่จริง เขาจะรับฟัง และอยากทำตามที่เราสอน นอกจากนี้ในวันที่เด็กเติบใหญ่ และเราไม่ได้อยู่ตรงนั้นกับเขาสายสัมพันธ์จะเป็นเชือกที่มองไม่เห็นคอยดึงรั้งเขาไว้เวลาเขาจะไปทำผิด เขาจะนึกถึงเรา เพราะเขารักเรา
สายสัมพันธ์ที่ดีต้องมาพร้อมกับวินัยตามวัย เด็กควรเรียนรู้การช่วยเหลือตัวเองตามพัฒนาการของเขา และเรียนรู้งานที่เขาสามารถทำได้เพื่อส่วนรวม เมื่อเขาโตพอ เช่น การทำงานบ้าน และการช่วยเหลืองานต่าง ๆ ตามวัย ทั้งนี้วินัยจะช่วยให้เด็กรู้ว่า “อะไรสำคัญสำหรับชีวิตเขา” และเขาจะรู้ว่า “ความจำเป็น (Need)” ต้องมาก่อน “ความต้องการ (Want)” เสมอ
ที่สำคัญผู้ใหญ่มักลืมว่า “เรามีหน้าที่ควบคุมกติกา” ไม่ใช่ไม่ควบคุมเด็ก เราใช้กติกาที่ตกลงกันควบคุมซึ่งกันและกัน ไม่ให้เราทำร้ายกัน หรือ ทำให้ตนเองเดือดร้อน เมื่อเด็กทำผิด ให้ทวนกติกาหรือข้อตกลงกับเขา และให้เขาได้รับผลลัพธ์จากการกระทำ โดยมีผู้ใหญ่คอยสอนเขาว่า “ทำแบบนี้ไม่ได้ แล้วทำแบบไหนได้บ้าง” ไม่ใช่บอกเเค่ว่า เขาทำผิด แต่ไม่บอกเขาเลยว่าที่ถูกเป็นอย่างไร
- บทเรียนที่ 3 -
"ปลูกสิ่งใด ย่อมได้สิ่งนั้น"
“เราปลูกมะม่วงย่อมได้มะม่วง ไม่ใช่มะพร้าว” พ่อแม่ทุกคนคาดหวังอยากให้ลูกเป็นคนดี คนเก่ง เป็นลูกที่น่ารัก แต่สิ่งที่พ่อแม่ให้อาจจะให้ผลตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง เช่น...
อย่าลืมว่า "เด็กจะเป็นแบบที่ผู้ใหญ่เป็น" ไม่ใช่ในแบบที่ผู้ใหญ่สอน ดังนั้นอยากให้ลูกเป็นเช่นไร พ่อแม่ควรเป็นเช่นนั้นก่อน
บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็ก ๆ คือ ภาพสะท้อนของผู้ใหญ่(ใกล้ตัว)
- บทเรียนที่ 4 -
“บ้านควรเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดในโลก”
เด็กทุกคนต้องการพื้นที่ที่ปลอดภัย และเขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ถ้าบ้านของเขามีพ่อแม่ที่รักและเข้าใจ เด็กจะอยากกลับบ้าน แต่ถ้าบ้านร้อนเป็นไฟ กลับมาก็โดนบ่น โดนด่า โดนจำผิด พ่อแม่ทะเลาะกันตลอดเวลา เด็กคนไหนก็ไม่อยากกลับบ้าน
ถ้าเราไม่รู้จะเริ่มต้นกับลูกวัยรุ่นอย่างไร ง่ายที่สุด คือ เวลาลูกกลับบ้านมาให้ถามเขาว่า "หิวไหม กินข้าวยังลูก” “กินน้ำก่อนไหม” เป็นต้น แม้จะทำเช่นนี้แล้วลูกยังไม่เปิดใจกับเรา ไม่ต้องกังวล เพราะสายสัมพันธ์ที่สร้างใหม่ต้องใช้เวลาทั้งนั้น และเมื่อเขาเปิดใจ ฟังเขาให้มาก ตัดสินเขาให้น้อยลง ถ้าเขาทำผิดให้ช่วยเขาก่อนจะทำโทษเขา เพราะสิ่งที่เด็กทุกคนกลัวที่สุด คือ “การทำให้พ่อแม่ผิดหวังในตัวเขา"
- บทเรียนที่ 5 -
“กระบวนการเรียนรู้ สำคัญกว่าผลลัพธ์”
เมื่อเด็กปฐมวัยเข้าสู่วัยเรียน ต้องไปโรงเรียน หรือ เรียนหนังสืออยู่บ้าน เขาควรจะได้รับโอกาสในการเรียนรู้อย่างมีความสุข โดยที่ไม่ถูกตัดสินหรือถูกทำให้อับอาย ซึ่งบรรยากาศเช่นนั้นจะเกิดขึ้นได้ หากผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้มากกว่าผลลัพธ์สุดท้าย อย่างเช่น คะแนน หรือ เกรดเฉลี่ย การสอบเข้าประถม 1 เป็นต้น
นอกจากนี้เมื่อผู้ใหญ่ให้การชื่นชมกับความพยายามมากกว่าผลลัพธ์ของเด็ก ทำให้เขาสามารถพัฒนาความมั่นใจในตัวเองขึ้นมา พร้อม ๆ กับภูมิต้านทานต่ออุปสรรคในภายภาคหน้าอีกด้วย
เมื่อเด็กเติบโตโดยมีความมั่นใจในตัวเองแล้ว หากจะมีการสอบ หรือ การแข่งขันบ้าง ตามวัยที่เหมาะสม เมื่อเขาทำไม่ได้ หรือ ทำคะแนนได้ไม่ดี ผลลัพธ์ที่เขาได้รับมา เด็กที่มีความมั่นใจในตัวเองจะนำกลับมาพัฒนาปรับปรุงตัวเอง ไม่ใช่นำมาบั่นทอนคุณค่าในตัวเอง
สุดท้ายสำหรับ 5 บทเรียนสำคัญนี้ หากผู้ใหญ่อย่างเราหันกลับมาทบทวนตัวเองอย่างจริงจัง เราจะสามารถช่วยให้เด็ก ๆ ที่เราเลี้ยงดู หรือ ดูแล สามารถเติบโตอย่างมีความสุข และมองเห็นคุณค่าในตัวเองและผู้อื่น