การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“เด็กที่มีความขี้อาย” เด็กบางคนเป็นเด็กที่มีความขี้อาย พวกเขามักแอบอยู่หลังคุณพ่อคุณแม่อยู่เสมอ หากผู้ใหญ่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก ๆ เราจะค่อย ๆ เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของเขาได้อย่างง่ายดาย
เด็กทุกคนมีความแตกต่างกันและเด็กบางคนขี้อายมากกว่าคนอื่น ๆ “ความขี้อาย” เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนิสัยใจคอของพวกเขา ซึ่งเป็นวิธีที่พวกเขาปฏิสัมพันธ์กับโลก
ดังนั้นผู้ใหญ่ไม่ควรไปเปลี่ยนอุปนิสัยของพวกเขา แต่เราควรยอมรับเด็ก ๆ อย่างที่พวกเขาเป็น และค่อย ๆ สอนทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เพื่อให้เด็ก ๆ มีความมั่นใจในการเป็นตัวเอง และในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
ในเด็กทารกบางคนเกิดความพร้อมกับพื้นฐานอารมณ์ที่เรียกว่า “Slow-to-Warm up” ซึ่งทำให้พวกเขาอาจจะปรับตัวช้ากว่าเด็กทั่วไป แต่เมื่อผู้ใหญ่ให้โอกาสและให้เวลา พวกเขาสามารถเติบโตได้ไม่แตกต่างจากเด็กคนอื่น ๆ เลย
แม้จะเป็นคุณปู่ คุณย่าคุณตา คุณยาย หากไม่ใช่คนที่พวกเขาคุ้นเคย เด็ก ๆ อาจจะเลือกที่จะไม่พูดอะไรเลย
ถ้าผู้ใหญ่อยากทำความรู้จักกับเขา เราควรให้เวลาเด็ก ๆ ค่อย ๆ เรียนรู้ และทำความรู้จักพวกเขาผ่านการสังเกต เด็ก ๆ มักมีส่ิงที่พวกเขาสนใจเสมอ ลองใช้เวลาอยู่กับพวกเขา เราจะเข้าใจมากขึ้น
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ความมั่นใจในตัวเอง ไม่เท่ากับการกล้าออกไปแสดงบนเวที แต่หมายถึง ความกล้าที่จะยืนหยัดเพื่อตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ตัวเองต้องการ หรือปฏิเสธสิ่งที่ตนเองไม่ต้องการ
ดังนั้นเด็กที่มีความขี้อายบางคนก็สามารถมีความมั่นใจในตัวเองได้ พวกเขาอาจจะกล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ หรือ ปฏิเสธในสิ่งที่ตนเองไม่ต้องการได้
❤︎ พ่อแม่ไม่ควรส่งลูกให้ผู้ใหญ่ที่เขาไม่รู้จักหรือคุ้นเคยอุ้มทันที ทางที่ดีหากต้องการทำความรู้จักกับเด็ก เราควรให้ผู้ใหญ่คนนั้นค่อย ๆ นั่งลงเล่นของเล่นใกล้ ๆ เขาก่อน จากนั้นก็ค่อย ๆ เขยิบเข้ามาใกล้ และชวนเด็กพูดคุยด้วยเสียงที่อ่อนโยน
❤︎ ก่อนพาลูกไปที่ไหน และไปพบใคร เราควรบอกลูกให้เขารู้ตัว ว่าเขากำลังจะไปเผชิญอะไรบ้างในวันนี้ จากนั้นให้เรามอบความมั่นใจให้กับลูกว่า ...“แม่รู้ว่าลูกกลัว เพราะลูกอาจจะยังไม่รู้จักใคร แต่แม่จะอยู่กับลูกในวันพรุ่งนี้”...
❤︎ เมื่อพาลูกไปเข้ากลุ่มเล่น (Playgroup) หรือไปสนามเด็กเล่น เราสามารถนั่งอยู่ในบริเวณสายตาของลูกก่อน ให้เขาได้สำรวจพื้นที่ ผู้คนจนค่อย ๆ คุ้นชิน จากนั้นให้เราเขยิบถอยหลังไปนั่งอยู่ในบริเวณที่ไกลขึ้นอย่างช้า ๆ
❤︎ ระวังท่าทางของเราที่ปกป้องลูกจะเกินไป เช่น อุ้มลูกตลอดเวลา คอยห้ามไม่ให้ลูกสำรวจสิ่งต่าง ๆ เพราะนอกจากจะทำให้ลูกเป็นกังวลมากขึ้นแล้ว เขาอาจจะทำให้ลูกมีความขี้อายมากขึ้นไปอีก
❤︎ ให้การชื่นชมลูก เวลาที่เขาสามารถพูดคุยกับผู้อื่นได้ด้วยตนเอง หรือ มีการสนใจในผู้อื่น
❤︎ พ่อแม่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกได้เวลาเข้าปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม เช่น พูดสวัสดีผู้อื่นก่อนลูก แล้วค่อยบอกให้เขาสวัสดีไปด้วยกัน และพูดขอบคุณอยู่เสมอ
❤︎ ไม่พูดว่า “ลูกเป็นเด็กขี้อาย” กับคนอื่นต่อหน้าลูก แต่เลือกที่จะพูดว่า ...“ลูกต้องการเวลาปรับตัวมากหน่อย เมื่อเขาสบายใจ เขาจะสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้”... เพื่อลดการตีตราในตัวตนของเด็ก และช่วยให้เด็กมีความคิดเชิงบวกเกี่ยวกับตัวเอง
❤︎ เริ่มต้นที่การยอมรับลูกอย่างที่ลูกเป็น เพื่อที่ลูกจะได้ยอมรับตัวเองเขาเองและผู้อื่นอย่างที่เป็นได้เช่นกัน
❤︎ หยุดเปรียบเทียบลูกกับพี่น้องหรือเพื่อนคนอื่น
❤︎ สนับสนุนให้ลูกได้ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับเขา
❤︎ ลูกไม่จำเป็นต้องกล้าแสดงออก แต่กล้าที่จะยืนหยัดเพื่อสิ่งที่เขาเชื่อ และมีความสุขกับการเป็นตัวเองก็เพียงพอแล้ว
❤︎ สอนลูกให้เคารพตัวเอง เคารพผู้อื่น และเคารพกติกา ที่สำคัญต้องสอนให้เขาปกป้องตัวเองเมื่อยามจำเป็นได้ด้วย
❐ เด็กที่มีความขี้อายมากจนเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน หรือในห้อง ไม่สามารถออกไปที่ไหนได้เลย
❐ เด็กที่แสดงออกถึงอาการวิตกกังวลระดับสูง (เหงื่อออกไม่หยุด หัวใจเต้นแรง พูดติดอ่าง และอื่น ๆ) ในสถานที่ที่มีคนอยู่มาก เช่น โรงเรียน งานเลี้ยง ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
❐ เด็กที่ไม่สามารถตอบคำถามในห้องเรียน พูดกับคนอื่น ๆ นอกจากคนในครอบครัวที่บ้าน
❐ เด็กที่บอกว่า “ตัวเองเหงามาก” แต่ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ได้อย่างไร
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “ความขี้อาย” เด็กที่มีความขี้อายต้องไม่เกิดจาก “พัฒนาการล่าช้าทางภาษา” “การได้ยินบกพร่อง” และ “โรคบางโรค เช่น โรคออทิสติก (ASD) โรคพูดในบางสถานการณ์ (Selective Mutism)” หากลูกมีลักษณะเหล่านี้ เราสามารถพาลูกไปปรึกษาแพทย์พัฒนาการหรือจิตแพทย์ได้
สุดท้ายไม่ว่าเด็กแต่ละคนจะเกิดมาพร้อมกับพื้นฐานอารมณ์หรืออุปนิสัยแบบใด พวกเขาต่างต้องการการยอมรับ และโอกาสในการเป็นตัวเอง หากพ่อแม่และผู้ใหญ่รอบตัวเขาเข้าใจธรรมชาติของพวกเขา เด็ก ๆ จะสามารถเติบโตเป็นตัวเองได้อย่างมีความสุข