เด็กควรเริ่มเรียน "ภาษาที่สอง" เมื่อไร ?
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดหรือ Sweet spot ของการเรียนภาษาของเด็กคือช่วงไหนนะ
..."คุณหมอคะ ปกติคุณยายเป็นคนช่วยเลี้ยงแล้วค่อนข้างตามใจ ลูกเริ่มเอาแต่ใจตัวเอง เวลาไม่ได้ดั่งใจก็ชอบตีคนอื่น หนูควรทำไงดีคะ ? ตัวหนูเองก็ไม่ค่อยมีเวลาด้วยค่ะ ต้องทำงาน"... คุณแม่ท่านหนึ่ง
หากตอบแบบละมุนละม่อมก็คงบอกว่า ...“คุณแม่ควรทำความเข้าใจกับพฤติกรรมก้าวร้าวที่เกิดขึ้นว่าเกิดอย่างไร เมื่อไร บ่อยแค่ไหน แล้วเมื่อเขาเริ่มตีคนอื่นแล้ว คนที่ถูกตีและรอบข้างตอบสนองกับการตีของเขาอย่างไร"...
เมื่อทำความเข้าใจแล้ว คุณแม่คงพอบอกได้ว่า ทำไมพฤติกรรมก้าวร้าวที่เกิดขึ้นจึงเกิดซ้ำ ๆ หรือบ่อยขึ้น เช่น เมื่อไม่ได้ดั่งใจ เขาจึงเริ่มตีและทำร้ายคนอื่น คนที่ถูกตีไม่จริงจังกับการหยุดการตีของเด็ก หรือ ‘ให้’ ในสิ่งที่เด็กต้องการ หรือตอบโต้ด้วยความรุนแรงกลับ ตีกลับ ดุด่ากลับ เหล่านี้ทำให้วงจรของพฤติกรรมก้าวร้าวเกิดซ้ำ ๆ ได้
เมื่อเข้าใจปัญหาแล้ว คุณแม่ควรพูดคุยกับคนเลี้ยงหลักนั่นคือ ‘คุณยาย’ เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ก้าวร้าวของหลานที่เกิดขึ้น นั่งพูดคุยทำความเข้าใจกันให้ดีว่าควรตอบสนองเขาแบบไหน เลี้ยงแบบไหนจึงดี ซึ่งถ้าคุณยายรับฟังและปรับเปลี่ยนก็เป็นเรื่องที่ดี แต่หากคุณยายผู้ซึ่งเป็นผู้เลี้ยงดูหลักไม่เปลี่ยนวิธีการเลี้ยง คุณแม่ก็คงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่า พยายามปรับพฤติกรรมของลูกด้วยตัวเองในช่วงที่เลี้ยงลูกเอง แต่หากไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยตัวเองเลยแบบลูกอยู่กับคุณยายที่ต่างจังหวัด คุณแม่คงทำได้แค่ขอความร่วมมือกับยายไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่ได้ก็คงทำได้แค่รับรู้และทำใจรับปัญหาพฤติกรรมของลูกกันไป”
แต่ถ้าตอบแบบไม่อ้อมค้อมก็คือ ...“จะดีกว่าไหม ถ้าคุณแม่เลี้ยงลูกด้วยตนเอง หรืออย่างน้อยก็ได้ใช้เวลาร่วมกับกับลูกให้มากขึ้น หากไม่เลี้ยงก็ไม่ควรจะไปคาดหวังให้ใครเลี้ยงได้ดีเยี่ยมดั่งใจเรา เพราะขนาดเรายังไม่เคยลงมือเลี้ยงเองเลยสักครั้ง”... เพราะเลี้ยงอย่างไร ได้อย่างนั้น
สิ่งแรกที่เด็กเรียนรู้ตั้งแต่เริ่มลืมตาเกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้คือ “แม่” เขาเรียนรู้ที่จะไว้ใจโลกผ่านสายสัมพันธ์อันดีระหว่างเขาและแม่ คนที่ปลอบประโลมเขาในวันที่เขารู้สึกไม่สบายตัว หิว ท้องอืด ร้อน หนาว ตอบสนองและดูแลเขาในทุกวันที่เติบโต ความรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ใกล้ นี่คือ “แม่ที่มีอยู่จริง”
‘คนเลี้ยงหลัก’ จึงเป็น ‘แม่’ ในสายสัมพันธ์นี้
แม่ที่มีอยู่จริง คือ แม่คนที่เลี้ยงเขา ไม่ใช่เพียงแค่คนที่ ‘คลอด’ เขาออกมา หากพ่อเป็นคนเลี้ยง ลูกก็เป็นลูกพ่อ ยายเป็นคนเลี้ยง ลูกก็เป็นลูกยาย พี่เลี้ยงพม่าเลี้ยง ลูกก็เป็นลูกพี่เลี้ยงพม่า เพราะพวกเขาคือคนที่เลี้ยงดูหลัก คนที่เด็กจะผูกสายสัมพันธ์ ผูกทุกข์ ผูกสุข โดยพฤติกรรมของเขาจะเริ่มหมุนรอบตัวผู้เลี้ยงหลักเป็นสำคัญ
มีปัจจัยมากมายที่ส่งผลให้เด็กทำ ‘พฤติกรรมที่ไม่น่ารัก’ โดยเฉพาะปัจจัยทางร่างกายอย่างความหิว ความง่วง และความเจ็บป่วย ปัจจัยทางพัฒนาการตามวัยโดยเฉพาะการพัฒนาของสมองส่วนอารมณ์ที่นำสมองส่วนหน้า (สมองส่วนคิด) ในเด็กเล็ก ทำให้เด็กร้องไห้อาละวาด ตีคนอื่นหรือทำลายข้าวของในยามที่เขาโกรธหรือผิดหวัง หรือกระทั่งปัจจัยส่วนบุคคลอย่าง ‘พื้นอารมณ์’ ที่เด็กแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน เด็กที่พื้นอารมณ์ยากก็จะถูกกระตุ้นจากปัจจัยภายนอกอื่นได้ง่ายกว่าเด็กที่พื้นอารมณ์ง่ายที่ปรับตัวได้ง่ายกว่า เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมเหล่านี้จะถูกตีกรอบและปรับด้วย ‘วิธีการเลี้ยงดู’ และ ‘แบบอย่าง’ ของผู้เลี้ยงหลักที่เขาได้เห็นและรับมือเขาในทุกวัน
หากผู้เลี้ยงหลักเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก มีสติ สงบ ใจเย็น มองโลกในแง่ดี พูดจาไพเราะ เด็กก็จะค่อย ๆ ซึมซับเอาพฤติกรรมเหล่านี้เข้ามาเป็นพฤติกรรมของตนเองมากขึ้น เมื่อเด็กมีอารมณ์ท่วมท้นแล้วเกรี้ยวกราดไม่น่ารัก หากเขามีผู้ใหญ่สักคนที่เป็นหลักยึด อยู่ข้าง ๆ เขาอย่างสงบเพื่อสื่อสารกับเขา เข้าใจเขาว่าเขารู้สึกอย่างไร สอนเขาว่าเราร้องไห้ได้ โกรธได้ รู้สึกผิดหวังได้แต่เราจะไม่ทำพฤติกรรมอะไรบ้าง (โดยเฉพาะเรื่องของความรุนแรง – การไม่ทำร้ายตัวเอง คนอื่นและไม่ทำลายสิ่งของ) สอนเขาให้เขาจัดการและแสดงออกทางอารมณ์ให้เหมาะสมได้ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคนที่ได้ใช้เวลาที่ดีร่วมกับเขาอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ
..."ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่มีเวลาเลี้ยงลูก ก็ถึงเวลาที่ต้องหา ‘เวลา’ แล้วครับ"...
หากเวลามีน้อย จงหา ‘เวลา’ เท่าที่ทำได้ แม้ในความเป็นจริงคุณพ่อคุณแม่ต้องทำงานเพื่อหาเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว อย่างไรก็ต้องหาสมดุลของชีวิตของเวลางาน เวลาส่วนตัว และเวลาเลี้ยงลูกด้วยนะครับ จะมากหรือน้อย จะแค่ช่วงเย็นหลังเลิกงาน หรือแค่เสาร์-อาทิตย์ ก็ควรใช้เวลาที่มีนั้นอย่างดีที่สุดกับลูก เพื่อเลี้ยง เพื่อสอน เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ เพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘พ่อและแม่’ ใช้ชัดเจนในใจลูกที่สุด และ ‘ยึด’ เป็นสายสัมพันธ์ที่ตรึงรัดลูกไว้ให้ความปลอดภัยทั้งกายทั้งใจในการดำรงชีวิตและเติบโตต่อไป
จะกี่ชั่วโมงต่อวัน กี่วันต่อสัปดาห์ ไม่สำคัญเท่าคุณภาพที่ใช้ร่วมกัน เวลาคุณภาพที่เราจะเลี้ยงดีและเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก แต่จะดีกว่าไหมที่เราจะมีเวลากับครอบครัวเพิ่มขึ้นอีกสักหน่อย อันนี้คงต้องชั่งตวงวัดกันเอง หาจุดที่เหมาะสมที่สุดของเราเองให้ได้ เพราะ ‘พ่อแม่’ ไม่สามารถทดแทนด้วย ‘ของเล่น’ เงินทองหรือสิ่งอื่นใดเหมือนที่มีคำที่พูดว่า ...“One of the greatest presents you can give to your kids is your PRESENCE. How can you love if you are not there.”...
..."ลูกจะอยู่และยอมให้เราเลี้ยงกี่ปีกัน ?"...
..."เวลาควรเป็นของที่หาได้สำหรับการเลี้ยงลูก"...