ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
ย้อนไปยุคก่อนจะมีอินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์สมาร์ทโฟน สมัยนั้น เด็ก ๆ ไม่มี Youtube ดู ไม่มีไอโฟน ไม่มีไอแพด ไม่มีอินเตอร์เน็ตที่เร็วพอจะโหลดหนังเป็นเรื่อง ๆ ได้
กิจกรรมยอดนิยมในเวลานั้นของเหล่าเด็กผู้หญิง คือ การเล่นหมากเก็บ และกระโดดยาง ใครไปถึงอีหัวได้นี่ คือ ทุกคนจะยกให้เป็นเจ้าแม่หนังยางกันเลยทีเดียว ส่วนเด็กผู้ชาย คือ การเล่นดีดลูกเเก้ว ตีการ์ด (ที่แถมจากขนมถุงละ 5 บาท) เตะบอล และอื่น ๆ แต่มีเกมที่ทุกคนชอบเล่นไม่ว่าจะหญิงหรือชาย นั่นคือ บอลลูนด่าน ตี่จับ ซ่อนแอบ แปะแข็ง กระต่ายขาเดียว และท่ีขาดไม่ได้ คือ “การเล่นตบแปะนานาชนิด”
“การเล่นตบแปะ” คือ การละเล่นที่ใช้มือเล่นเป็นหลัก และต้องมีผู้ร่วมเล่น 2 คนขึ้นไป บางการตบแปะเล่นไป 5-6 คนพร้อมกันเลยทีเดียว
เวลาเล่น เราจะมีเนื้อร้องระหว่างเล่นไปด้วย หรือ มีคำพูดที่บอกจังหวะเวลาเล่น ว่า เราจะออกท่าทางเมื่อไหร่ และตอนไหนที่เราต้อง เป่า ยิง ฉุบ นอกจากนี้ เป็นการฝึกการสื่อสารทางกาย คือ การมองตาคู่สนทนาอย่างเป็นธรรมชาติ และฟังอีกฝ่ายด้วยว่า เขาออกท่าทางอะไร ที่สำคัญเราสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเพื่อนจากการเล่นตบแปะได้
ขณะที่เราเล่นตบแปะกับเพื่อน เราจะตบมือให้ตรงกับมือของเพื่อน ออกท่าทางให้ตรงกับเนื้อร้อง และเราจะต้องมองเมื่อเพื่อนออกท่าทางอะไร แล้วเราต้องตอบสนองเพื่อนอย่างไร เช่น เวลาเล่นปิ่งป่องแช่ เมื่อเราต้องเป่า ยิง ฉุบ แล้วเพื่อนออกกระดาษ เราออกกรรไกร (กรรไกรชนะกระดาษ) เราต้องสะบัดมือด้านบนเพราะเราชนะ ส่วนเพื่อนต้องสะบัดมือด้านล่างเพราะเป็นผู้แพ้ เป็นต้น
การตบแปะบางเกม เช่น "เป่า ยิง ฉุบ" และ "Street fighter" เราต้องออกท่าทางที่จะสามารถเอาชนะอีกฝ่ายได้
เกม ABC ที่จำเป็นต้องตอบสนองโดยออกท่าทางไม่ให้ตรงกับตัวอักษรที่ผู้พูดทันที เป็นการฝึกความไวของประสาทสัมผัส ซึ่งช่วยการกระตุ้นการคิดอย่างฉับพลัน ช่วยให้เด็ก ๆ ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
เกมตบแปะนับเลข คือ การตบแปะที่เบิ้ลไปเรื่อย ๆ จากครั้งแรกตบแปะเเค่ 1 ครั้ง รอบที่สอง 2 ครั้ง รอบที่สาม 3 ครั้ง และจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เกมไม่มีจุดสิ้นสุด มีแค่เพียงว่า คู่ใดสามารถตบแปะนับเลขได้ไปไกลกว่ากันเท่านั้นเอง ขณะที่ตบแปะ เราต้องจำจำนวนครั้ง เพื่อจะได้ตบแปะได้ตามจำนวนครั้งที่ถูกต้อง และเราต้องใช้สมาธิมหาศาลเพื่อให้ตบแปะอย่างรื่นไหล
เกมทำเหมือนกัน คือ เกมที่เพื่อนจะออกท่าทางให้เราทำตามให้เร็วที่สุด ถ้าเราทำช้า เราจะแพ้ ดังนั้นเมื่อเห็นท่าทาง เราต้องคิด ออกท่าให้ไว และเมื่อทำเสร็จเราต้องคิดท่าของเราที่ให้เพื่อนทำตามด้วย วนไปเรื่อย ๆ เกมจะจบเมื่อเราทำท่าซ้ำ หรือทำตามไม่ทัน หรือไม่เหมือนนั่นเอง
หรือ เกม “กรรไกร ไข่ ผ้าไหม” ซึ่งเราต้องร้องไปทำท่าพร้อมกันไป ถ้าเราคิดไม่เร็วพอ ท่าทางจะออกช้า และออกท่าไม่ทันคำร้องที่เราร้องอยู่นั่นเอง เกมนี้เด็ก ๆ ชอบแข่งกันว่าใครร้องและทำท่าได้เร็วกว่ากัน
เวลาเล่นเกมตบแปะ ส่วนใหญ่เราต้องใช้มือทั้งซ้ายและขวา ดังนั้นเมื่อเราใช้มือทั้งสองข้างในการออกท่าทาง และเคลื่อนไหวพร้อม ๆ กัน สหสัมพันธ์ซ้ายขวาเราจะดีขึ้น
ข้อดีของการมีสหสัมพันธ์ซ้ายขวาที่ดี คือ เราจะสามารถทำกิจกรรมที่ต้องใช้สองมือได้ดีขึ้น เช่น...
การกินข้าว (ใช้มือทั้งสองจับช้อนส้อม หรือ มีดส้อม หั่นอาหาร เขี่ยอาหารเข้าช้อน เป็นต้น)
การตัดกระดาษ (มือหนึ่งจับกรรไกรตัด มือหนึ่งจับกระดาษหมุนตามทิศทางการตัด)
การวาดรูป การเขียนหนังสือ (มือหนึ่งจับอุปกรณ์เครื่องเขียน มือหนึ่งจับกระดาษไว้ไม่ให้ขยับ)
การเล่นดนตรี และการเล่นกีฬาต่าง ๆ
เกมตบแปะอย่าง "นางเงือกน้อย" "ปิงป่องแช่" และอื่น ๆ สามารถสอนเด็ก ๆ ให้รู้จัก "ข้างหน้า ข้างหลัง ข้าง ๆ ซ้าย ขวา บน ล่าง” ได้อย่างดีเยี่ยม เพราะระหว่างเล่น เราต้องพูดด้วยว่า เราต้องตบตรงไหน เช่น “นางเงือกน้อยลอยไปลอยมา ตบชั้นบน (ตบมือข้างบน) ตบชั้นล่าง (ตบมือข้างหน้า) ตบข้างหลัง (เอาหลังมือตบเข้าหากัน) ตบข้างหน้า (เอาฝ่ามือตบเข้าหากัน) ตบพร้อม ๆ กัน”
เกมไข่แตก “ไข่ฟองหนึ่งตั้งอยู่บนโต๊ะ แตกดังโพล๊ะ เหลือไข่ฟอง)
เกมนางเงือกน้อย “ตบชั้นหนึ่ง ตบชั้นสอง ตบชั้นสาม”
เกมปลาฉลาม “1 2 3 ปลาฉลามขึ้นบก 4 5 6 จิ้งจกยัดไส้”
เด็กบางคนนับเลขไม่เป็น แต่พอมาเล่นเกมตบแปะเหล่านี้ กลับนับเลขได้ถูกต้อง และบวกลบเลขตามธรรมชาติ ได้โดยยังไม่รู้จักเครื่องหมาย +, - เลยเสียด้วยซ้ำ
เกมตบแปะส่วนใหญ่จะมีเนื้อร้องที่เป็นคำกลอนที่มีคำคล้องจองกันอยู่ ทำให้เรารู้จักคำศัพท์ใหม่ ๆ และฝึกการร้องเป็นจังหวะ ทักษะเหล่านี้เป็นพื้นฐานของการเล่นดนตรี การอ่านออกเสียงในภาษาไทย
นอกจากนี้ยังมีคำกลอนต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ ชอบร้องเล่น แต่คำกลอนเหล่านี้ช่วยเพิ่มคลังคำทางภาษา เช่น “ผู้ใหญ่ขายผ้าใหม่” “จ้ำจี้มะเขือเปราะแปะ" และ “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า” เป็นต้น
ทุกการเล่นตบแปะ เราจะผลัดกันนำ ผลัดกันตาม เมื่อถึงตามตัวเองเราจะนำเพื่อนออกท่าทาง และเมื่อถึงตาเพื่อนเราจะตั้งใจดูเพื่อนทำท่า
การเล่นตบแปะ มีแพ้มีชนะเป็นธรรมดา เด็ก ๆ ที่เล่นตบแปะจะได้รับรู้ว่า ตนเองแพ้ชนะอยู่สม่ำเสมอ เด็ก ๆ จึงยอมรับกับผลเหล่านี้ได้ โดยไม่สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง หรือ เก็บเอามาเป็นอารมณ์ เพราะเขาเล่นใหม่ได้เรื่อย ๆ
การเล่นตบแปะเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ขอแค่มีคนสองคนก็สามารถเล่นได้แล้ว สมัยก่อนเด็ก ๆ จึงเล่นตบแปะระหว่างรอเวลาเข้าเรียน รอพ่อเเม่ทำธุระ รอของกินในร้านอาหาร และระหว่างเดินทาง
“กรรไกร ชนะ กระดาษ, กระดาษ ชนะ ค้อน, ค้อน ชนะ กรรไกร”
“มือประกบกันแบบนี้เรียกว่า A มือกำไว้แบบนี้เรียกว่า B”
เด็กรู้จักใช้สัญลักษณ์เพื่อสื่อสาร และได้ใช้จินตนาการเพื่อสร้างการเชื่อมโยงระหว่างสัญลักษณ์กับของจริง
แม้การเล่นตบแปะจะใช้ทรัพยากรน้อยนิด กล่าวคือ แค่คนสองคน และมือเราเองสองมือ แต่คุณประโยชน์นั้นมีมากมาย ขอเพียงผู้ใหญ่หาเวลา วางหน้าจอลง และชวนเด็ก ๆ มาเล่นด้วยกัน
ไม่ว่าวันนี้จะมีเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมาย และเด็ก ๆ จะมีของเล่นแสนสวยราคาแพง แต่การเล่นตบแปะกับพ่อแม่ และเพื่อน ๆ ของเขาอาจจะเป็นความทรงจำที่จะติดตัวเขาไปจนโต เหมือนที่ตัวเราเองก็มีความทรงจำที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานจากการได้เล่นนี้เช่นกัน