573
ของเล่นไม่มีเพศ

ของเล่นไม่มีเพศ

โพสต์เมื่อวันที่ : July 28, 2021

"ของเล่น" ผู้ใหญ่หลายคนมักจะจับคู่เด็กชายกับของเล่นที่เป็นแนวเครื่องยนตร์กลไก เช่น รถยนต์ หุ่นยนต์ บล็อกไม้ ตัวต่อพลากสติก และหุ่นไดโนเสาร์ต่าง ๆ ในขณะที่เด็กผู้หญิงมักจะถูกจับคู่กับของเล่นที่เป็นแนวการดูแลผู้อื่นและงานบ้าน เช่น ตุ๊กตาเด็กทารก ครัวทำอาหารเด็กเล่น ชุดแต่งตัวตุ๊กตา และตุ๊กตาเจ้าหญิง เป็นต้น 

 

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วของเล่นไม่ควรถูกจัดประเภทตามเพศ แต่ควรจัดตามหมวดหมู่ เพราะของเล่นทุกประเภทสามารถส่งเสริมเด็ก ๆ ในด้านที่แตกต่างกันไป เด็กหญิงหรือเด็กชายไม่ควรถูกจำกัดให้เล่นของเล่นเพียงหมวดหมู่ใดหมวดหมู่หนึ่ง

 

 

Becky Francis ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัย Roehampton ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า ...“ของเล่นที่ผู้ใหญ่มักเลือกให้เด็กตามเพศของเด็ก อาจจะส่งผลต่อการเลือกแผนการเรียนและอาชีพในภายหลังได้ เนื่องจาก หากสังเกตดี ๆ ของเล่นที่ผู้ใหญ่มองว่าเป็นของเล่นของเด็กผู้ชาย เช่น ตัวต่อบล็อกต่าง ๆ รถยนต์ หุ่นยนต์ และไดโนเสาร์ เป็นต้น มักจะส่งเสริมด้านการคิดเชิงมิติสัมพันธ์และพัฒนาสมองให้พร้อมกับการเรียนในเชิงวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ในขณะที่ของเล่นของเด็กหญิง เช่น การเล่นตุ๊กตา ของเล่นครัว และเล่นทำผมตุ๊กตา มักส่งเสริมด้านการคิดเชิงสร้างสรรค์และพัฒนาสมองในส่วนของศิลปะ สังคมศาสตร์ และภาษาศาสตร์มากกว่า”...

 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีงานวิจัยใดที่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ...“การเล่นเพียงของเล่นตามเพศ จะส่งผลให้เด็กชายหรือเด็กหญิงไม่สามารถพัฒนาทักษะอื่น ๆ ได้”... แต่มีงานวิจัยมากมายที่ต้องการจะสร้างความตระหนักให้กับพ่อแม่ที่เลือกของเล่นให้กับลูกว่า ...“ไม่ควรปิดกั้นลูกในการเล่นของเล่นใด เพราะของเล่นแต่ละชิ้นสามารถส่งเสริมเด็ก ๆ ในพัฒนาการแต่ละด้านได้”...

ของเล่นไม่มีเพศ

“เด็กชายก็สามารถเล่นตุ๊กตาได้เช่นเดียวกับเด็กหญิง”

 

เมื่อไม่นานมานี้ “การศึกษาการทำงานของสมองของเด็กชายและเด็กหญิงวัย 4-8 ปี จำนวน 33 คน ขณะเล่นตุ๊กตา” ของนักประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟ (Hashmi, Vanderwert, Price, & Gerson, 2020) ทำให้ได้ค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญ พวกเขาค้นพบว่า สมองส่วน posterior Superior Temporal Sulcus (pSTS) ซึ่งเป็นบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เช่น ความเห็นอกเห็นใจ การเข้าอกเข้าใจผู้อื่น สมองส่วนนี้ได้รับการกระตุ้นขณะเด็ก ๆ เล่นตุ๊กตา

 

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเด็กหญิงหรือเด็กชาย เล่นคนเดียวหรือเล่นกับเพื่อน ผลที่ออกมานั้นไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ ...“เมื่อเด็กเล่นตุ๊กตา สมองส่วนนี้ได้รับการกระตุ้น ทำให้พวกเขามีแนวโน้มจะพัฒนาทักษะทางสังคมได้ดี เวลาเด็ก ๆ เล่นกับตุ๊กตา ตุ๊กตาเป็นเสมือนเพื่อนฝึกซ้อมสำหรับพวกเขา ก่อนที่จะได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในสังคมจริง ๆ”...

แม้ตุ๊กตาจะไม่มีชีวิต แต่ด้วยจินตนาการของเด็ก ๆ ทำให้ตุ๊กตาที่พวกเขาเล่นด้วยเป็นเสมือนเพื่อนคนสำคัญ ไม่ต่างอะไรกับเพื่อนที่เป็นคนจริง ๆ ทุกครั้งที่เด็ก ๆ ดูแลและเล่นกับตุ๊กตาของพวกเขาอย่างทะนุถนอม เด็ก ๆ ได้พัฒนาความอ่อนโยนในจิตใจของพวกเขา แม้ว่าจะเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง ความอ่อนโยนเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ใจดีกับตัวเอง และผู้อื่น 

 

...“เด็ก ๆ ที่มีความอ่อนโยน ไม่ได้แปลว่า พวกเขาอ่อนแอ แต่เป็นเด็ก ๆ ที่สามารถแข็งแกร่งและอ่อนโยนได้ในเวลาเดียวกัน”...

 

สุดท้าย ผู้ใหญ่ไม่ควรปิดกั้น แต่ควรเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ ผู้ใหญ่ไม่ควรสร้างทัศนคติให้กับเด็กว่า “เด็กชายหรือหญิงต้องชอบต้องเล่นอะไรเท่านั้น” ของเล่นที่เด็กเล่นไม่ควรถูกกำหนดให้เฉพาะเพศใดเพศหนึ่งเล่นได้เท่านั้น เด็กชายและเด็กหญิงทุกคนควรได้เล่นในสิ่งที่เขาสนใจ การที่เด็กชายชอบเล่นตุ๊กตา เขาอาจจะเติบโตเป็นเด็กชายที่อ่อนโยน และเข้าอกเข้าใจผู้อื่น การที่เด็กหญิงชอบเล่นตอกไม้ ไขน็อต เธออาจจะเติบโตเป็นเด็กหญิงที่ทะมัดทะแมง แก้ไขปัญหาได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นต้น

 

เมื่อผู้ใหญ่ปล่อยให้พวกเขาได้เล่นในแบบที่เขาชอบและสนใจ ตราบใดที่ไม่ทำให้ตัวเองและผู้อื่นเดือดร้อน และข้าวของเสียหาย เด็ก ๆ จะได้ค้นหาตัวตนของเขาระหว่างทาง ในวันที่เขาเป็นผู้ใหญ่ เขาจะค้นพบสิ่งที่ตัวเองอยากเป็นได้

 

อ้างอิง : Barford, V. (2014, January 27). Do children's toys influence their career choices? Retrieved February 28, 2021, from https://www.bbc.com/news/magazine-25857895

Hashmi, S., Vanderwert, R. E., Price, H. A., & Gerson, S. A. (2020). Exploring the Benefits of Doll Play Through Neuroscience. Frontiers in human neuroscience, 14, 413.