63
ทำไมปฐมวัยจึงเขียนยังไม่ได้ดี

ทำไมปฐมวัยจึงเขียนยังไม่ได้ดี

โพสต์เมื่อวันที่ : January 16, 2022

ร่างกายของเด็กปฐมวัย (Preschooler) ยังไม่สามารถพัฒนาและเติบโตได้เทียบเท่ากับร่างกายของเด็กวัยเรียน (School-aged) หรือวัยรุ่น-ผู้ใหญ่

(ภาพถ่าย X-ray ของมือเด็กก่อนวัยเรียน (2 ปี) เด็กวัยเรียน (7 ปี) และวัยผู้ใหญ่ คือ หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของร่างกายที่ชัดเจน)

ความแตกต่างร่างกายของวัย 2 ปี กับ 7 ปี

 

☞ กระดูกข้อมือของเด็กวัย 2 ปี

จะพบว่ากระดูกข้อมือยังเติบโตได้ไม่เต็มที่ กระดูกหลายชิ้นยังเป็นกระดูกอ่อน (Cartilage) ในขณะที่กระดูกข้อมือของเด็กวัย 7 ปี และวัยผู้ใหญ่นั้น พบว่ากระดูกข้อมือเติบโตจนเกือบเต็มบริเวณตามลำดับ

 

☞ ในมือของเด็กวัย 2 ปี ยังมีช่องว่างมากมาย

ทั้งในบริเวณฝ่ามือและข้อต่อของนิ้วมือที่รอให้กล้ามเนื้อกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue: เนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่ยึดเหนี่ยวหรือพยุงอวัยวะให้คงรูปอยู่ได้) ให้เติบโตเพื่อเติมเต็มช่องว่างเหล่านั้น ในขณะที่เด็กวัย 7 ปี และวัยผู้ใหญ่นั้น พบว่ากล้ามเนื้อมีการเชื่อมต่อกันอย่างชัดเจน ส่งผลให้ข้อมือและนิ้วมือต่าง ๆ มีความแข็งแรงมากขึ้นตามลำดับ

 

ด้วยเหตุนี้ ทำให้เด็ก ๆ ก่อนวัยเรียนหยิบจับอุปกรณ์และสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งควบคุมการขีดเขียนได้ไม่ได้เทียบเท่าเด็กวัยเรียนและผู้ใหญ่ เราจึงพบว่าเด็กเล็ก ๆ มักทำของหลุดมืออยู่เสมอ

 

ธรรมชาติของพัฒนาการมนุษย์

การเติบโตของเด็ก ๆ มักจะพัฒนาจากสิ่งที่มีขนาดใหญ่ไปสู่สิ่งที่มีขนาดเล็กเสมอ

 

ยกตัวอย่างเช่น

"กล้ามเนื้อมัดใหญ่ควรพัฒนาก่อนกล้ามเนื้อมัดเล็ก"

เด็ก ๆ ควรมีกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ได้แก่ แขน ขา และแกนกลางลำดัว เพื่อที่เขาจะสามารถนั่งอย่างมั่นคง เคลื่อนไหวร่างกายด้วยการเดิน การวิ่ง การขึ้นบันได และจึงไปปีนป่ายสิ่งต่าง ๆ อย่างคล่องแคล่ว ก่อนที่เขาจะพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ได้แก่ มือและนิ้วทั้งสิบของเขา ในการหยิบจับสิ่งต่าง ๆ และจับอุปกรณ์เพื่อขีดเขียน ตัด และอื่น ๆ

 

"เด็กๆ สามารถหยิบจับสิ่งที่มีขนาดใหญ่ก่อนขนาดเล็ก"

เช่น... ลูกบอลขนาดใหญ่ ⇢ ก่อนขนาดเล็ก

บล็อกไม้ชิ้นใหญ่ ⇢ ก่อนตัวต่อพลาสติกขนาดเล็ก

สีเทียนหรือดินสอขนาดใหญ่ ⇢ ก่อนดินสอขนาดเล็ก

ตัวต่ออันใหญ่ ⇢ ก่อนตัวต่อจิกซอว์ขนาดเล็ก

ติดกระดุมเม็ดใหญ่ ⇢ ก่อนติดกระดุมเม็ดเล็ก เป็นต้น

 

การรับรู้สัญลักษณ์ที่มีขนาดใหญ่และไม่ซับซ้อน

ก่อนขนาดเล็กที่มีจำนวนมากและซับซ้อน ดังนั้นหากเรียงลำดับตามความง่าย-ยาก เด็กจะรับรู้เส้น-รูปทรง-ตัวเลข-ตัวอักษรภาษาอังกฤษพิมพ์ใหญ่-ตัวอักษรภาษาอังกฤษพิมพ์เล็ก-ตัวอักษรภาษาไทย

 

การเตรียมความพร้อมร่างกายก่อนการเขียน

ซึ่งการเขียนหรือการใช้อุปกรณ์ที่ต้องใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลางในการจับประคองและเคลื่อนไหว เด็ก ๆ จำเป็นต้องมีข้อต่อและกล้ามเนื้อที่แข็งแรงพร้อมใช้งาน ด้วยเหตุนี้การเตรียมความพร้อมเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อนั้นมีความจำเป็นสำหรับเด็กปฐมวัย เราไม่ควรให้เด็กเริ่มจากการเขียน แต่ควรเริ่มจากการเล่น

เริ่มต้นทำกิจกรรมพัฒนาเด็กเมื่อไหร่ดี ?

กิจกรรมควรเลือกตามความเหมาะสมของเด็กแต่ละวัยและความพร้อมของเด็กแต่ละคน ซึ่งโดยส่วนใหญ่เด็กวัยประมาณ 7-8 เดือนสามารถนั่งทำกิจกรรม เอี้ยวตัวใช้มือเล่นอย่างอิสระ เริ่มหยิบคว้าของ แต่ยังไม่ได้ทำกิจกรรมที่ซับซ้อนมากนัก ได้แก่ การเล่นเครื่องดนตรีเขย่า (กรุ้งกริ้ง/ถั่วใส่ขวดเขย่า/shaker ต่าง ๆ) การเล่นของเล่น(ตามวัย)อิสระ แล้วสอนให้เขาเก็บของเข้าที่/เข้ากล่อง เป็นกิจกรรมฝึกฝนที่ง่ายที่สุด

 

ตัวอย่างกิจกรรมที่สำคัญ

 

❍ ปั้น

เราสามารถไล่ระดับจากสิ่งที่นิ่ม-แข็งได้ เช่น แป้งโดว์-ดินน้ำมัน-ดินเหนียวให้เด็ก ๆ ได้กด นวด บีบ ดึง ค้นหากิจกรรมที่สามารถทำได้ เช่น การซ่อนของไว้ในแป้งโดว/ดินน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นหิน ลูกแก้ว โมเดลพลาสติก ให้เด็ก ๆ หา การเล่นบทบาทสมมติ ทำเค้ก ทำรางรถ และอื่น ๆ

 

❍ ฉีก-ตัด-แปะ

เราสามารถเริ่มจากการให้เด็ก ๆ ใช้มือเล็ก ๆ ของเขาฉีกกระดาษ ฉีกดินน้ำมัน ก่อนที่จะเขยิบไปสู่การใช้กรรไกร กิจกรรมที่สามารถทำได้ ฉีกกระดาษ แปะกาว สร้างสรรค์งานศิลปะตามใจชอบ หรือผู้ใหญ่จะวาดเป็นรูปต่าง ๆ แล้วให้เด็ก ๆ แปะกระดาษที่ฉีกจนเต็มก็ได้เช่นกัน ผลลัพธ์ที่ได้จะคนละแบบ แบบตามใจชอบเด็กจะได้ทำตามจินตนาการ และแบบที่ทำตามโจทย์ เด็ก ๆ จะได้ฝึกความอดทน ทำตามกติกา ซึ่งทั้งสองแบบจำเป็นสำหรับการฝึกฝนทั้งคู่

 

❍ ปัก-เจาะ

เราสามารถให้เด็ก ๆ ฝึกเจาะกล่องนมด้วยหลอดเอง หรือจะนำหลอด เทียนเล่มเล็ก ไม้ตะเกียบให้เด็ก ๆ ฝึกเจาะกับทราย แป้งโดว์ ก็ได้เช่นกัน กิจกรรมที่สามารถทำได้ การเล่นเป่าเค้ก ปักเทียนบนแป้งโดว์ แล้วได้จุดเทียน เป่าเค้ก การเล่นปลูกต้นไม้ นำกิ่งไว้มาปักลงบนดิน ทราย แป้งโดว์

 

❍ ขุด-ฝัง

การเล่นทรายหรือดิน สามารถเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อมัดเล็ก-กระดูก ได้อย่างดี เพราะเมื่อเด็ก ๆ ลงมือขุด หรือใช้อุปกรณ์ตักทรายหรือดิน พวกเขาได้ออกแรงในบริเวณเหล่านี้ กิจกรรมที่สามารถทำได้ การขุดหา-ซ่อนสมบัติ การปลูกต้นไม้จริง ๆ

 

❍ บีบ/บิด-คั้น

เราสามารถให้เด็ก ๆ ได้บีบ-คั้น โดยการให้พวกเขามาช่วยเราบิดผ้าหลังการซักเพื่อนำไปตาก บีบน้ำออกจากฟองน้ำ เวลาล้างจานหรือล้างรถ การคั้นน้ำส้มจากส้ม บีบมะนาว ถ้าหากเรามีอุปกรณ์เช่น ที่หยดน้ำ (Dropper) เราสามารถให้เด็ก ๆ ใช้เล่นกับน้ำได้

 

❍ สร้าง

เราสามารถไล่ระดับจากสิ่งที่ซับซ้อนและออกแรงมากได้ เช่น การต่อบล็อกไม้-ตัวต่อพลาสติกขนาดใหญ่หรือเลโก้ขนาดใหญ่ (Duplo) ตัวต่อพลาสติกขนาดเล็กหรือเลโก้ขนาดเล็ก (Classic)

 

❍ แกะ-ติด

การแกะสติกเกอร์ การแกะกล่อง-เปิดฝา การแกะของขวัญ-ห่อของขวัญ (ตามใจชอบ)

 

❍ ร้อย-ต่อ

ร้อยลูกปัด ต่อโซ่ ต่อจิกซอว์

 

❍ เล่น-เก็บของเล่น

การเล่นของเล่นตามจินตนาการของเด็ก ๆ การหยิบจับของเล่น และเล่นกับของเล่น สามารถส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็กและความแข็งแรงให้กับร่างกายของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี

 

 

❍ ละเลง-ระบายสี

เราสามารถไล่ระดับจากการละเลงสี ในขั้นนี้เตรียมพื้นที่และกระดาษใหญ่ให้กับเด็ก ๆ ได้ละเลงสี ต่อมาจึงเริ่มเป็นในกระดาษขนาดเล็กลง ๆ และสุดท้ายจึงจะเป็นการระบายในเส้นกรอบ ทั้งนี้กิจกรรมควรมีควบคู่กัน ทั้งปล่อยระบายตามจินตนาการ และการระบายเพื่อควบคุมและสร้างความทนทานให้กับกล้ามเนื้อมัดเล็ก

 

ช่วงแรก ๆ แม้จะทำไม่ได้ ไม่เป็นไร ฝึกฝนวันละนิดจะทำได้ดีขึ้น ๆ อย่าคาดหวังว่าต้องได้เมื่อไหร่ แต่ให้เกิดการลงมือทำสม่ำเสมอ เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของพัฒนาการเด็ก ๆ เราจะเข้าใจและเติมเต็มให้กับพัฒนาในแต่ละขั้น โดยไม่คาดหวังพวกเขาเกินวัยหรือเผลอพรากบางสิ่งสำคัญไปจากพวกเขา

 

อ้างอิง

Science Photo Library (2021, May 4) Hand development x-ray [Photograph] Science Photo Library https://wwwsciencephotocom//view/hand-development-x-ray