1051
3 ข้อง่าย ๆ ลูกโวยวายน้อยลง

3 ข้อง่าย ๆ ลูกโวยวายน้อยลง

โพสต์เมื่อวันที่ : February 21, 2024

 

หลายบ้านมักสั่ง, ดุ, ขู่, ตีให้ลูกเงียบ แม้เสียงลูกจะเบาลงจริง แต่ใจลูกไม่ได้เย็นลงตาม เด็ก ๆ ไม่สามารถใจเย็นหรือสงบใจได้ด้วยวิธีการเหล่านี้

 

จริง ๆ แล้ว เด็กมีศักยภาพในการจัดการอารมณ์ตนเอง โดยไม่ต้องมีคนสั่ง หากมีประสบการณ์สงบเองมาก่อนหลาย ๆ ครั้ง และเมื่อเด็กสงบเอง เด็กจะฟังที่พ่อแม่สอน ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ลูกจะค่อย ๆ สงบลงอย่างช้า ๆ ไม่ต้องรีบ, ไม่ต้องกลัว อาจใช้เวลานาน แต่นั่นคือประสบการณ์อันมีค่าที่ลูกต้องมี พ่อแม่จึงไม่ควรรีบร้อนอยากให้ลูกเงียบเสียงเร็ว 

 

แต่หลายครั้ง พ่อแม่ทนฟังเสียงลูกไม่ได้ บางคนรู้สึกสงสารลูก บางคนได้ยินเสียงลูกร้องไห้ แล้วรำคาญเกิดความรู้สึกโกรธ ถ้าเช่นนั้น คนที่ควรถูกจัดการก่อนควรเป็นเรา ขอให้หันมาโฟกัสที่ใจตนเอง หายใจเข้า-ออกลึก ๆ ช้า ๆ จนกว่าจะใจเย็น แล้วถึงค่อยช่วยลูก

 

 

เปลี่ยนเสียงโวยวายลูกให้เป็นคำพูด

 

▶︎ 1. ให้พ่อแม่แสดงความเข้าใจลูกและสอนลูกให้บอกความรู้สึก

“หนูโกรธใช่มั้ยลูก ไหนบอกแม่ซิว่าโกรธอะไร ?” (ให้ลูกเปลี่ยนจากอารมณ์ล้วน ๆ ตั้งสติและพูด) หากลูกไม่สนใจที่แม่บอกเลย ลองช่วยลูกนึกคำ
“หนูโกรธที่ตั้งของเล่น แล้วมันล้มบ่อย ๆ ใช่มั้ย ?” (บางครั้งเด็กก็นึกไม่ออกว่าต้องพูดอะไร) ถ้าลูก “พยายามสงบและพูดตาม” แม้จะไม่เงียบทันทีก็ต้องชื่นชมลูก “ลูกพูดแบบนี้ แม่เข้าใจกว่าเยอะเลยจ้ะ”

 

ถ้าลูก “ไม่พูดแต่พอจะสงบบ้าง” สอนให้ลูกพูดความรู้สึก โดยเราใช้ I Message “แม่อยากให้ลูกพูดดี ๆ ให้ฟังว่า ลูกแม่โกรธอะไร” ถ้าลูกพูด เช่น “หนูโกรธที่มันล้มบ่อย ๆ” ก็ต้องชื่นชมลูกค่ะ “ลูกพูดแบบนี้ แม่เข้าใจกว่าเยอะเลยจ้ะ” ยิ้มให้ลูก

 

 

▶︎ 2. ให้พ่อแม่สอนลูกบอกความต้องการ หลังจากบอกความรู้สึกแล้ว

“แล้วลูกอยากให้แม่ช่วยอะไรจ้ะ ?” หากลูกเงียบ ไม่พูด ลองช่วยลูกนึกคำ
“หนูอยากให้แม่ช่วยให้มันไม่ล้ม ใช่มั้ย ?” (บางครั้งเด็กก็นึกไม่ออกว่าต้องพูดอะไร)

 

อย่าลืมให้ลูกพูดออกมาเอง อย่าเพียงยอมรับการพยักหน้านะคะ ลูกจะได้นึกคำออกในครั้งต่อไป เด็กจะทำได้เองจริง ก็เมื่อ มีประสบการณ์ทำเองมาก่อน (ไม่เช่นนั้น ครั้งหน้าก็จะรอแม่ถาม และพยักหน้าเหมือนเดิม)

 

 

▶︎ 3. ถ้าลูกโวยวายตลอดเวลา ไม่ทำเลยตั้งแต่ข้อ 1 และ 2

บอกลูกว่า “แม่ฟังลูกไม่รู้เรื่องจริง ๆ แม่จะรอลูกสงบแล้วคุยนะคะ” แล้วเราก็รอลูกสงบด้วยใจเมตตา พอลูกสงบก็มาเริ่มที่ข้อ 1 และ 2 นะคะ

 

คุณพ่อคุณแม่เห็นมั้ยคะว่า กว่าจะเพิกเฉยลูก ให้ลูกสงบเอง พ่อแม่พยายามช่วยลูกสื่อสารตั้งแต่ข้อ 1 และ 2 มาแล้ว ดังนั้นการเพิกเฉยไม่ใช่การทอดทิ้ง แต่คือการให้โอกาสลูกสงบเองหลังจากที่ลูกไม่ผ่านด่าน 1 และ 2 ซึ่งสะท้อนว่า “ลูกไม่สามารถจัดการอารมณ์ตนเองได้แม้แต่นิดเดียว” (อ่านรายละเอียดในบทความ “เทคนิคเพิกเฉยทำอย่างไร ลูกไม่รู้สึกถูกทิ้ง")

 

ลูกไม่ต้องพึ่งพิงการโอ๋ และไม่ต้องถูกดุถึงเงียบ พ่อแม่ต้องให้โอกาสลูกมีประสบการณ์เงียบเอง แล้วลูกจะสามารถเปลี่ยนเสียงโวยวาย เป็นคำพูดสื่อความรู้สึกและความต้องการได้