Little Monster Family : ผลแพ้-ชนะ
โพสต์เมื่อวันที่ : March 1, 2022Silo กับเพื่อน ๆ เล่นเกมเศรษฐีกัน ระหว่างเล่นคู่แฝด Si กับ Am ที่มีเงินในมือน้อยนิดจับได้การ์ดที่ทำให้พวกเขาต้องหยุดเล่นหนึ่งตา ทำให้ทั่งคู่ไม่พอใจที่ตัวเองกำลังแพ้ จึงทำให้คู่แฝดเลือกที่จะหยุดเล่น และบอกว่าเป็นเพราะเกมนี้น่าเบื่อ
เพื่อน ๆ จึงพูดย้อนกลับไปว่า เป็นเพราะทั้งคู่กำลังจะแพ้ใช่ไหม เลยไม่อยากเล่นต่อ คู่แฝดปฏิเสธทันที แล้วยังบอกเพื่อน ๆ อีกว่า พวกเขามีเกมเศรษฐีที่เจ๋งกว่าเกมนี้อีก ให้เพื่อนมาเจอพวกเขาวันเสาร์เพื่อเล่นเกมที่เจ๋ง ๆ นี้ เพื่อน ๆ จึงรับคำ และไปเจอคู่แฝดที่บ้านในวันเสาร์
คู่แฝดได้ทำให้เกมเศรษฐีกลายเป็นเกมมหาเศรษฐีด้วยการทำให้บอร์ดเกมขนาดเล็กกลายเป็นบอร์ดเกมขนาดใหญ่เท่าคนจริง ๆ เมื่อเพื่อน ๆ เห็นก็รู้สึกตื่นเต้นและอยากเล่นทันที การเล่นเกมมหาเศรษฐีจึงเริ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเล่นไปเล่นมา คู่แฝดก็เริ่มเล่นได้ไม่ดีตามเคย พวกเขามักจะจับได้การ์ดที่ต้องจ่ายค่าปรับหรือหยุดเล่นหนึ่งตา ในขณะที่เพื่อน ๆ มักจะได้การ์ดดี ๆ อย่างเช่น ได้รับเงินโบนัส หรือ ได้สร้างบ้าน เป็นต้น
ระหว่างที่เล่น อยู่ ๆ ฝนก็ตกลงมาอย่างหนักทำให้บอร์ดเกมมหาเศรษฐีขนาดยักษ์พังทลายลงมา เพื่อน ๆ ต่างยืนมองอย่างเสียดาย แต่ Silo กลับหัวเราะขึ้นมาเสียอย่างนั้น เพื่อน ๆ ถาม Silo ว่า เขาหัวเราะทำไม Silo ตอบกลับว่า ก็เพราะว่าทุกอย่างถูกทำลายเกลี้ยงเลยน่ะสิ เพื่อน ๆ จึงนึกขึ้นได้ว่า ที่ผ่านมาตอนที่คู่แฝดได้การ์ดไม่ดี หรือ กำลังจะแพ้ พวกเขาก็หัวเราะเยาะ โดยที่ไม่เข้าใจความรู้สึกของทั่งคู่เลย เหมือนตอนที่ฝนตกลงมาจนบ้านที่เขาสร้างในเกมพัง พวกเขาก็รู้สึกแย่เช่นกัน
เพื่อน ๆ กล่าวขอโทษกับคู่แฝดที่หัวเราะเยาะตอนที่คู่แฝดเล่นได้ไม่ดี ในขณะเดียวกันคู่แฝดก็ขอโทษเพื่อน ๆ เช่นกันที่พวกเขาโกรธที่กำลังจะแพ้ เรื่องก็จบลงด้วยดี
“ความพยายาม” สำคัญกว่า “ผลลัพธ์”
ในการ์ตูนตอนนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า คู่แฝดกลัวการพ่ายแพ้ จึงปฏิเสธที่จะเล่นเกมต่อ ในขณะเดียวกันเพื่อน ๆ ก็อาจจะทำไม่ถูกที่เผลอไปหัวเราะคู่แฝดที่เล่นเกมได้ไม่ดีนัก แทนที่จะให้กำลังใจกันและกัน การที่เด็ก ๆ จะเรียนรู้และยอมรับผลแพ้ชนะได้ ก็ต่อเมื่อพวกเขาได้รับรู้ถึงคุณค่าภายในตัวเองอย่างมั่นคง และเรียนรู้ว่า “ความพยายาม” สำคัญกว่า “ผลลัพธ์” เสมอ
ผู้ใหญ่ควรให้คุณค่ากับ “ความพยายาม” และ "การพัฒนาตนเอง" มากกว่า “ผลแพ้-ชนะ”
เพราะ ผล “แพ้” หรือ “ชนะ” ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันคุณค่าในตัวเด็ก ๆ และไม่ได้ทำให้คุณค่าในตัวเขาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะ “คุณค่า” ที่แท้จริงเกิดจาก “การรับรู้ถึงความสามารถของตนเอง” “ความพยายาม” และ “การไม่ยอมแพ้”