"เด็กพลังล้นเหลือ" ปรับให้พอดี เรียนรู้ที่จะช้าลง
ธรรมชาติของเด็ก คือ มนุษย์ที่อยู่ในช่วงวัยที่ทุกอย่างเกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เด็ก ๆ เคยสงสัยไหมคะว่า ทำไมพ่อแม่ชอบห้ามบ่อย ๆ เด็กหลายคนอาจคิดว่าพ่อแม่ใจร้ายที่ไม่ยอมให้ลูกเล่นต่อ, หรือคิดว่าพ่อแม่คงมีความสุขที่ได้ขัดใจลูก ความจริงแล้ว ไม่มีพ่อแม่คนไหนรู้สึกดีที่ขัดใจลูกเลย และหลายคนรู้สึกอึดอัดใจด้วยซ้ำ
การไม่ตามใจลูกและการสั่งห้ามลูกนั้น เกิดจากความหวังดีของพ่อแม่ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยค่ะ พ่อแม่ทุกคนไม่ต้องการให้ลูกมีอันตราย, อยากให้ลูกรับผิดชอบตัวเองเป็น และเป็นคนดีของสังคมด้วย พ่อแม่จึงต้องสั่งสอนลูกค่ะ
แต่สำหรับเด็ก ๆ แล้ว คำสอนของพ่อแม่นั้นน่าเบื่อ และไม่สนุกเอาเสียเลย เด็ก ๆ ชอบความสนุกสนาน ความตื่นเต้นผจญภัยมากกว่า เหมือนอย่างที่ Silo และเพื่อน ๆ ตื่นเต้นกับสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของคุณพ่อ Silo การท่องอวกาศเสมือนจริงเปิดโลกให้เด็ก ๆ มาก, ได้เห็นดาวเสาร์ที่มีวงแหวนล้อมรอบ, เห็นดาวพฤหัสบดีซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุด มันชัดเจนมากกว่าภาพในหนังสือเยอะเลย
ความสนุกและตื่นเต้นทำให้เด็ก ๆ ยับยั้งใจตนเองไม่ได้ ทั้ง Strong และ Smally อยากสนุกและตื่นเต้นต่อ ทำให้ Silo ยอมฝ่าฝืนคำสั่งคุณพ่อ มีแต่เพียง Sonya เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย แต่ไม่รู้จะทำยังไงดี
เด็ก ๆ ที่ดูอยู่ เห็นผลลัพธ์ของการไม่เชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่แล้วนะคะ Silo และเพื่อน ๆ ต้องตกอยู่ในอันตรายหลายต่อหลายครั้ง แต่ยังโชคดีที่คุณพ่อกลับเข้ามาในบ้านทันเวลาพอดี จึงสามารถช่วยเด็ก ๆ ให้ปลอดภัยได้ เฮ้อ โล่งอกไปที
แต่รู้ไหมคะ เด็กหลายคนอาจไม่โชคดีเหมือนอย่าง Silo และเพื่อน ๆ ก็ได้ บางครั้งก็ไม่มีใครมาช่วยเราได้ทันการ ทางที่ดีเด็ก ๆ ควรเชื่อฟังพ่อแม่ไว้ก่อน และหากอยากรู้เหตุผล เราก็ถามคุณพ่อคุณแม่ได้ค่ะ เช่น ถามว่า “ทำไมถึงกดปุ่มนี้ไม่ได้ล่ะครับ” หรือ “กดแล้วจะมีอะไรเกิดขึ้นเหรอครับ” หมอคิดว่า ถ้า Silo และเพื่อน ๆ ได้ฟังเหตุผลของคุณพ่อ ก็คงไม่กล้าขัดคำสั่งและไม่ต้องตกอยู่ในอันตรายแบบนี้
การถามเหตุผลจากคุณพ่อคุณแม่ หมออยากให้เด็ก ๆ ถามเพราะอยากรู้เหตุผลจริง ๆ ไม่ใช่ถามเพราะเอาแต่ใจ เด็ก ๆ ต้องพยายามควบคุมอารมณ์ตัวเอง ไม่งอแง หรือควรรอให้หายงอแงก่อนแล้วค่อยถามค่ะ
เมื่อคุณพ่อคุณแม่พูด ก็ต้องตั้งใจฟังคำอธิบายด้วย เพราะอะไรหมอถึงให้รอจนหายงอแงก่อน ก็เพราะช่วงที่เด็ก ๆ ไม่โกรธแล้ว สมองจะเปิดรับฟังเหตุผลได้ดีมาก ๆ คราวนี้ เราก็จะกลายเป็นเด็กมีเหตุผล พูดคุยรู้เรื่อง พ่อแม่จะภาคภูมิใจในตัวเด็ก ๆ ค่ะ
คำตอบก็คือ “ตด” มีองค์ประกอบของก๊าซหลายชนิด และมีอยู่ 2 ชนิดที่ติดไฟได้ นั่นก็คือ ก๊าซมีเทนและก๊าซไฮโดรเจน เมื่อ Smally และเพื่อน ๆ อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ไอร้อนจากดวงอาทิตย์ทำให้ก๊าซมีเทนลุกเป็นไฟได้ค่ะ แต่อย่ากังวลไปนะคะว่าตดของเด็ก ๆ จะลุกเป็นไฟ มันต้องมีประกายไฟมากระตุ้นด้วยค่ะ เรายังตดได้ปลอดภัยอยู่นะคะ
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ดูการ์ตูนตอนนี้จบแล้วจะเห็นว่า แม้ลูกจะรับปากอย่างดี แต่เด็กก็คือเด็กค่ะ ความสามารถในการยับยั้งชั่งใจนั้นน้อยกว่าผู้ใหญ่มากมาย ลูกสามารถผิดสัญญาได้เสมอ ดังนั้น อย่ามั่นใจคำพูดของลูก จนปล่อยให้อยู่กับสิ่งที่อาจเกิดอันตรายตามลำพังนะคะ ทักษะการกำกับตนเอง เป็นทักษะสมอง EF ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนา และกว่าจะพัฒนาได้เต็มที่ก็ประมาณอายุ 20-25 ปี ระหว่างนี้ก็ค่อย ๆ ฝึกลูกไปค่ะ