การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้คนจำนวนมาก ในระดับสถาบันครอบครัว คนเป็นพ่อแม่ประสบปัญหาเรื่องรายได้ เศรษฐกิจของครอบครัวหยุดชะงัก รายได้ลด หรือต้องตกงาน ฯลฯ
ในขณะที่เด็กเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน พวกเขาอยู่ในสภาวะทางอารมณ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวล ความเครียด ฯลฯ ส่วนหนึ่งก็เพราะรับรู้สภาพปัญหาของครอบครัว อีกส่วนก็ต้องเผชิญกับการเรียนออนไลน์ ที่ทำให้ไม่ได้เจอเพื่อน หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ
เด็กแต่ละช่วงวัยมีความแตกต่างกัน เด็กเล็กพ่อแม่มักจะประกบหรือไม่ก็ต้องพยายามหาทางช่วยเหลือให้ลูกสามารถเรียนผ่านออนไลน์ ซึ่งก็ยังใกล้ชิดและสามารถจัดการปัญหาได้ในระดับสำคัญ
ในขณะที่เด็กวัยรุ่น พ่อแม่มักจะปล่อยให้เขาเรียนออนไลน์โดยลำพัง ยิ่งถ้าบ้านไหนมีลูกหลายวัย ขณะที่พ่อแม่ก็ต้อง Work From Home ด้วย อาจจะหนักหน่อย ก็ต้องให้ลูกวัยรุ่นดูแลตัวเองเป็นหลัก
ประเด็นก็คือ เด็กส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาความเครียด แต่เด็กทุกคนไม่สามารถรับมือกับความเครียดได้เหมือนกัน บางคนรับมือได้ดี แต่บางคนไม่สามารถรับมือได้
นางเฮนเรียตตา โฟร์ ผู้อำนวยการบริหารองค์การยูนิเซฟ กล่าวไว้ว่า ด้วยมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่จำกัดการเดินทาง ทำให้ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานสำหรับทุกคน โดยเฉพาะสำหรับเด็ก ๆ วันแล้ววันเล่าพวกเขาไม่ได้พบกับเพื่อนและอยู่ห่างไกลคนที่รัก หรือบางคนอาจต้องอยู่ร่วมกับสมาชิกในบ้านที่ใช้ความรุนแรง ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบมหาศาล เด็กจำนวนมากต้องอยู่ในบ้านด้วยความกลัว โดดเดี่ยว กระวนกระวาย และวิตกกังวลต่ออนาคต ดังนั้น เราต้องผ่านวิกฤตนี้พร้อมกับการจัดการปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นที่ดีกว่าเดิม โดยเริ่มจากการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ผลสำรวจในประเทศไทยของยูนิเซฟในเดือนเมษายน 2563 พบว่า เด็กและเยาวชนกว่า 7 ใน 10 คน ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ พวกเขามีความเครียด และวิตกกังวล โดยเรื่องที่พวกเขากังวลมากที่สุดคือ "ปัญหาการเงินของครอบครัว" ขณะนี้การแพร่ระบาดทั่วโลกของโควิด-19 ได้เข้าสู่ปีที่ 2 และกำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและสุขภาวะโดยรวมของเด็กและเยาวชนอย่างมาก
ก่อนการแพร่ระบาด เด็กและเยาวชนจำนวนมากก็เผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว โรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางจิตครึ่งหนึ่ง มักจะก่อตัวขึ้นก่อนอายุ 15 ปี ขณะที่ร้อยละ 75 เกิดขึ้นในช่วงผู้ใหญ่ตอนต้น แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายราว 800,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน การทำร้ายตัวเองยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสามในกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปี และมีการคาดการณ์ว่า เด็ก 1 ใน 4 คนทั่วโลกอาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่มีปัญหาสุขภาพจิต
❤︎ 1. บอกความจริง ❤︎
พ่อแม่ผู้ปกครองควรรับมือปัญหานี้ด้วยการพูดคุยกับลูกตรง ๆ เล่าให้ลูกฟังว่ากำลังเผชิญปัญหาอะไร แนวทางการดูแลตัวเองที่ถูกต้องคืออะไร สถานการณ์ของพ่อแม่เป็นอย่างไร และครอบครัวต้องช่วยกันอย่างไร เพื่อทำให้ลูกได้รับรู้และคลายความวิตกกังวล รวมถึงวิธีที่จะช่วยกันอย่างไรจึงจะผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้
❤︎ 2. เสริมพลังบวกสร้างกำลังใจ ❤︎
การปิดโรงเรียนทำให้งดกิจกรรมสันทนาการในโรงเรียนไปด้วย เด็กหลายคนรู้สึกผิดหวังที่ไม่ได้ทำกิจกรรมที่ตั้งใจไว้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำหน้าที่ในการปลอบโยน และคอยให้กำลังใจ ให้ลูกอดทน และบอกกับลูกเสมอว่า หากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 สงบลง ลูกก็จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ พยายามหลีกเลี่ยงคำพูดด้านลบ หรือแสดงความคิดเห็นในเชิงลบต่อปัญหา พยายามใช้คำพูดด้านบวกและชี้ให้ลูกเห็นถึงคุณค่าของตัวเอง ทุกคนล้วนมีปัญหา แต่ต่างกันตรงที่จะแก้ปัญหาแบบมีสติได้อย่างไร
❤︎ 3. อย่าเล็งผลเลิศเรื่องการเรียน ❤︎
พ่อแม่ต้องคิดเสมอว่าการเรียนออนไลน์อาจจะไม่เต็มร้อย เพราะเด็กอาจจะขาดความตั้งใจเรียนไปบ้างหรือสมาธิลดลง ไปจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา แม้แต่ผู้ใหญ่เองเวลามีประชุมออนไลน์ก็ยังขาดสมาธิบ้าง
❤︎ 4. ทำกิจกรรมร่วมกัน ❤︎
พยายามหากิจกรรมทำร่วมกันในครอบครัว เช่น ทำอาหารร่วมกัน เล่นเกม หรือปลูกต้นไม้ เป็นการให้ลูกได้เปลี่ยนอิริยาบถ และหลุดออกจากสภาพการณ์ที่ไม่ชอบ
❤︎ 5. สร้างความมั่นคงทางจิตใจ ❤︎
เมื่อพ่อแม่มีความวิตกกังวล ลูกก็อาจจะรับเอาอารมณ์ความรู้สึกของพ่อแม่ ฉะนั้นพยายามจัดการกับความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นและอย่าส่งต่อความกลัวไปให้กับลูก เด็ก ๆ จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ในแง่ของการสร้างความรู้สึกที่มั่นคงและปลอดภัย ซึ่งในช่วงสถานการณ์วิกฤตยิ่งมีความสำคัญ
❤︎ 6. รับฟังด้วยหัวใจ ❤︎
ควรจะสร้างบรรยากาศให้ลูกคิดเสมอว่าพ่อแม่พร้อมรับฟังเขาทุกเมื่อ ที่สำคัญต้องรับฟังด้วยหัวใจ เพราะเด็กสัมผัสได้ว่าพ่อแม่รับฟังเขาด้วยความตั้งใจ เข้าใจ หรือรับฟังเฉย ๆ ในยามลูกทุกข์ การรับฟังด้วยหัวใจมีความสำคัญมาก ตรงกันข้ามถ้าเขาไม่สามารถพูดคุยหรือระบายให้คนในครอบครัวได้ ก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้
❤︎ 7. สังเกตพฤติกรรมของลูก ❤︎
ถ้าพ่อแม่สังเกตหรือสัมผัสได้ถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของลูกได้เร็ว ก็จะทำให้มีโอกาสรับมือและพยายามหาทางช่วยเหลือได้ทันท่วงที แต่หากปล่อยอาการเหล่านี้ทิ้งไว้ หรือไม่ตระหนักต่อปัญหาต่าง ๆ โอกาสที่จะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นก็เป็นได้
และหากเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว อาการของเด็กจะแย่กว่าเด็กปกติ ดังนั้นในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ผู้ปกครองต้องหมั่นคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เมื่อลูกตกอยู่ในสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ พ่อแม่หรือผู้ใกล้ชิดต้องไม่ปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียว ต้องแสดงให้เขารู้ว่าพ่อแม่รักและห่วงใยเขาเสมอ ทั้งพร้อมจะยืนเคียงข้างเขาทุกเมื่อ
...”ช่วงโควิด-19 เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ของทุกคน”...