814
เพราะลูกไม่ได้น่ารักตลอดเวลา

เพราะลูกไม่ได้น่ารักตลอดเวลา

โพสต์เมื่อวันที่ : May 18, 2022

...”การเถียงคำไม่ตกฟาก หัวรั้น”...

...“การทำหูทวนลม”...

...“การไม่ยอมอาบน้ำ ไม่ยอมแปรงฟัน”...

...“การฝืนไม่ยอมนอน เล่นไม่เลิก”...

...“หรือการทะเลาะกันของพี่น้อง”...

 

เหล่าพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกนี้ ถือคือ “เรื่องปกติ” ที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องพบเจอในการเลี้ยงลูก ทั้งที่รู้ แต่พ่อแม่อย่างเราก็มักถูกยั่วโมโหจนทำให้ขาดสติ ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่อยู่บ่อยครั้ง และเมื่อเกิดการขาดสติ เราอาจแสดงออกซึ่งอารมณ์รุนแรงผ่านคำพูดที่ไม่ดี การตะคอก รวมถึงการทำโทษที่รุนแรงอย่างการตีด้วย

 

โดยภาพของลูกในยามที่ทำตัวไม่น่ารักมักจะทำให้พ่อแม่ “เห็น” และหงุดหงิดได้ชัดรวดเร็วและชัดเจนมากกว่าตอนที่ลูกทำตัวน่ารัก เป็นเด็กดีเชื่อฟัง ตอนลูกประพฤติตัวดีเป็นสิบเป็นร้อยนาที เราอาจไม่เคยมองเห็นและหยิบยกมาชื่นชม แต่พอทำตัวไม่น่ารักเพียงไม่กี่นาที เรามักหยิบยกเอาสิ่งไม่ดีเหล่านั้นมาติเตียนและลงโทษ นี่เป็นเพราะพ่อแม่อย่างเรามักมีเซ็นเซอร์ตรวจจับ “ความผิด” ของลูกมากกว่า “จับถูก” นั่นเอง 

จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมพัฒนาการของมนุษย์ พบว่า การส่งเสริมพฤติกรรมดีเป็นเรื่องที่ส่งผลดีต่อภาพรวมของนิสัยและพฤติกรรมในระยะยาว ในขณะเดียวกับการลงโทษด้วยความรุนแรงอย่างการตี (Corporal punishment) และความรุนแรงอาจทำได้เพียง “หยุด” พฤติกรรมที่ไม่ดีไว้ได้เพียงชั่วคราว มิได้ส่งผลดีต่อพฤติกรรมในระยะยาว หากแต่ส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง บั่นทอนความมั่นใจในตนเองของเด็ก เพิ่มโอกาสการเกิดโรคทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้าในอนาคต รวมถึงเพิ่มโอกาสที่เด็กจะใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาอีกด้วย เช่นเดียวกันกับการใช้อำนาจหรือบทลงโทษเพื่อบีบบังคับให้เด็กประพฤติในสิ่งที่พ่อแม่เห็นควรว่าดี ก็ทำได้เพียงทำให้เด็กปฏิบัติตามสิ่งที่พ่อแม่บอกได้เพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น เพราะการประพฤตินั้นไม่ได้เกิดจากเจตจำนงเสรีของเด็กจริง ๆ 

 

 

การเลี้ยงลูกเชิงบวกที่พิสูจน์แล้วว่า “ดี” ต่อความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว และพฤติกรรมพัฒนาการของเด็กจึงมุ่งเน้นให้ “จับถูก” เพื่อต่อยอด (Positive reinforcement) มากกว่า “จับผิด” เพื่อลงโทษ (Negative reinforcement) เพราะเมื่อเด็กทำดีแล้วมีพ่อแม่เห็นและชื่นชม นั่นคือ “สิ่งตอบแทน” ที่ง่ายที่สุดที่จับต้องสัมผัสและรู้สึกได้ที่เด็กคนหนึ่งพึงได้รับจากเรื่องราวดี ๆ ที่เขาได้พูดและทำ

 

เด็กจึงอยากทำดีมากขึ้น และเมื่อการกระทำนั้นเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนเป็นความเคยชิน มันจะหล่อหลอมให้เกิดเป็น “นิสัย” และ “สันดานที่ดี” ที่จะพูดและทำในสิ่งที่ควรทำแม้ไม่มีคำชื่นชมจากปากของพ่อแม่ให้ได้เห็นได้ฟังชัด ๆ เหมือนในช่วงวัยเด็กเล็กแล้วก็ตาม (ซึ่งหากทำได้ พ่อแม่ก็ควรจะหาโอกาสชื่นชมลูกอย่างสม่ำเสมอในแง่มุมที่เหมาะสม ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไปให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าเขาจะโตแค่ไหนแล้วก็ตาม) เพราะ “ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน“ คือ เรื่องจริง และ “ลูกเราก็ไม่ได้น่ารักตลอดเวลา” 

 

ดังนั้นเมื่อ ‘พ่อแม่’ เมื่อต้องรับมือกับ ‘ความไม่น่ารัก’ ของลูก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “สติ” และ “ความเข้าใจ” ตามวัยของลูกและบริบทที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นเสมอ เพราะถ้าไร้ซึ่งสติและความเข้าใจ ความเป็น ‘แม่ไม้มวยไทย’ และ ‘บทแม่ค้าปากจัด’ จะมาสิงร่างเราได้ไม่ยากเลย 

ยามที่ลูกประพฤติตัวไม่น่ารักเพียงไม่กี่นาทีในช่วงเย็น ๆ ที่ทุกคนต่างเหนื่อยล้า เราจึงอาจหลงลืมช่วงเวลาที่ลูกที่ลูกทำตัวดีมาตลอดทั้งวันไปซึ่งช่วงเวลาที่ดีเหล่านั้น เรามักไม่เอ่ยปากชม แต่ไอ้ไม่กี่นาทีที่ลูกกลายร่างเป็น ‘ปีศาจน้อย’ เราเอง ‘เจ้าแม่กาลี’ ก็ลงประทับร่างอย่างรวดเร็วเช่นกัน และเมื่อสถานการณ์กลายเป็น ’ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ เราจะเริ่มเอาชนะกัน และนั่นไม่ทำให้เรื่องจบดี แม้แต่ครั้งเดียว รังแต่จะทำร้าย 'ความสัมพันธ์อันดี' ระหว่างเราและลูก 

 

จงอย่าลืมว่า เกือบทั้งหมดของพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูก ‘มีอะไรซ่อนอยู่’ ที่ต้องการความเข้าใจและสื่อสารจากพ่อแม่ไม่ใช่ลูกจะชวนเราท้าตี