การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
...”อย่าดื้อนะ เดี๋ยวแม่ไม่รักหรอก”...
...”ทำตัวแบบนี้ แม่ไม่รักแล้ว”...
ไม่ต่างอะไรจากจิ้งจก ตุ๊กแก ตำรวจ ผีสางนางไม้ หรือกระทั่งหมอและพยาบาลที่มักถูกหยิบยกมา "ขู่" ให้เด็กเกรงกลัวและยอมทำตามสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ
หลายครั้ง "ความรักของพ่อแม่" ก็เป็นหนึ่งในตัวประกันที่ใช้ในการต่อรองให้ลูกทำตามที่พ่อแม่ต้องการ เหตุการณ์การเอาความรักมาเป็นเครื่องต่อรองนั้นเกิดเป็นประจำจนคุณพ่อคุณแม่หลายคนเห็นเป็น ‘เรื่องปกติ’ ไปเสียแล้ว เพราะลูกจะได้รู้ได้ชัดเจนว่า ‘ลูกแบบใด’ และ ‘พฤติกรรมแบบใด’ คือสิ่งที่พ่อแม่อยากให้ลูกมี อยากให้ลูกเป็น อยากให้ลูกทำ “ลูกในแบบที่พ่อแม่จะรัก” ทำแบบนี้สิจะได้เป็นที่รักของพ่อแม่และคนอื่น ๆ การต่อรองเหล่านี้น่าจะเป็นเรื่องปกติ ไม่น่าจะใช่เรื่องแปลก
หากลองคิดในอีกแง่มุม ความรักแบบนี้ คือ "ความรักที่มีเงื่อนไข" (Conditional Love) รักที่ต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยน ผิดจากนี้ ลูกอาจไม่ได้รับความรักจากพ่อแม่ ความรักที่บีบบังคับลูกทั้งทางตรงและทางอ้อมว่าต้องเป็น ‘คนดี’ ตามมาตรฐานที่พ่อแม่วางไว้ ต้องเป็น ‘เด็กไม่ดื้อ’ และ ‘อยู่ในโอวาท’ ไม่เถียง ไม่ต่อรอง หรืออีกหลายเงื่อนไขที่พ่อแม่จะหยิบยกมาเพื่อให้ลูกทำเพื่อให้ได้มาซึ่งความรักของพ่อแม่
...”หรือจริง ๆ แล้ว พ่อแม่ไม่ได้รักเขาจริง ๆ ?”...
...”หรือจริง ๆ แล้ว เขาไม่มีค่าควรให้รัก ?”...
ยิ่งฟัง ยิ่งสงสัย ยิ่งฟังยิ่งรู้สึกไม่ปลอดภัยในความรักที่ได้มา หรือทุกวันที่ตื่นมา เราต้องเรียกร้อง ไขว่คว้าหาความรักจากพ่อแม่มากขึ้น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ้านไหนที่ไม่เคยจับถูก มีแต่จับผิด ตำหนิเก่ง ชมไม่เป็น ไม่เคยมองหาข้อดีในตัวลูกเลย ... เด็กจะยิ่งขาดรัก ขาดความมั่นใจในตนเอง ขาดความปลอดภัยทางอารมณ์ และอาจไม่เคยได้สัมผัส "รัก" จากพ่อแม่ได้จริง ๆ แม้สักครั้ง
รักที่ดี ควรเป็น ‘รักที่ไม่มีเงื่อนไข’ (Unconditional Love) จะดี จะดื้อ จะดำ จะขาว จะผอม จะอ้วน จะเรียนเก่ง เรียนไม่เก่ง จะอย่างไรก็เป็นลูกเรา หน้าที่ของพ่อแม่คือ "รัก" และ "เมตตา" ลูกในแบบฉบับของความเป็นตัวลูกจริง ๆ สิ่งใดดีต้องส่งเสริม สิ่งใดไม่ดี ไม่เหมาะไม่ควร ก็ปรับพฤติกรรมไปตามความเหมาะสมด้วยความไม่รุนแรง อยากให้ทำอะไรบอกกันดี ๆ บอกกันตรง ๆ ไม่ต้องประชดหรือเอาอะไรมาเป็นตัวประกัน
...”เดินช้า ๆ นะ เดี๋ยวหกล้ม”...
...”ล้างมือก่อนกินข้าวด้วยครับ”...
...“รองเท้า ต้องอยู่บนชั้นวางนะคะ”...
...”ถึงเวลากลับบ้านแล้วค่ะ”...
หากไม่ทำตามก็ปรับพฤติกรรมด้วยหลักการของ ‘การเลี้ยงลูกเชิงบวก’ ที่พิสูจน์แล้วทางจิตวิทยาพัฒนาการแล้วว่าดีต่อสายสัมพันธ์และพฤติกรรมทั้งในระยะสั้นและยาว โดยเฉพาะด้วยความใจดีและเด็ดขาด (Firm and Kind) ชื่นชมเมื่อทำดีอย่างเหมาะสมและแยบยล อาจจะด้วยคำพูดง่าย ๆ ว่า "ขอบคุณค่ะ/ครับ ลูก" หรือ "เห็นไหมว่า หนูทำได้" ก็สร้างลูกได้มากแล้ว
อย่าพูดเหมารวมแบบไม่จำเพาะเจาะจงว่า ลูกเป็น ‘เด็กดื้อ’ หรือ ‘ไม่น่ารัก’ เด็กจะมองภาพไม่ออกว่า อะไรแน่ที่เขาต้องพัฒนา หากได้ยินคำว่า "ดื้อ"คำว่า "ไม่น่ารัก" บ่อย ๆ สุดท้ายเด็กก็จะเชื่อไปเองว่าเขาก็เป็นคนแบบนั้นนั่นแหละ แม่จะมาเอาอะไรกับเขา ก็เขาดื้อไง
เพราะเชื่อเสมอว่า เมื่อทุกคนเริ่มต้นที่จะพูดต่อกันดี ๆ ปัญหาและพฤติกรรมทุกอย่างมันมีทางแก้ไขและปรับได้เสมอ รักในแบบที่เป็นตัวเขาทั้งตัว อย่าเอาความรักมาเป็นเครื่องต่อรอง รักลูกในแบบที่เป็นลูกแบบไม่ต้องมีเงื่อนไขให้ได้มาซึ่งความรัก