การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เอะใจกันบ้างไหมครับ ทำไมลูกเราถึงไม่แบ่งปันของกินหรือของเล่นให้เพื่อนวัยเดียวกันเล่นบ้างเลย ลูกเป็นเด็กหวงของหรือเปล่านะ ทำไมถึงชอบแย่งของเล่นกัน พ่อแม่ก็อาจจะท้อแท้ใจ กลัวว่าลูกจะไม่มีเพื่อนเล่นด้วย กลัวว่าในอนาคตลูกเติบโตไปเป็นคนใจแคบ คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งกังวลกันไปเลย บางครั้งบางทีลูกอาจจะกำลังเรียนรู้หรือปรับตัวอยู่ก็ได้
โดยธรรมชาติของเด็กปฐมวัย (1-6 ขวบ) จะยังไม่มีความสามารถในการนึกถึงผู้อื่น จึงสังเกตได้ว่า เด็กที่เริ่มเล่นกับเพื่อน ๆ จะมีการทะเลาะกันง่ายมากซึ่งเป็นลักษณะเด่นของเด็กวัยนี้ที่เขาจะมองโลกโดยใช้ความคิดของตนเองอยู่ฝ่ายเดียว ไม่ได้คิดว่าผู้อื่นจะรู้สึกอย่างไร และคิดว่าความคิดของตนเองถูกต้องเสมอ
ความคิดแบบนี้จะค่อย ๆ คลายลงเมื่อเขาเริ่มโตขึ้น พ่อแม่มีหน้าที่รดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยที่ดีให้กับลูก ในช่วงเวลานี้แหละเหมาะสมดีที่สุดแล้ว คอยหยิบยื่นแบ่งปันน้ำใจกับเพื่อนบ้านให้ลูกเห็นบ่อย ๆ เขาจะค่อย ๆ ซึมซับเข้าไปในจิตใต้สำนึกของเขา เมื่อมีโอกาสควรพาลูกเข้าไปในสังคม ให้ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่เป็นนิจ หมั่นยื่นสิ่งของที่มีคุณค่าทางจิตใจให้ลูกบ่อย ๆ
เมื่อเขาได้รับเขาก็จะรู้สึกยินดีจนอยากที่จะทำให้ผู้อื่นมีความรู้สึกแบบเดียวกับเขาบ้าง เมื่อถึงเวลาที่ลูกพร้อมแล้ว เขาจะเริ่มชื่นชม แบ่งปันอาหาร แบ่งปันสิ่งของ หรือแม้แต่ ปลอบประโลมเพื่อนของเขาด้วยหัวใจที่อบอุ่น
หากเติบโตขึ้นไปอีก เขาจะเริ่มแบ่งปันเรื่องราวในชีวิตและรับฟังคนรอบข้างมากขึ้น “พ่อแม่” คือคนสำคัญที่สุดของลูก สิ่งใดที่ลูกนำมาพูดคุยหรือแบ่งปันด้วย เราไม่ควรที่จะนำสิ่งนั้นไปพูดต่อกับคนอื่น เพื่อที่จะทำให้ลูกเกิดความไว้วางใจกับเรา เขาจะมั่นใจว่าเรื่องที่เขาพูดนั้นรับรู้กันเพียงแต่เราสองคน
เมื่อทำอย่างนี้แล้วลูกจะมองโลกในแง่ดี เมื่อจิตใจลูกมั่นคงปลอดภัยดีแล้ว เขาก็พร้อมที่จะค่อย ๆ แบ่งปันกับผู้อื่นได้อย่างจริงใจ ผมคอยพร่ำสอนให้ลูกรักคนอื่นให้เป็น ใครดีกับเรา เราต้องทำดีตอบแทนน้ำใจ และสิ่งที่สำคัญที่สุดเรารักคนอื่นได้แล้วเราต้องรู้จักรักตัวเองด้วย อย่าทำให้ตัวเองเดือดร้อน หรือรู้สึกว่าไม่มีความสุข ทุกอย่างต้องอยู่บนความพอดี
ลูกมีสิทธิ์ที่จะรักหรือจะไม่รักใครก็ได้ถ้ามีเหตุผลเพียงพอ เขามีสิทธิ์ที่จะช่วยเหลือหรือปฏิเสธคนอื่น ถ้าหากรู้สึกว่าตัวเองยังไม่พร้อม อย่าให้คนอื่นมามีอิทธิพลเหนือเราจนสูญเสียตัวตนไป ลูกของผมในวัยนี้ยังเล็กเกินกว่าจะเข้าใจในสิ่งที่ผมสอน แต่เมื่อวันใดที่แสงแดดเริ่มส่องแสง เขาจะเริ่มเปล่งประกาย เริ่มเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนหรือเจ็บช้ำน้ำใจ และรู้จักรักษาสิทธิ์ของตนเองแล้วล่ะก็ นั่นจึงเป็นผลของความงอกงามที่แท้จริง
คุณพ่อคุณแม่ครับ ปล่อยวางทุกอย่างให้เป็นไปตามธรรมชาติของเด็ก ปล่อยให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตนเอง พ่อแม่ชี้แนะแนวทางถูกผิดให้เขาได้คิดวิเคราะห์ไตร่ตรอง เมื่อแสงอาทิตย์สาดส่องมาถึง เขาจะเดินเข้าไปโอบกอดคุณเอง
:: อ้างอิง ::
Piaget, J. (1952) Play, Drems And imitation in childhood
เมริษา ยอดมณฑป (นักจิตวิทยา) ขอให้เติบโตอย่างงดงาม