การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จงอย่ากลัวที่จะให้ลูกทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ข้าวของพังยังซ่อมแซมหรือหามาทดแทนใหม่ได้ แต่วัยที่สมองต้องการเรียนรู้ และพัฒนาความรู้สึก มีช่วงเวลาเพียงแค่น้อยนิดเท่านั้น
หลังจากที่ผมได้สอบถามพ่อแม่หลาย ๆ ท่าน พบว่ามีพ่อแม่จำนวนมากไม่กล้าที่จะให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเอง สาเหตุอาจเกิดมาจากเพราะลูกทำสิ่งต่าง ๆ ได้ช้าไม่ทันใจพ่อแม่บ้าง หรือกลัวลูกจะได้รับบาดเจ็บบ้างหรือแม้กระทั่งคิดแทนลูกไปเองว่าลูกอาจจะไม่ชอบสิ่งสิ่งนี้
การทำแบบนี้เท่ากับเป็นการปิดกั้นพัฒนาการและประสบการณ์ของลูก ๆ ทำให้เขาไม่รู้จักความผิดพลาดไม่รู้จักการแก้ไข และถึงขั้นดำเนินชีวิตต่อไปไม่ถูก
คุณเค็นอิชิโร โมะงิ นักวิจัยด้านสมองชาวญี่ปุ่นได้ให้แนวคิดวิธีการเลี้ยงเด็กไว้ว่า ช่วงอายุ 0 – 5 ขวบนั้น เป็นช่วงที่เด็ก ๆ จะพัฒนาความรู้สึกว่า “ผมอยากทำอันนี้” หรือ “หนูทำอันนี้ได้” อีกด้วย เป็นช่วงที่เด็กเริ่มพัฒนาตัวตน คุณพ่อคุณแม่มักจะคิดว่า เด็กเล็กแค่นี้จะไปทำได้อย่างไรกันใช่ไหมครับ การคิดแบบนี้อาจขัดขวางพัฒนาการการหลั่งสารโดพามีนในตัวของเด็กได้ (Dopamine) โดพามีนคือสารเคมีในสมองที่จัดอยู่ในกลุ่มแคทีโคลามีน สร้างมาจากกรดอะมิโนชนิดไทโรซีน
เมื่อสารโดพามีนถูกหลั่งออกมา จะส่งผลต่อในด้านอารมณ์ทำให้มีความตื่นตัว กระฉับกระเฉงมีสมาธิ และไวต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆรอบตัว โดพามีน เป็นสารที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจ ความปีติยินดี และความรักใคร่ชอบพอ
ดังนั้นพ่อแม่ไม่ควรหยิบยื่นความคิดของตนให้กับลูก สร้างทางเลือกหรือการแนะนำให้กับเขาแทน อย่างเช่น ลูกพูดจาไม่ไพเราะ ก้าวร้าวใส่ผู้หลักผู้ใหญ่ เราไม่ควรดุด่าลูกไปในทันที กลับกันให้พ่อแม่อธิบายว่าสิ่งไหนควรพูดไม่ควรพูด เขาอาจไม่เข้าใจว่าความหมายที่แท้จริง เขาอาจจะจำมาจากใครสักคนพูดหรือในทีวีสักเรื่อง แล้วนำมาพูดตามก็เป็นได้
ลูกยังเล็กเกินกว่าจะแยกแยะ เมื่อเขารู้แล้วว่าสิ่งใดผิดพลาดไม่ควรทำเขาก็จะจำใส่ใจไม่เผลอทำมันอีก ใจดีกับลูกสักหน่อยถ้าเราไปว่าเขาแรง ๆ แล้วละก็ เด็กจะเกิดอาการต่อต้านทันที เขาจะไม่รับฟังคำอธิบายใด ๆ ทั้งสิ้น และจะเกิดการทำซ้ำ ๆ เพื่อเอาชนะพ่อแม่ เราต้องให้โอกาสลูกได้เจอประสบการณ์ที่หลากหลาย อย่าหยิบยื่นแก้วให้เขาเพียงเพราะกลัวมันจะตกแตก ให้เขาได้ลองหยิบจับเอง แก้วแตกสักแก้วก็คงไม่เป็นอะไร (แต่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด) ครั้งต่อ ๆ ไปเขาจะได้ระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
ลูกเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการการเรียนรู้อยู่ทุกวันโดยเฉพาะวันที่พ่อแม่ต้องการพักผ่อนก็ไม่เว้น ให้เขาได้ลองผิดลองถูกบ้าง วงจรในสมองจะพัฒนาขึ้น อนาคตในภายภาคหน้าลูกจะประสบความสำเร็จจนกลายเป็นอัจฉริยะด้านการสั่งสมประสบการณ์ก็ได้
:: อ้างอิง ::
เค็นอิชิโร โมะงิ (นักวิจัยด้านสมองชาวญี่ปุ่น), ฝึกสมองลูก 5 ปี ได้ดีตลอดชีวิต