การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัจจุบันเราพบพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น และแม่เลี้ยงเดี่ยวในปัจจุบันจำนวนมากก็สามารถเผชิญปัญหาและสามารถยืนหยัดการทำหน้าที่เป็นแม่และพ่อได้อย่างดี โดยไม่คิดว่าการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวจะเป็นอุปสรรคในการเลี้ยงดูลูกให้มีคุณภาพได้
แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีแม่เลี้ยงเดี่ยวจำนวนมากที่ไม่ยังสามารถผ่านช่วงเวลาของความยากลำบากทางจิตใจไปได้ ทำให้มีระดับความเครียดที่สูงขึ้น สูญเสียความมั่นใจในชีวิต ไหนจะต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในชีวิต บางคนถึงกับท้อแท้หมดหวังในชีวิต
ฉะนั้น สิ่งแรกที่แม่เลี้ยงเดี่ยวควรมีคือ การสร้างพลังใจให้ตัวเอง ต้องเข้มแข็งและตั้งหลักชีวิตให้เร็วที่สุด แม้จะดูเหมือนยากและเป็นด่านสำคัญที่สุด แต่ส่วนใหญ่กว่าที่จะเดินมาถึงจุดของการแยกทางหรือหย่าร้าง ก็ล้วนต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากของชีวิตคู่จนนำมาสู่การตัดสินใจและเลือกที่จะต้องดำเนินชีวิตต่อไป
ยิ่งกรณีที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องดูแลลูกด้วย ยิ่งต้องเข้มแข็งโดยเร็ว เพราะการกระทำและพฤติกรรมของแม่จะอยู่ในสายตาของลูกเสมอ ถ้าลูกเล็ก เขาต้องการที่พึ่งทั้งทางกายและใจอย่างมาก ส่วนถ้าเป็นลูกวัยรุ่น แม้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว แต่ทางด้านจิตใจแล้ว ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะเป็นช่วงวัยเปลี่ยนผ่าน เป็นช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อโดยแท้
❤︎ 1. สร้างความมั่นใจให้ลูก
พฤติกรรมและอารมณ์ของแม่ส่งผลโดยตรงต่อลูก เพราะลูกสามารถซึมซับรับรู้ได้ว่าแม่รู้สึกอย่างไร ต้องพยายามปรับอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองให้ได้ก่อน เพราะความเครียดของคุณก็อาจไปลงที่ตัวลูกได้ อย่าท้อแท้หรือหมดหวังต่อหน้าลูก เพราะจะทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจและมั่นคง
❤︎ 2. พูดคุยกับลูกเป็นประจำ ❤︎
การพูดคุยกับลูกวัยรุ่นอาจทำให้คุณเหนื่อยบ้าง แต่ก็ต้องพยายามพูดคุยกับพวกเขาเป็นประจำ เพราะการสื่อสารจะทำให้เข้าใจลูกดีขึ้น พยายามหาเวลาพูดคุยกับลูกวัยรุ่นทุกวัน อาจใช้เวลารับประทานอาหารร่วมกัน การสื่อสารที่ดีจะนำไปสู่ความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน
❤︎ 3. อย่าปิดบังลูก ❤︎
ลูกช่วงวัยรุ่นไม่ต้องการให้ผู้ใหญ่ปิดบังสิ่งต่างๆ คุณควรบอกความจริงกับลูก อย่าซื้อเวลาไปเรื่อยๆ เพราะท้ายที่สุดลูกก็ต้องรู้ความจริงอยู่ดี และถ้ารู้ความจริงจากคนอื่น ลูกจะเสียใจและรู้สึกว่าแม่ไม่ไว้วางใจเขา ควรอธิบายเหตุผลให้ลูกฟัง เขาโตพอที่จะรับรู้เรื่องราวและซึมซับอารมณ์ความรู้สึกของแม่ได้ หรือแม้แต่การร้องไห้ให้ลูกเห็นไม่ได้หมายความว่าแม่อ่อนแอ ตรงกันข้ามลูกจะได้เข้าใจด้วยว่าแม่เสียใจ แต่ก็พยายามที่จะยืนหยัดเผชิญปัญหา และได้เรียนรู้ด้านที่เข้มแข็งในบทบาทของแม่ด้วย
❤︎ 4. อย่าใส่ความเกลียดชังให้ลูก ❤︎
ลูกไม่ได้รับรู้เรื่องราวของคนเป็นพ่อแม่ ลูกจะมีภาพจำของพ่อในแบบของเขา อย่าพยายามใส่ความคิดความขัดแย้ง หรือการทะเลาะเบาะแว้งในฉันท์สามีภรรยาไปใส่ให้กับลูก เพราะอย่างไรเขาก็เป็นพ่อลูกกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการสอนให้ลูกได้เรียนรู้พฤติกรรมของความรับผิดชอบต่อหน้าที่และบทบาทของความเป็นพ่อแม่ด้วย
❤︎ 5. วางแผนกับอดีตคู่ชีวิต ❤︎
เรื่องลูกเป็นเรื่องของทั้งพ่อและแม่ที่มีส่วนให้กำเนิดชีวิตเขา จึงควรมีการวางแผนชีวิตลูกร่วมกัน การให้ฝ่ายพ่อรับผิดชอบร่วมกันเป็นเรื่องจำเป็น แต่ที่ผ่านมาผู้หญิงบ้านเรามักชอบคิดว่าลูกของฉันสามารถเลี้ยงดูได้ แต่แท้ที่จริงแล้วการที่ผู้หญิงคิดเช่นนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมให้ผู้ชายไร้ความรับผิดชอบมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง
❤︎ 6. ชวนทำกิจกรรมร่วมกัน ❤︎
พยายามหากิจกรรมทำร่วมกับลูกบ่อยๆ ถ้าเป็นลูกชายก็อาจชวนญาติผู้ชายมาร่วมทำกิจกรรมเพื่อให้ลูกได้ซึมซับบทบาทของความเป็นผู้ชาย หรือถ้าเป็นลูกสาวก็ควรให้เขาได้เรียนรู้บทบาทของผู้ชายด้วย และหากพ่อต้องการมารับลูกไปทำกิจกรรม ก็ไม่ควรกีดกัน แต่ควรส่งเสริมให้ลูกได้มีโอกาสอยู่กับพ่อด้วย จะทำให้ลูกเข้าใจชีวิตมากขึ้น ที่สำคัญเข้าใจแม่ด้วย
การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวไม่ได้แย่เสมอไป มีแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก และก็สามารถใช้ชีวิตกับลูกได้อย่างมีคุณภาพด้วย สิ่งสำคัญคือต้องฝ่าด่านพลังใจของตัวเองให้กลายเป็นพลังบวกให้ได้ค่ะ