125
ฝึกลูกให้สุขภาพจิตดีมี EQ

ฝึกลูกให้สุขภาพจิตดีมี EQ

โพสต์เมื่อวันที่ : July 21, 2022

ในอดีตสำหรับคนเป็นพ่อแม่มักจะภาวนาเวลามีลูกขอให้ลูกมีร่างกายที่มีอวัยวะครบ สุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ แต่ดูเหมือนยุคสมัยนี้ความคาดหวังของพ่อแม่ที่ไม่เพียงอยากให้ลูกสุขภาพกายดีแล้วก็อยากให้ลูกมีสุขภาพจิตดีมีอีคิว และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขด้วย

 

องค์การอนามัยโลกให้ความหมายของสุขภาพจิตที่ดี คือ สภาพจิตใจที่เป็นสุข สามารถมีสัมพันธภาพและรักษาสัมพันธภาพกับผู้อื่นไว้ได้อย่างราบรื่น สามารถทำตนให้เป็นประโยชน์ได้ภายใต้ภาวะสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคม และลักษณะความเป็นอยู่ในการดำรงชีพ วางตัวได้อย่างเหมาะสม และปราศจากอาการป่วยของโรคทางจิตใจและร่างกาย

องค์ประกอบของสุขภาพจิต ได้แก่...

◆ 1. ปัจจัยทางร่างกาย สุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

◆ 2. ปัจจัยทางจิตใจ ประกอบด้วย ความคิดดี อารมณ์ดี และจิตวิญญาณดี

◆ 3. ปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น ปรับตัว และดำเนินชีวิตได้ดี

 

 

การที่เด็กจะมีสุขภาพจิตที่ดี ต้องเข้าใจว่าเด็กได้รับอิทธิพลจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เริ่มต้นจากพ่อแม่ และคนในครอบครัว เมื่อเด็กเข้าโรงเรียนก็ได้รับอิทธิพลจากครู เพื่อน และผู้คนแวดล้อมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็ก นั่นหมายความว่า การส่งเสริมพัฒนาการเด็กจึงต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ในการช่วยกันสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อเด็ก โดยเฉพาะบทบาทของพ่อแม่เป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของเด็ก ความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัวมีความรัก ความอบอุ่น มั่นคง เด็กก็จะมีโอกาสสุขภาพจิตดีมีอีคิว

อีคิว หรือ E.Q. ย่อมาจาก Emotional Quotient

หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์ รู้จัก เข้าใจ แยกแยะ อารมณ์ตัวเองได้ และสามารถแสดงอารมณ์ได้อย่างถูกต้องตามกาลเทศะ ปรับตัวเข้ากับสังคมอย่างเหมาะสม คนที่มีอีคิวดีจะเป็นคนที่มีความเข้าใจตนเองดี รู้จุดเด่นจุดด้อยและมีความสามารถในการควบคุมและจัดการกับอารมณ์ตนได้

 

 

แล้วจะเลี้ยงดูลูกอย่างไรให้มีสุขภาพจิตดีมีอีคิว เริ่มจากพ่อแม่ต้องมีสุขภาพจิตดี มีความสุข และมีความรักความผูกพันในครอบครัว ตามมาด้วยความรู้เรื่องพัฒนาการตามวัยของเด็ก เพื่อที่จะได้ปลูกฝังและฝึกลูกให้มีสุขภาพจิตที่ดีได้ตามวัย ถ้าเริ่มได้ตั้งแต่เล็ก เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น จะทำให้ลูกสามารถรับมือกับปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี

 

ยกตัวอย่างกรณีของลูกวัยรุ่น ถ้าพ่อแม่เข้าใจว่าเป็นวัยที่จะมีความเป็นตัวของตัวเอง ท้าทาย อยากมีอิสระ อารมณ์แปรปรวนง่าย ฯลฯ การเลี้ยงดูและตอบสนองจะทำเหมือนเขาเป็นเด็กเล็กไม่ได้

 

การตอบสนองที่เหมาะสม พ่อแม่ต้องดูที่ตัวเด็ก เพราะเด็กแต่ละคนและแต่ละวัยมีความต้องการต่างกัน หลายครั้งที่พ่อแม่มองปัญหาด้วยสายตาของพ่อแม่ ไม่ได้มองที่บริบทของลูก จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกันในครอบครัว และนำไปสู่สัมพันธภาพที่ไม่ดี

เทคนิคฝึกลูกให้มีสุขภาพจิตดีมีอีคิว

✚ 1. ฝึกให้ทำกิจกรรมกับผู้อื่น ✚

ควรฝึกให้ลูกสามารถปรับตัวได้ ให้ลูกได้มีโอกาสเข้าสังคมที่หลากหลาย และทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นเสมอ เพื่อที่จะทำให้ลูกได้เรียนรู้การเผชิญชีวิต และรู้จักการปรับตัวกับสถานการณ์หรือปรับตัวกับผู้อื่น

✚ 2. ปล่อยให้เผชิญปัญหาด้วยตัวเอง ✚

เวลาเกิดปัญหาใด ๆ ก็ตาม ควรปล่อยให้ลูกได้ฝึกแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ไม่ใช่ทำให้ลูกหรือคอยปกป้องตลอดเวลา พ่อแม่บางคนรักและทะนุถนอมเลี้ยงลูกราวไข่ในหิน ซึ่งจะทำให้เด็กขาดทักษะในการปรับตัว เมื่อไม่มีพ่อแม่ปกป้องจะลำบาก ไม่กล้าทำอะไร

 

✚ 3. อย่าเลี้ยงลูกให้เป็นศูนย์กลางของบ้าน ✚ 

การตามใจลูกมากเกินไป เด็กจะใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางอยู่เสมอ จะทำให้เขามองเห็นแต่ตัวเอง ไม่นึกถึงความรู้สึกของผู้อื่น สุดท้ายก็อาจทำให้เข้ากับเพื่อนไม่ได้

 

✚ 4. รับฟังแบบตั้งใจ ✚

การรับฟังของพ่อแม่สำหรับลูกวัยรุ่นเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะนั่นหมายถึงการยอมรับและเข้าใจความรู้สึกที่ลูกแสดงออกมา และเมื่อเกิดปัญหา พ่อแม่ไม่ควรตำหนิหรือดูถูก แต่ควรเปลี่ยนเป็นการให้กำลังใจแทน

 

✚ 5. สอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ตัวเอง ✚

การให้ลูกรู้จักตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรู้จักอารมณ์ของตัวเอง ในสถานการณ์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นให้ลูกเข้าใจว่าลูกรู้สึกอย่างไร อารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ทำไมถึงเกิดอารมณ์อย่างนั้น สอนให้ลูกเข้าใจว่าอารมณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ต้องแสดงออกให้เหมาะสม วัยรุ่นสามารถปรับตัวได้เร็ว ถ้าพ่อแม่ทำความเข้าใจและสอนให้ลูกเข้าใจรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง และแนะนำวิธีให้เขาพร้อมรับมือกับสภาพอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง

✚ 6. ทำดีต้องชื่นชม ✚

เมื่อลูกทำดีพ่อแม่ควรให้คำชื่นชม เพื่อให้ลูกรู้สึกมีคุณค่า และยามลูกท้อแท้ก็ควรให้กำลังใจและพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างลูกเสมอ แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับคนเป็นพ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่าง และทำให้ลูกเห็นว่าสุขภาพจิตดีมีอีคิวสร้างได้