การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
...“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”... ภาษิตที่คนไทยอย่างเราได้ยินกันคุ้นหู ที่บ้านถูกหวดด้วยหวาย หรืออุปกรณ์ที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายจะหยอบฉวยได้ในตอนที่ลูกหลานดื้อไม่เชื่อฟังคำสั่ง
ที่โรงเรียนก็อาจถูกตีด้วยไม้เรียว เคาะด้วยแปรงลบกระดาน อมบอระเพ็ด หรืออมชอล์กเขียนกระดาน (ผู้เขียนคือหนึ่งในคนที่เคยถูกทำโทษด้วยการอมชอล์กมาแล้ว) เชื่อว่าผู้ใหญ่ในวันนี้จำนวนไม่น้อยเติบโตมาด้วยวิธีการปรับพฤติกรรมโดยการทำโทษทางร่างกาย (Physical Punishment) โดยเฉพาะการตี
นี่คือหนึ่งในวิถีปฏิบัติที่สืบทอดกันมายาวนานของสังคมไทย ถึงขั้นบัญญัติเป็นสุภาษิตสอนพ่อแม่ให้เลี้ยงลูกโดยการตี ซึ่งถือเป็นการใช้ ‘ความรุนแรง’ เข้าควบคุม ‘พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์’ ของเด็ก ด้วยความคาดหวังที่ว่า ...“เจ็บแล้วจะได้จำ และไม่ทำอีก”...
คำถามก็คือ มันได้ผลจริง ๆ หรือไม่ ?
คำตอบเชิงประจักษ์ด้วยงานวิจัยที่มีระเบียบแบบแผนทางวิทยาศาสตร์ตอบชัดเจนว่า “ไม่จริง”
เพราะถ้าเราต้องเฆี่ยนตีลูกเพื่อให้ลูกเป็นคนดี ดีในที่นี้คือ "ดี" ตรงกับที่พ่อแม่ต้องการ เราคงทำหน้าที่ไม่ต่างจากควาญช้างที่ต้องใช้โซ่และปฏักช้างที่เป็นตะขอโลหะแหลมที่ใช้ฝึกและบังคับช้างด้วยการแทงช้างที่หัวหรือใบหูให้ทำตามที่ควาญช้างต้องการ รวมถึงวิถีปฏิบัติในการฝึกสัตว์เพื่อใช้งานด้วยการเฆี่ยนตี ทั้งที่มนุษย์เราเรียนรู้ได้ด้วยวิธีการที่ดีกว่านั้น วิธีที่ไม่ต้องให้ใครมาด่าทอเฆี่ยนตี ดีได้จากการเลี้ยงดูที่ดี สร้างวินัยและปรับพฤติกรรมด้วยวิธีที่ดีต่อใจ ต่อร่างกาย และไม่สร้างบาดแผลให้ใคร
หากอ้างอิงตามงานวิจัยตลอดระยะเวลามากกว่า 20 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า “การปรับพฤติกรรมด้วยการตีนั้นส่งผลเสียต่อเด็กและไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ” ("Physical discipline is harmful and ineffective" - American Psychology Association) โดยการลงโทษทางร่างกาย (Corporal Punishment) ส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กในภาพรวมทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคทางอารมณ์จิตใจในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพฤติกรรมรุนแรง และโรคซึมเศร้า ฯลฯ [1]
นอกจากนั้นพบว่าการตีส่งผลให้เกิดปัญหาพฤติกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เกิดผลดีต่อพฤติกรรมใด ๆ ในระยะยาวไม่ว่า ที่สำคัญก็คือ ส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์โดยสามารถพยากรณ์ได้ว่าครอบครัวที่ใช้การลงโทษด้วยการตี ไม่ว่าเด็กจะเพศใด ครอบครัวจะมีเชื้อชาติใด รวมถึงไม่ว่าพ่อแม่จะมีวิธีการเลี้ยงดูอย่างไร เป็นคนอย่างไร เมื่อเลี้ยงด้วยการตี เกิดผลเสียเสมอ [2]
ถ้าคิดจะตีเพื่อให้ลูกดีขึ้น นั่นแปลว่า คุณพ่อคุณแม่กำลังคิดผิด !
หากจะบอกว่าพ่อแม่ตีลูกนั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่น่าจะส่งผลเสียเพราะอย่างไรพ่อแม่ก็รักลูก พ่อแม่ยังคงใช้เวลาที่ดีกับลูก แน่นอนว่าชีวิตจริงไม่มีอะไรที่เป็นสิ่งถูกต้อง 100% ก็อาจจะมีคนที่ไม่เป็นไรก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่เช่นนั้นน่ะสิครับ ถ้าบอกว่าผู้ใหญ่หลายคนที่ได้ดีทุกวันนี้ก็เพราะไม้เรียว
งานวิจัยอาจกำลังบอกเป็นนัยยะว่า หลายคนอาจจะได้ดีกว่านี้หากไม่ต้องเติบโตมาท่ามกลางความรุนแรง และแน่นอนความรุนแรงที่ผ่านมาในอดีตที่คุณเคยได้รับทำให้คุณมีมุมมองเกี่ยวกับ 'สิทธิ' ในการใช้ความรุนแรงต่อร่างกายของผู้อื่น (ในที่นี้คือ ต่อ "ลูก") นั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง พ่อแม่มีสิทธิพึงทำได้ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ถูกต้องจริง ๆ หรือ
ย้ำเตือนว่า “ไม่ตี” ไม่เท่ากับการไม่ใส่ใจ ไม่เลี้ยง
การศึกษาพบว่า การปรับพฤติกรรมที่มีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับ สายสัมพันธ์ที่ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน (Trusting Relationship) ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย (Safe Environment) ด้วยความคาดหวังของพ่อแม่ที่เป็นไปตามวัยของเด็ก [3]
ที่แน่ ๆ ก็คือ การฝึกวินัยเชิงบวกด้วยการเลี้ยงลูกเชิงบวก ดีต่อการพัฒนาของสมองส่วนเหตุผลที่อยู่ส่วนหน้าสุด สมองที่ควบคุมการทำงานขั้นสูงของมนุษย์ที่เราเรียกว่า Executive Function (EF) ที่ช่วยให้เราสามารถควบคุม ความคิด อารมณ์ พฤติกรรม เพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ รวมถึงการจัดการและควบคุมพฤติกรรมที่ไม่ดีในสมองให้แสดงออกมาอย่างเหมาะสมได้ด้วย
..."ไม่ตีก็ดีได้"...
เอกสารอ้างอิง
[1] Durrant J, et al. CMAJ. 2012 Sep 4; 184(12): 1373–1377.
[2] Heilmann A, et al. Lancet. 2021 Jul 24;398(10297):355-364
[3] Durrant JE. J Dev Behav Pediatr 2008;29:55–66