การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
...“คุณหมอคะ ตอนนี้ลูกสาวเป็นวัยรุ่นวัย 12 ปี ชอบเก็บตัวอยู่แต่ในห้องของเขา เรียกให้ออกมาก็ไม่ออก ออกมาก็ทำหน้ามุ่ยตลอด ถามคำตอบคำ บางครั้งก็ไม่ตอบทำหูทวนลม จนแม่โมโห สุดท้ายก็ต้องทะเลาะเถียงกันทุกที แล้วเธอก็กลับเข้าห้องปิดประตูไป เกิดจากอะไรคะ”... คุณแม่คนหนึ่ง
คำถาม : ทำไมเด็กวัยรุ่นถึงชอบอยู่คนเดียวในห้อง ปกติหรือผิดปกติ ?
คำตอบ : สามารถตอบได้ทั้งแบบปกติและไม่ปกติ
การชอบอยู่ในห้องคนเดียวเป็นเรื่องที่ ‘ปกติ’ ตามวัย รวมถึงความหน้าหงิกหน้างอประมาณ 'ปลาทูแม่กลอง' ที่หน้างอคอหักก็เกิดได้เป็นปกติในวัยนี้ เพราะวัยนี้เขาพร้อมและต้องการที่จะ "แยก" ตัวเองออกจากพ่อแม่แล้ว การมากอดรัดฟัดเหวี่ยงเหมือนสมัยเด็ก ๆ นั้นจะลดลงมาก บางคนไม่ทำเลยก็มี เขาพร้อมแล้วที่จะสร้าง "ตัวตน" ของเขาเปลี่ยนจากวัยเด็กเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว
เด็กวัยรุ่นจะมีกลุ่มเพื่อน ไอดอล ดาราที่ชอบ สไตล์ที่ใช่ กลุ่มเพื่อนหัวหน้าแก๊งที่เขาจะรับเอาอัตลักษณ์นั้นมาหล่อหลอมให้เป็นเขาคนใหม่ในวัยที่เพิ่มขึ้น (และหลายครั้ง ผู้ใหญ่อย่างเราเองอาจไม่ชอบใจสไตล์การใช้ชีวิต การแต่งตัว กลุ่มเพื่อน รวมถึงไอดอลคนโปรดและสไตล์เพลงที่ลูกชอบฟัง) วัยรุ่นจึงต้องการ ‘พื้นที่ส่วนตัว’ ที่ใช้ในการอยู่คนเดียวมากขึ้นเพื่อพูดคุยกับผู้คนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน เพื่อใช้ในการขบคิดค้นหา และเพื่อทำในสิ่งที่ชอบของเขาคนเดียว
หากแต่การใช้เวลาอยู่ในห้องส่วนตัวที่มากเกินไปก็อาจเป็นเรื่องที่ ‘ไม่ปกติ’ เช่นกัน เนื่องจากการไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันกับคนในครอบครัวเลยอาจนำมาสู่ปัญหาของความสัมพันธ์และพฤติกรรมของเด็กได้ ซึ่งครอบครัวที่พบ ‘ปัญหา’ การปลีกวิเวกของลูกอยู่แต่ในห้องส่วนตัวเพียงอย่างเดียวนั้นมักเป็นครอบครัวที่มีปัญหาของความสัมพันธ์อยู่เดิม
เช่น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไม่ว่าจะทางวาจา ร่างกายและ/หรือจิตใจ พ่อแม่มีลักษณะการเลี้ยงลูกแบบเผด็จการและควบคุมมากเกินไป (Authoritarian Parenting Style) ที่จ้องจะจับผิด ตำหนิติเตียนและทำโทษอยู่ตลอดเวลา พร้อมที่จะขุดเอาปัญหาตั้งแต่อดีตชาติมาดุด่าว่ากล่าวเสมอ การกระทบกระเทียบเปรียบทียบกับเด็กคนอื่น รวมถึงพ่อแม่ที่เลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย (Neglected Parenting Style) ด้วย
สถานการณ์เหล่านี้จึงทำให้ ‘ห้องนอนส่วนตัว’ กลายเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ เพียงไม่กี่แห่งของลูกที่เพียงแค่ปิดประตูเท่านั้น ลูกจะสามารถแยกตัวเองออกจากพื้นที่สงครามนอกห้องที่คอยประหัตประหารจิตใจของเขาตลอดเวลา อยู่คนเดียว คุยกับเพื่อน เล่นสื่อสังคมออนไลน์ เล่นเกมออนไลน์ดีกว่า เพราะในนั้นมีแต่เพื่อนที่มีความคิดเห็นเหมือนกัน ชอบในสิ่งเดียวกัน พูดคุยกันได้รู้เรื่อง และทำให้เขารู้สึกว่ามี ‘ตัวตน’ ในวันที่คนในครอบครัวได้แต่มองข้ามเขาไป
เด็กวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยจึงเริ่มติดเพื่อน ติดหน้าจอหนัก และเพิ่มความเสี่ยงในการถูกล่อลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์และเกมได้มากขึ้น เนื่องจากเขาเชื่อใจคนในนั้นมากกว่าครอบครัวนั่นเอง
อย่าให้ห้องนอนกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพียงที่เดียวของบ้านสำหรับลูก สายสัมพันธ์อันดีที่เคยมีมา และเวลาคุณภาพที่ทุกคนในครอบครัวจะได้อยู่รวมกัน พูดคุยสัพเพเหระ กินข้าวเย็นร่วมกัน หรือทำกิจกรรมร่วมกันที่ควรทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ลูกยังเล็กจะเป็น "กุญแจ" ที่สำคัญที่จะเปิดแง้มประตูห้องนอนของลูกให้เขายอมออกมา และยอมให้เราเข้าไปทำความรู้จักกับเขาคนใหม่ที่เปลี่ยนจากเด็กไปเป็นสิ่งมีชีวิตใหม่ที่เรียกว่า "วัยรุ่น" นั่นเอง
แล้วคุณจะรู้ว่า วัยรุ่นเป็นสิ่งมีชีวิตที่คิดเยอะมาก คิดเองเออเองเก่ง เจ็บปวดเองเก่ง เสียใจเองก็เก่ง สับสนแต่ก็ไม่สับสน มีความสุขแต่ก็ทุกข์ เหมือนจะรู้ตัวเองว่าต้องการอะไรแต่ก็ไม่รู้ว่าต้องการอะไร มีความเป็นตัวของตัวเองสูง แต่ก็เลียนแบบสำเนียงการพูดของไอดอลและคนอื่น ๆ โดยความขัดแย้งที่สับสนเหล่านี้จะค่อย ๆ หลอมรวมทำให้วัยรุ่นกลายเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มภาคภูมิ เขาอาจไม่ได้ต้องการอะไรจากเรามากไปกว่า "ความเข้าใจ" และ "ขอบเขตเงื่อนไข" สักไม่กี่ข้อในสายตาของพ่อแม่ว่า ถ้ามากเกินนี้ไปพ่อแม่ไม่โอเค