89
ยอมรับตนเองเมื่อตอบผิด

ยอมรับตนเองเมื่อตอบผิด

โพสต์เมื่อวันที่ : June 3, 2022

...”สอบถามครับ ลูกสาวอายุ 7 ขวบ คุณพ่อตอบ-สอนได้ทุกคำถาม อีกทั้งยังมีเหตุผลที่ดีในทุก ๆ เรื่องจนลูกสาว หาวิธีเอาชนะได้ยาก จนบางครั้งมีงอน ที่ไม่สามารถเอาชนะในเหตุผลของพ่อได้ กรณีแบบนี้จะทำให้เด็กขาดความเชื่อมั่นในตัวเองหรือไม่ครับ เริ่มสังเกตช่วงหลัง ๆ ที่มีการเรียนออนไลน์จะไม่ค่อยยอมตอบคำถามของคุณครู เอาแต่นั่งปิดกล้องแล้วไม่ยกมือตอบคำถามครับ เหมือนขาดความมั่นใจ”...

 

จากที่คุณพ่อเล่า ลูกขาดความมั่นใจจริงค่ะ ส่วนสาเหตุนั้นวิเคราะห์จากข้อมูลที่มีนะคะ



เนื่องจากคุณพ่อต้องการฝึกลูกให้มีเหตุผล, ฝึกคิดให้เก่งโดยถกประเด็นกับพ่อไปเรื่อย ๆ ความที่ลูกอยากเก่ง จึงต้องพยายามคิดเพิ่มขึ้น ๆ และแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ลูกไม่เลิกคิดไปเสียก่อนก็คือ ...“ความต้องการเอาชนะพ่อ”... และแน่นอน ลูกย่อมแพ้มากกว่าชนะ ทำให้ลูกกังวลว่าจะตอบผิดเมื่อถูกครูถาม คุณพ่อส่งเสริมให้ลูกต้องการเอาชนะ และไม่อยากแพ้ โดยไม่ตั้งใจ

 

 

เด็กที่ต้องการเอาชนะ(คนอื่น) จะเป็นอย่างไร ? มองในด้านหนึ่ง ก็เป็นแรงจูงใจที่ดีเหมือนกัน.. ไม่เช่นนั้น ชีวิตก็อาจเรื่อยเปื่อยไปวัน ๆ แต่ถ้ามองอีกด้าน เราจะเห็นว่าการเอาชนะประเภทนี้ คนสู้จะเหนื่อยมากกกกก เหมือนไม่มีวันหยุด เพราะไม่มีทางที่เราจะชนะคนอื่นได้ทุกครั้ง

 

การดำเนินชีวิตโดยมีคนอื่นเป็นแรงขับดัน เด็กจะคิดเทียบตนเองกับคนอื่นตลอดเวลา เป็นรากฐานของความทุกข์และความเครียดที่หนักมากเลย ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพจิตในระยะยาว 

ที่โรงเรียน เด็ก ๆ ก็ถูกจัดลำดับให้เป็นที่หนึ่งไปจนถึงท้ายห้องอยู่แล้ว คุณพ่อควรฝึกลูกคิดอย่างมีเหตุผลในรูปแบบอื่นดีกว่า เช่น ผ่านการเล่น, หรือทำให้สนุกมากขึ้น และลดความเอาจริงเอาจังลง

 

และที่สำคัญมาก คุณพ่อต้องฝึกให้ลูกรู้ว่าการแพ้เป็นเรื่องปกติ นั่งอยู่ใกล้ลูก เพื่อฝึกลูกจัดการความผิดหวังด้วย ที่ลูกไม่กล้าตอบคำถามครู เพราะลูกรับมือกับความรู้สึกแพ้หรือความรู้สึกไม่เก่ง ไม่เป็นค่ะ 

 

 

ฝึกให้ลูกรู้ว่าการแพ้หรือตอบผิดเป็นเรื่องปกติ ทุก ๆ คนก็เคยแพ้ เคยผิด ผิดไม่ได้แปลว่าโง่ และไม่ได้แปลว่าจะถูกรังเกียจ คนไม่ชอบ คุณพ่อต้องแสดงท่าทีปกติ ไม่แซวลูกว่าแพ้หรือผิดอีกแล้ว และอย่าให้คนรอบ ๆ มาพูดซ้ำเติมว่า บอกแล้วก็ไม่เชื่อ

 

และเผลอ ๆ คุณพ่อควรแสดงท่าทีต้อนรับความผิดหรือความพ่ายแพ้ด้วยซ้ำ เพราะผิดคือบทเรียน จะทำให้ลูกรู้จุดอ่อนตัวเอง สามารถนำไปพัฒนาตนเองได้ดีขึ้น ดังนั้นอย่าทำท่าทางจริงจังเมื่อลูกทำไม่ได้, ทำผิด, หรือไม่กล้า ลูกจะยิ่งกังวลว่าตัวเองทำไม่ถูกอีกแล้ว

ฝึกให้ลูกรู้จักจัดการความผิดหวัง

✚ 1. รับฟังความรู้สึกเมื่อลูกทำผิดหรือแพ้ ✚

เราสามารถตั้งคำถามเพื่อเปิดทางให้ลูกเล่าค่ะ เช่น “พ่อเห็นลูกงอน ๆ ตอนแพ้ ลูกรู้สึกอะไรหรือ ?” หรือพ่อเห็นลูกไม่ตอบครู “ลูกกังวลอะไรมั้ย พ่ออยากเข้าใจลูก ?” และมีท่าทีรับฟังลูกอย่างเข้าใจ เช่น พยักหน้า, จับมือ, นั่งอยู่ใกล้ ๆ แบบใส่ใจ อย่าฟังเพื่อที่จะพูดสิ่งที่ตัวเองคิด และอย่าพูดแทรก, อย่าตัดบทสอนลูก ฟังค่ะฟัง

 

✚ 2.คุณพ่อต้องช่วยบอก “ชื่อความรู้สึก” ของลูกออกมา (ถ้าลูกไม่รู้) ✚

คุณพ่อลองคิดฝึกดูนะคะ ลูกงอน เราเรียกความรู้สึกนี้ว่าอะไร ? คำตอบ เสียใจ น้อยใจ โกรธพ่อ โกรธตัวเอง ผิดหวังตัวเองฯ เป็นได้ทั้งหมดรวมกันเลยค่ะ ค่อย ๆ คิดดูนะคะ ลูกใครลูกมัน คำว่า งอน เป็นไปได้หลาย ๆ อารมณ์ค่ะ และพูดออกมา ...“เข้าใจแล้ว ที่ลูกเงียบ ๆ ไม่คุย ลูกกำลังรู้สึกโกรธพ่อที่ทำให้ลูกแพ้ และผิดหวังที่ตัวเองแพ้บ่อย ๆ”...

 

งานวิจัยพบว่าถ้ามีการเอ่ยชื่อความรู้สึกออกมา สมองส่วนจัดการอารมณ์ก็จะถูกกระตุ้นด้วย แปลว่าลูกจะจัดการความรู้สึกได้ยาก หากเขาไม่รู้ว่าเขากำลังรู้สึกอะไร

 

ถ้าลูกตอบว่า ...“หนูไม่อยากแพ้”... โดยไม่มีชื่อของความรู้สึกออกจากปากลูกด้วย แปลว่าสมองส่วนจัดการอารมณ์อาจจะยังไม่ทำงาน โดยทั่วไป เมื่อลูกตอบว่า ...“หนูไม่อยากแพ้”... คนเป็นพ่อแม่ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่า ...“ครั้งหน้าหนูก็ชนะ ถ้าฝึกซ้อมบ่อย ๆ ตอนนี้ไม่เป็นไรนะคะ”...

 

บทสนทนานี้ไม่ใกล้เคียงกับการรับฟังความรู้สึกลูกเลย เด็กไม่ได้ทำความเข้าใจกับความรู้สึกตัวเอง ไม่รู้ว่าตนรู้สึกอะไรไ ด้แต่เข้าใจวิธีเอาชนะครั้งหน้า รู้สึกพ่อแม่ปลอบใจ มีความหวังขึ้น ก็เลยสบายใจ (ซึ่งไม่ได้จัดการความรู้สึกเอง) ดังนั้นหากลูกไม่พูดชื่อความรู้สึกในคำตอบ เป็นหน้าที่พ่อแม่ที่ต้องหาชื่อนั้นนะคะ 

 

✚ 3. ช่วยลูกจัดการความรู้สึก ✚

ถ้าลูกยังหงุดหงิดอยู่ หรือยังไม่อยากคุยกับใคร หลังจากพูดความรู้สึกออกมาแล้ว เราก็นั่งใกล้ ๆ หรืออาจจะเดินไปทำธุระแต่ต้องบอกลูกว่า ...“ถ้าลูกอยากคุยเมื่อไร พ่อพร้อมฟังนะคะ”... การเปิดช่องทางไว้แบบนี้ ช่วยให้ลูกมีทางออกว่าคุยเมื่อไรก็ได้ ลูกจะสบายใจขึ้น หากลูกโมโห พูดคำหยาบหรือกระฟัดกระเฟียดไม่หยุด แต่ยังพอมีสติฟัง ให้ช่วยลูกด้วยการหายใจเข้า-ออก ช้า ๆ ทำพร้อมกับลูกนะคะ

 

✚ 4. เมื่อลูกจัดการความรู้สึกได้แล้ว ✚

ก็ค่อยสอนวิธีเอาชนะหรือชวนลูกวิเคราะห์ว่าจุดอ่อนอยู่ตรงไหน เพื่อจะได้พัฒนาตนเองต่อไป ถ้าพ่อแม่มองว่า การแพ้คือเรื่องปกติ ตอบคำถามครูผิดก็ปกติ เราจะไม่ให้ความสำคัญกับการรีบปลอบลูก จะไม่รีบบอกลูกให้ฝึกเยอะ ๆ เดี๋ยวก็ชนะ แต่เราจะใช้เวลาในส่วนนั้น สอนลูกให้ยอมรับความพ่ายแพ้ ยอมรับตนเอง เมื่อตอบคำถามผิด และฝึกลูกจัดการความรู้สึกผิดหวังแทน

 

เพราะในชีวิตจริง คนสู้เก่งมีเยอะ แต่ที่ประสบความสำเร็จได้มีน้อย ส่วนหนึ่งก็ปัญหาการจัดการอารมณ์ตนเองค่ะ