1482
อย่าขู่ลูก แล้วเดินหนีไป

อย่าขู่ลูก แล้วเดินหนีไป

โพสต์เมื่อวันที่ : June 10, 2022

...”น้องอายุ 3 ขวบครึ่ง ชอบร้องไห้ งอแง โอ๋ก็แล้ว ดุก็แล้ว น้องก็ยังเป็น ร้องไห้งอแงตลอด แม่ห้ามหาย ต้องให้คุณแม่นั่งเฝ้าน้องตลอดเวลา น้องไม่ยอมจะระบายสีหรือทำตามคำสั่งเลยค่ะ”...

 

จากคำถามหมอเข้าใจว่า คุณแม่หมายถึง ลูก 3 ปีร้องไห้ งอแง ไม่ยอมหยุดไม่ว่าจะดุหรือโอ๋ กับอีกประเด็นคือ เวลาแม่บอกให้ทำอะไร ลูกไม่ทำยกเว้นแม่ต้องนั่งเฝ้า ถ้าไม่เฝ้าลูกจะร้องไห้ จึงเป็นที่มาของการดุหรือโอ๋ ใช่มั้ยคะ

 

หมอขอวิเคราะห์ทีละประเด็นแบบนี้

✚ 1. เรื่องไม่ยอมให้แม่ไปไหน แม่ต้องนั่งเฝ้า ✚

นั้นหมายความว่า ลูกไม่มั่นใจว่าแม่จะหายไปอีกเมื่อไร แปลว่า ลูกเคยมีประสบการณ์ แม่หายไปทันที ! ที่พบบ่อย ๆ คือ เวลาแม่โกรธแล้วเดินหนีลูก การเดินหนีตอนโกรธลูก เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกกลัวแม่หาย ที่พบบ่อยสุดของอายุนี้ (ถ้าอายุประมาณ 6 เดือนถึง 2 ปีกว่า ยังวิเคราะห์ว่า เป็นพัฒนาการตามวัยที่กลัวแม่หาย ถ้าห่างสายตาได้อยู่) 

 

ยิ่งถ้ามีขู่เวลาลูกดื้อด้วยว่า ...“ถ้าไม่ทำ แม่จะไม่อยู่แล้ว !”... ก็ยิ่งตอกย้ำว่าแม่จะหายเมื่อไรก็ได้ ! สำหรับเด็กเล็กโดยเฉพาะน้อยกว่า 6 ปี เรื่องนี้สำคัญสำหรับเขามาก เพราะลูกต้องค่อย ๆ พัฒนาการ “ความมั่นคงทางจิตใจ” จึงจะทำให้สามารถอยู่คนเดียว โดยแม่ไปทำธุระได้ (รู้หรือยังคะว่า ทำไมลูกอยู่คนเดียวไม่ได้)

ความมั่นคงทางจิตใจนั้น ลูกต้องได้รับจาก “แม่ที่มั่นคง” และแม่ที่มั่นคง ก็หมายถึงแม่ที่จะไม่มีวันทอดทิ้งลูกในช่วงที่ลูกต้องการแม่ที่สุด ก็คือ ช่วงที่เขากำลังโกรธ กำลังเสียใจ กำลังกลัว

 

หมอขอแนะนำให้คุณแม่พยายามควบคุมอารมณ์ให้มากที่สุด ตอนลูกร้องไห้โวยวายงอแง อย่าเดินหนีแบบทอดทิ้งลูก และห้ามขู่ว่า “จะไม่อยู่ด้วย !” หรือ “อยู่คนเดียวไปเลย!” เวลาลูกไม่เชื่อฟังเด็ดขาด (ตอนนี้เราต้องทำให้ลูกมั่นใจเราแล้วค่ะ และต้องใช้เวลาพอสมควร อาจเป็นเดือน อย่างที่เคยบอก งานซ่อมจะยากกว่างานสร้าง)



✚ 2. ส่วนเรื่องร้องไห้ งอแง ไม่ยอมหยุดไม่ว่าจะดุหรือโอ๋ ✚

หมอเคยเขียนเรื่องนี้บ่อยมากค่ะว่า ไม่ให้โอ๋และไม่ให้ดุ ยิ่งทำทั้ง 2 แบบ เด็กยิ่งสับสน คาดเดาไม่ได้ว่าแม่จะรับมือแบบดีหรือแบบโหด พอยิ่งสับสน ก็ยิ่งไม่มั่นคงในจิตใจ แล้วจะรับมือยังไง...หมอขอแนะนำการเพิกเฉยค่ะ (คลิกที่นี่เพื่ออ่าน)

 

โดยทั่วไปเมื่อเริ่มทำเทคนิคการเพิกเฉยในครั้งแรก การร้องไห้จะรุนแรงและยาวนานกว่าปกติที่ลูกเคยงอแง อย่าเข้าใจผิดว่าเราทำอะไรไม่ถูกต้อง ที่เป็นเช่นนี้เพราะเด็กรู้สึกได้ว่าพ่อแม่ไม่ง่ายแบบเดิม จึงแสดงอาการมากขึ้นเพื่อเรียกร้องให้เรากลับไปตอบสนองแบบเดิม คุณพ่อคุณแม่ต้องอดทนไว้ก่อน อย่าใจอ่อนง่าย ๆ เพราะครั้งต่อ ๆ ไปอาการจะเบาลงไปเรื่อย ๆ

สุดท้ายสำคัญมาก ครอบครัวไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์ที่ชื่นมื่นต่อกันหรือพูดง่าย ๆ ว่า มีเวลาคุณภาพน้อย ลูกจะร้องไห้มากและนาน และไม่มีวันทำสำเร็จด้วยค่ะ ดังนั้นเมื่อคุณแม่อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อย่าเพิ่งทำเทคนิคเพิกเฉยก่อนเด็ดขาด! ต้องมีเวลาคุณภาพกับลูกก่อน และต้องให้มากพอด้วยนะคะ

 

สุดท้ายของสุดท้าย ลูก 3 ปี อย่าบังคับระบายสีหรือเขียนหนังสือ มันไม่ใช่วัยเขา หมอรู้สึกเสียดายความสัมพันธ์ที่ควรจะดี กลับกลายเป็นแย่มาก ๆ กับเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องเลยค่ะ เป็นกำลังใจให้นะคะ