87
บอกล่วงหน้า อย่าแบไต๋

บอกล่วงหน้า อย่าแบไต๋

โพสต์เมื่อวันที่ : June 22, 2022

เมื่อถึงช่วงรอยต่อของการเล่นสนุกสนานไปสู่วินัย เช่น ต้องไปอาบน้ำแล้ว หรือต้องไปกินข้าว กลับเข้าบ้าน ปิดการ์ตูน เด็กทุกคนย่อมไม่อยากไป

 

หากพ่อแม่ต้องการให้ลูกรู้จักเวลา ยอมไปทำกิจวัตรประจำวันง่ายขึ้น (โดยไม่ต้องล่อให้ไปสนุกต่อ หรือขู่ดุจนลูกกลัวแล้วยอมไป ซึ่งไม่ช่วยฝึกการควบคุมตนเอง) ลองอ่านเทนิคเตรียมใจลูกง่าย ๆ ตามนี้ 

1. คุณพ่อคุณแม่บอกเวลาล่วงหน้า เพื่อให้ลูกทำใจ 

การบอกล่วงหน้าจะช่วยให้ลูกได้เตรียมใจ ดีกว่าถูกบอกให้หยุดทันทีโดยไม่ตั้งตัว วิธีบอกล่วงหน้าสำหรับเด็กๆ จะต้องทำเป็นรูปธรรมถึงจะได้ผล สำหรับวัยเตาะแตะ ยังไม่ค่อยเข้าใจภาษาพูด ควรเน้นที่ท่าทางเป็นสำคัญ แบบนี้

 

...”อีก 1 เล่ม (พร้อมชูหนังสือให้ดู) แล้วต้องไปนะคะ”... (เด็กเข้าใจจากภาษาท่าทางที่ประกอบคำพูด)
...”อีก 1 รอบ (แล้ววาดมือให้วน 1 รอบของการขี่จักรยาน) แล้วเข้าบ้านนะคะ”... (เด็กเข้าใจจากภาษาท่าทางที่ประกอบคำพูด)
...“ช่วยกันตักน้ำจนหมดกาละมังแล้วเราต้องขึ้นนะคะ” (เด็กเข้าใจจากปริมาณน้ำที่ลดลงไปเรื่อยๆ โดยได้ช่วยวิดน้ำออก) 

 

 

ถ้าลูกพอจะรู้จักตัวเลข ให้บอกแบบนี้ “เข็มยาวเลข 9 (พร้อมชี้ไปที่เลข 9 ของนาฬิกา) เราต้องไปอาบน้ำแปรงฟันนะ” แนะนำให้บ้านที่มีลูก ให้ใช้นาฬิกาที่มีเข็มยาว เข็มสั้น และตัวเลขครบ 12 ตัว ไม่ใช้นาฬิกาไม่มีตัวเลขหรือนาฬิกาแบบดิจิทัล เพราะช่วยให้มองเห็นเลขที่ต้องการชัดเจนกว่า และถ้าทำได้ ให้แปะสติกเกอร์ที่มีสีสันตรงตรงตัวเลขที่ใช้บ่อย ๆ จะช่วยให้เด็กมองถูกตัวเร็วขึ้น

 

ถ้าลูกพอจะรู้จักเวลา ให้บอกแบบนี้ “อีก 5 นาที เราขึ้นข้างบนอาบน้ำนะคะ” หรือจะใช้นาฬิกาทรายก็ได้ นาฬิกาทรายมีหลายขนาด แบบ 5 นาที, 10 นาที เราเลือกซื้อได้ (ลองหาดูนะคะ) 

 

หมอชอบนาฬิกาทราย เพราะเด็กจะเห็นการเดินทางของเวลา ทรายจะค่อยๆลดลงจนหมดด้านหนึ่ง ซึ่งแปลว่าหมดเวลาแล้ว ดีกว่าการจับเวลาด้วยมือถือ เด็กไม่เห็นเวลาเดินทาง ทำให้กะเวลาไม่ถูก ยังไม่ได้ทำใจ เสียงก็ดังขึ้นแล้ว ทำให้หงุดหงิดได้ และข้อดีอีกอย่างของนาฬิกาทรายคือ ใช้ในเด็กเล็กที่ยังไม่รู้จักตัวเลขได้ด้วย

 

✚ 2. การระบุเวลา ✚

ตามข้อ 1 แนะนำให้ลูกได้ต่อรองและต้องให้ลูกต่อรองสำเร็จ!! (อารมณ์เหมือนลูกชนะเราน่ะค่ะ) ขอแนะนำเทคนิค “อย่าแบไต๋” โดยให้พ่อแม่เก็บตัวเลขที่ต้องการไว้ในใจ และให้บอกตัวเลขอื่นที่น้อยกว่า เพื่อให้ลูกต่อรองสำเร็จ เช่น เราต้องการให้ลูกไปตอนเข็มยาวเลข 9 เราจะบอกลูกว่า “เข็มยาวเลข 6 (พร้อมชี้ไปที่เลข 6 ของนาฬิกา ) เราต้องไปอาบน้ำแปรงฟันนะ” เด็กที่ต้องการควบคุม จะต่อรองเวลา ลูกจะบอกว่า “ไม่ ! หนูจะเอาเลข 9” 

 

เจอแบบนี้ ก็ลงล็อคเรา คุณพ่อคุณแม่ก็ตอบตกลงลูกเลย และเรายังสามารถชื่นชมลูกได้ด้วย “แม่ชอบเวลาที่ลูกเลือกนะ เยี่ยมมาก!” นอกจากไม่เสียเวลางัดข้อกันแล้ว ยังได้ชื่นมื่นกันด้วย แต่ถ้าลูกใครชอบต่อเยอะ เราก็บอกตัวเลขที่น้อยกว่านั้นเยอะๆ เช่น “เข็มยาวเลข 3 เราต้องไปอาบน้ำแปรงฟันนะ” เป็นต้น

 

แต่หากเราไม่แน่ใจว่าลูกจะเลือกเลขที่เราล็อคหรือไม่ ให้ลองใช้ “ตัวเลือก” แทน โดยมีตัวเลขที่เราต้องการและตัวเลขน้อยไว้ล่อเด็ก ดังนี้ “เดี๋ยวจะได้เวลาอาบน้ำแล้ว ลูกจะไปตอนเข็มยาวเลข 9 หรือ เลข 6 ลูกเลือกเวลาไหน” เด็ก ๆ ก็มักจะเลือกเลข 9 ลงล็อคเราค่ะ อย่าลืมชื่นชมลูกที่เลือกเวลานี้นะคะ เมื่อความสัมพันธ์ดี ลูกจะร่วมมือกับพ่อแม่ในเรื่องอื่นๆง่ายขึ้นด้วย  

พ่อแม่ควรเข้าใจวัยของลูกที่ต้องการควบคุม ไม่ใช่ถูกควบคุม เราจึงควรหาวิธีการที่ไม่งัดกันตรงๆ ไปมา (เถียงกัน) โดยลืมธรรมชาติของเด็ก วิธีนี้เป็นทริคง่ายๆ ที่ช่วยลดแรงปะทะได้ ลูกเลือกตัวเลขที่พ่อแม่เก็บไว้ในใจนั้น โดยไม่รู้เลยว่า พ่อแม่คิดตัวเลขนี้ไว้ก่อนแล้ว ถ้ามองเป็นเกมส์ ลูกจะรู้สึกว่าตนเองชนะ, รู้สึกได้ควบคุมกติกา ซึ่งความรู้สึกนี้จะทำให้การไปอาบน้ำ แปรงฟัน เข้าบ้านง่ายขึ้น 

 

พ่อแม่ควรระวังการแบไต๋ไปแล้ว ค่อยมาต่อรอง การบอกตัวเลขที่ต้องการไปแต่แรก แล้วต่อรองกัน ส่วนใหญ่จะไม่ราบรื่น เพราะพ่อแม่จะไม่ยอมเปลี่ยนตัวเลข หรือ ถ้าเปลี่ยนให้ สีหน้าและอารมณ์ของเราจะไม่นิ่งเท่าวิธีอย่าแบ๋ไต๋ ซึ่งเด็กเขารับรู้อารมณ์พ่อแม่ได้เร็วนะคะ เขารู้ว่าเรายอมแต่ไม่ชอบ ต่างจากทริคที่หมอแนะนำ ตัวเลขที่เราต้องการไม่ถูกเผย พ่อแม่รับรู้ว่าเรากำลังควบคุมสถานการณ์ สีหน้าท่าทีและน้ำเสียงจะนิ่งกว่า และยังทำให้มีอารมณ์ชื่นชมลูกเมื่อเขาตอบตกลงด้วยค่ะ

 

..."บอกล่วงหน้าและอย่าแบไต๋"...