การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หมีน้อยต้องเก็บบอลให้หมดก่อนออกไปเที่ยว ขณะที่หมีน้อยเก็บไปเรื่อย ๆ จนถึงลูกสุดท้าย หมีน้อยไม่รู้ว่าข้างใต้ลูกบอลนั้นมีปลาหมึกซุกอยู่ในกล่องกระดาษเล็ก ๆ เมื่อหมีน้อยหยิบบอลขึ้นมา จึงได้เห็นปลาหมึกตรงหน้า ปลาหมึกคือสิ่งเร้าใหม่ ! ที่ทำให้หมีน้อยวอกแวกจากการเก็บบอล
พวกเราคิดว่า หมีน้อยจะคงเก็บบอลที่อยู่ในมือให้เสร็จเรียบร้อย หรือจะปล่อยบอลจากมือ แล้วหันไปเล่นปลาหมึกในกระดาษแทน ถ้าเป็นลูกเราล่ะ เขาจะทำยังไง ?
ตัวอย่างหมีน้อยเก็บของ สามารถอธิบายการพัฒนาทักษะสมอง EF ได้ดีเลยค่ะ ทวนสักหน่อยนะคะ ทักษะสมอง EF คือ ความสามารถในการกำกับตนเองเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย โดยต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่าง ดังนี้
พวกเราต้องมีการกำหนดเป้าหมายก่อนค่ะ ถึงจะเริ่มฝึกทักษะสมอง EF ได้ ถ้าไม่มีเป้าหมาย ก็คงเรียกว่าฝึกทักษะสมอง EF ไม่ได้ ดังนั้นเวลาที่คุณพ่อคุณแม่เล่นกับลูกเพื่อฝึกทักษะนี้ คุณจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายด้วย ถ้าไม่รู้จะเล่นอะไรที่ต้องมีเป้าหมาย ง่ายที่สุดคือให้เด็กช่วยเหลือตนเอง และฝึกทำงานบ้าน กิจกรรมพวกนี้ มีเป้าหมายชัดเจนมาก และไม่เสียเงินด้วย
ในกรณีของหมีน้อยเป้าหมาย คือ เก็บของเล่นให้หมดก่อนไปเที่ยวทะเลกับพ่อแม่ ในภาพ คือ ช่วงเก็บลูกบอล สมองจะต้องคิดตลอดเวลาว่า “เก็บบอลให้หมด ๆ” เราเรียกว่าหมีน้อยมี ความจำใช้งาน และระหว่างที่เก็บลูกที่ 1 2 3 ก็ต้องอาศัย การยับยั้งตนเอง ไม่ให้เลิกเก็บไปเสียก่อน การยับยั้งตนเองกับความจำใช้งานจะมาพร้อม ๆ กัน ถ้าหากมีบอลมากกว่านั้นอีก เด็กก็ต้องยับยั้งตนเองนานขึ้น ๆ และเด็กที่สมาธิดีจะสามารถเก็บของเล่นมากมายได้ ซึ่งแปลว่า เด็กจะต้องมีความจำใช้งานที่ดี จำได้ว่าต้องทำอะไรบ้าง และยังยับยั้งตนเองได้นาน ไม่เลิกจนกว่าจะถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ได้ด้วย
ส่วนเด็กที่ทำงานไม่เสร็จ, เลิกเก็บของเล่น แล้วไปเล่นอย่างอื่นแทน แปลว่าเขายับยั้งตนเองได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งมักเกิดจาก “การวอกแวก” คือเห็นอย่างอื่นน่าสนใจ แล้วลืมความจำใช้งาน ไม่ยับยั้งตนเองเพื่อทำให้จนสำเร็จก่อน ฝึกไปเรื่อย ๆ เด็กจะมีสมาธินานขึ้น ๆ ค่ะ
(หมอขอแนะนำให้พ่อแม่ที่จะฝึกทักษะสมอง EF หรือฝึกสมาธิลูก ควรเก็บสิ่งของในบ้านให้เป็นระเบียบ อย่าให้รกอยู่ในลานสายตาเด็ก หรือบางทีต้องนำของเล่นมากมายออกจากพื้นที่นั้นไปก่อน เพื่อลดสิ่งเร้า รวมทั้งเสียงจากจอทีวีหรือเสียงคนพูด ก็ควรไม่มี โดยเฉพาะเด็กที่วอกแวกง่าย)
แต่บางครั้ง เด็กเลิกทำกันคันก็ไม่ใช่เพราะมีสิ่งวอกแวก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ ซึ่งอาจเกิดจากสมองขาดประสบการณ์ทำจนถึงเป้าหมาย พูดง่าย ๆ ว่า พ่อแม่ไม่เคยพาลูกเก็บของจนเสร็จโดยไม่วอกแวก สมองลูกจึงไม่มีรอยหยักแบบมีสมาธิต่อเนื่อง ซึ่งเป็นรอยหยักสำคัญที่จะทำให้ลูกทำตามประสบการณ์เดิมได้ในครั้งต่อ ๆ ไป
ดังนั้นพ่อแม่ควรพาลูกเก็บของเล่น หรือทำงานที่ตั้งเป้าหมายให้เสร็จก่อนไปทำอย่างอื่น เช่น ชวนใส่เสื้อผ้าเอง ชวนใส่รองเท้าเอง โดยทำอย่างต่อเนื่อง อย่าให้ลูกวอกแวกออกไปแล้วเรียกกลับมาเป็นใหม่ เป็นระยะ ๆ นะคะ เพราะการที่ลูกยับยั้งตนเองไม่ได้ แล้วกลับมาทำต่อนั้น เราถือว่า สมาธิช่วงแรกจบไปแล้ว การกลับมาทำต่อ เราเรียกว่า เป็นการเริ่มของสมาธิในรอบใหม่ ไม่ใช่สมาธิต่อเนื่อง
(เด็กควรถูกฝึกให้มีสมาธิต่อเนื่อง เพราะงานที่ซับซ้อนต้องการสมาธิที่ยาวนานพอ)
กลับมาที่หมีน้อยของเรา หมีน้อยไม่ได้หันไปเล่นปลาหมึก และยังคงเก็บบอลต่อเนื่องตามความจำใช้งานแรกที่จำได้ว่าต้องเก็บของเล่นให้เสร็จก่อน โดยสามารถยับยั้งตนเองไว้ได้ค่ะ และหมีน้อยยังมีความจำใช้งานอย่างที่สองเกิดขึ้นตอนที่เห็นปลาหมึกด้วย หมีน้อยดึงความจำที่ซุกอยู่ในสมองออกมาเป็นความจำใช้งานว่า “ปลาหมึกต้องเก็บในถุงสัตว์ทะเล” เมื่อหมีน้อยทำงานของความจำใช้งานแรกสำเร็จ คือ เก็บบอลเสร็จแล้ว หมีน้อยก็หันกลับมาเก็บปลาหมึกใส่ถุงสัตว์ทะเลให้เรียบร้อยต่อได้เลย
จริง ๆ ตรงนี้มีจุดอ่อนสำหรับเด็กสมาธิสั้นค่ะ แทนที่เขาจะเก็บปลาหมึกใส่ถุง เด็กที่ไม่สร้างความจำใช้งานที่สอง(ปลาหมึกต้องเก็บในถุงสัตว์ทะเล) จะเล่นปลาหมึกอย่างสนุกสนาน จนเลยเวลาเก็บของเล่นไปเลย
หมอใช้คำว่าไม่สร้างความจำใช้งานที่สอง ก็เพราะเด็กสมาธิสั้นมีความจำปกติ เพียงแต่ไม่ได้ดึงออกมาใช้งาน (ความจำทั่วไป กับความจำใช้งานไม่เหมือนกัน) ลองสังเกต ตอนเด็กทำผิดแล้วถามว่าผิดอะไร เด็กจะตอบได้เลยว่าเขาต้องเก็บของเล่นทั้งหมด รวมทั้งต้องเก็บสัตว์ทะเลลงถุงด้วย แปลว่า ความเข้าใจและความจำนั้นดี แต่ไม่ได้ดึงออกมาสร้างเป็น "ความจำใช้งาน" เท่านั้นเอง
สำหรับหมีน้อย เราจะเรียกช่วงที่หมีน้อยเก็บปลาหมึกแทนการเล่นสนุกว่า หมีน้อยมีความคิดที่ยืดหยุ่น คือ เลือกเก็บของเล่นให้ทันเวลาก่อน แล้วค่อยเล่นสนุกทีเดียวตอนหลังก็ได้
ถึงตอนนี้ เห็นแล้วนะคะว่า ทำไมต้องฝึกทักษะสมอง EF ลูก เด็กที่มีทักษะนี้ดีมาก เขาจะพาตนเองไปถึงเป้าหมายได้แน่นอนค่ะ เพราะเขาสามารถยับยั้งตนเอง มีความจำใช้งาน และมีความคิดที่ยืดหยุ่นด้วย
เรามาฝึกลูกกันนะคะ งานบ้านและกิจกรรมช่วยเหลือตนเองทุกอย่าง คือ ทำได้เลย อายุน้อย ก็ทำง่าย ๆใช้สมาธิไม่มาก อายุมากขึ้นก็ให้ทำงานยากขึ้นซับซ้อนขึ้น ซึ่งต้องใช้สมาธินานขึ้นไปเอง ฝึกทุก ๆ วันไปจนโต เด็กมีทักษะสมอง EF ดีแน่นอนค่ะ ที่สำคัญ พ่อแม่ต้องพาลูกทำงานจนเสร็จ อย่างใจเย็น ๆ นะคะ