160
สอนลูกรับมือ "เมื่อเพื่อนไม่ให้เล่น"

สอนลูกรับมือ "เมื่อเพื่อนไม่ให้เล่น"

โพสต์เมื่อวันที่ : June 29, 2022

...”แม่เรื่องกังวลใจมาก ๆ เกี่ยวกับลูกชาย 2.9 ขวบค่ะ คือ น้องเป็นเด็กร่าเริง คุยเล่นกับทุกคนค่ะ ค่อนข้างไม่กลัวคน แต่พักหลัง ๆ แม่สังเกตเห็นว่าน้องจะทักทุกคนที่เดินผ่าน ไม่ว่าจะรู้จักหรือไม่รู้จักอาจจะเพราะน้องเป็นลูกเดียวเลยต้องการเพื่อนเล่นอันนี้แม่เข้าใจ"...

..."แต่ที่แม่หนักใจคือน้องจะทักทุกคนแต่ไม่ใช่ทุกคนจะเล่นกับน้อง เด็กบางคนพลักน้องบ้าง ไล่น้องบ้างทั้ง ๆ ที่อยู่หมู่บ้านเดียวกันเขาขับจักรยานผ่านหน้าบ้านน้องก็ไปทักเขาก็ไล่น้อง น้องก็จะทำหน้างง ๆ หน้าเสีย ๆ แล้วเดินมาหาแม่ แม่อยากจะสอนเขาแต่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหนดี แม่เลี้ยงน้องเอง 24 ชั่วโมงค่ะ พ่อก็ทำงานอยู่บ้านทุกคนเล่นกับน้องตลอด แต่เหมือนน้องอยากจะหาเพื่อนรุ่น ๆ เดียวกัน แม่ไม่รู้จะสอนน้องยังไงเมื่อน้องเจอสถานการณ์แบบนี้ หรือในอนาคตถ้าน้องต้องเจอแบบนี้อีกแม่ควรจะทำยังไงดีคะ”...

 

เด็กกำลังเรียนรู้ทักษะทางสังคมค่ะ บางครั้งก็ได้รับการตอบสนองดี แต่บางครั้งก็โดนปฏิเสธ ถือเป็นเรื่องปกตินะคะ และอย่าลืมว่าอีกฝ่ายก็เป็นเด็กเช่นกัน 

 

คุณแม่อย่าเพิ่งกังวลไปไกล หมอกลับคิดว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะช่วยให้ลูกได้ฝึกเข้าใจ “มุมมองของคนอื่น” ซึ่งกำลังพัฒนาอย่างเข้มข้นในช่วงเวลาประมาณ 3 ขวบเลยค่ะ (กำลังจะเข้าอนุบาลเพื่อนจะเยอะขึ้น จะได้ไม่หน้างงตลอดเวลา) ที่คุณแม่บอกว่าลูกทำหน้างง ๆ ลูกเขาก็อยากเข้าใจว่าเพื่อนที่ผลักคิดอะไรอยู่ เวลาที่คุณแม่สอนลูกมองมุมเพื่อนคนที่ผลักหรือไล่น้อง อย่าลืมมองว่าฝ่ายนั้นก็ยังเป็นเด็กเล็ก ๆ นะคะ 

 

เมื่อเพื่อนลูกปฏิเสธ

 

✚ 1. อธิบายความคิดและความรู้สึกของลูก เพื่อให้ลูกเข้าใจตนเอง ✚

หมอตั้งคำถามให้พวกเราฝึกคิดนะคะ “ตอนที่เพื่อนผลักลูกหรือไล่ลูก คุณแม่คิดว่าลูกรู้สึกอะไร ?” ตอบเป็นความรู้สึกนะคะ อย่าตอบเป็นความคิด 

 

ถ้าตอบว่า ...“ลูกอยากให้เพื่อนเล่นด้วย”... คำตอบนี้เป็นความคิดไม่ใช่ความรู้สึก ลองคิดใหม่อีกทีนะคะ ใช่ค่ะ...เป็นได้หลายความรู้สึก เช่น รู้สึกงง รู้สึกตกใจ รู้สึกผิดหวัง รู้สึกกังวล เมื่อได้ชื่อความรู้สึกมาแล้ว เราก็อธิบายความรู้สึกของลูกบวกกับความคิดของเขา เพื่อให้ลูกเข้าใจตนเอง ดังนี้

 

ให้คุณแม่ย่อตัวลง สบตากับลูกในช่วงที่ลูกกำลังเหวอ ๆ อยู่ แล้วพูดออกไปอย่างเข้าใจ ...“แม่เห็นแล้ว ลูกรู้สึกตกใจที่เพื่อนไล่หนูออกมา”... พูดเสร็จสบตาลูกด้วยนะคะ เพื่อดูว่าลูกพยายามทำความเข้าใจที่แม่พูดอยู่หรือเปล่า เสร็จแล้วก็ต่อด้วย ...“จริง ๆ หนูอยากให้เพื่อนมาเล่นด้วย ใช่หรือเปล่าคะ”... รอการตอบสนองของลูกค่ะ ลูกอาจพยักหน้า แม่ก็ตอบสนองกลับอย่างเข้าใจ ...“จ้ะลูก”...

✚ 2. ยืนยันกับลูกว่าลูกไม่ได้ทำผิด เพื่อให้ลูกยังคงมั่นใจเหมือนเดิม ✚

เช่น ...“ที่ลูกเดินเข้าไปชวนเพื่อนเล่น ลูกไม่ได้ทำผิดนะคะ ที่เพื่อนยังไม่เล่นด้วย เขากำลังยุ่งอยู่ ลูกเห็นไหมเพื่อนขี่จักรยาน เพื่อนกำลังคิดว่าจะขี่ให้เก่ง ๆ เลย ก็เลยไม่ได้สนใจลูก”...

 

เด็กส่วนใหญ่ เวลาที่เกิดปัญหาแล้วไม่เข้าใจ มักจะมองว่าตนเองผิด ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จะต้องลงรายละเอียด เพื่อให้ลูกเข้าใจเหตุการณ์นั้นจริง ๆ เข้าใจทั้งความคิดตนเองและของคนอื่น อย่าโฟกัสแค่อยากให้เพื่อนเล่นกับลูกเท่านั้น เพื่อให้ลูกคงความกล้าหาญในการเข้าหาเพื่อนไว้ค่ะ 

 

✚ 3. อธิบายความคิดและความรู้สึกของเด็กคนอื่น เพื่อให้ลูกเข้าใจคนอื่น ✚

เด็กที่มีทักษะสังคมดี คือ เด็กที่สามารถเข้าใจตนเองและเข้าใจผู้อื่นด้วย เมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กรู้สึกงงกับปฏิกิริยาของเพื่อน แปลว่าลูกยังไม่เข้าใจเพื่อน โอกาสที่จะทำผิดซ้ำก็สูงหมายถึงเข้าหาเพื่อนผิดจังหวะค่ะ แต่หากลูกเข้าใจความคิดของเพื่อน ลูกจะกลับมาจัดการตัวเองได้ง่ายขึ้น 

 

เมื่อกี้หมออธิบายความคิดของเพื่อนไปแล้วว่า ...“เพื่อนคงกำลังคิดจะขี่จักรยานให้เก่งจึงไม่ได้สนใจลูก”... หลักคิดก็คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องมองไปที่เพื่อนลูกว่าทำอะไรอยู่ แล้วอ่านความคิดเด็กคนนั้น

เราเป็นผู้ใหญ่ โอกาสที่จะอ่านความคิดของเด็กผิดนั้นน้อยมาก แล้วจริง ๆ เด็ก ๆ ก็มักทำอะไรตรง ๆ ไม่ซับซ้อน อย่างกรณีที่เด็กผลักลูกออกมา ก็เป็นไปได้ว่าเขาอาจกลัวลูกมาแย่งขี่รถ เราสามารถบอกลูกได้ แบบนี้ค่ะ ...“ลูกเห็นไหมเพื่อนกำลังขี่จักรยานสนุก ๆ อยู่ ที่เพื่อนไม่ให้ลูกเล่น ที่ทำท่าโบกมือและพูด ‘ไป ไป’ ก็เพราะเพื่อนคิดว่าลูก ‘อาจจะ’ มาขี่จักรยานของเขาก็ได้ เพื่อนเขายังไม่อยากแบ่งตอนนี้”...

 

คำว่า “อาจจะ” เพราะการอ่านความคิดเด็กไม่สามารถถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ คำว่า “อาจจะ” จะทำให้ลูกเข้าใจว่ามีความเป็นไปได้ตามแม่คิด และอาจไม่ใช่ตามแม่คิดก็ได้ ลูกจะมีพื้นที่สำหรับใส่มุมมองเพื่อนได้อีก ไม่ฟันธงว่าเพื่อนไม่ดี

 

คุณพ่อคุณแม่อย่ากังวลเรื่องการใช้คำนะคะ หมอใช้คำว่า “อาจจะ” กับลูกมาตั้งแต่ลูกขวบกว่า ๆ เด็กสามารถเรียนรู้ความหมายของคำได้จากบริบทที่เกิดขึ้น เมื่อเราใช้บ่อย ๆ ลูกจะเข้าใจเอง

 

✚ 4. มองหาทางออกหลาย ๆ ทางเกี่ยวกับเรื่องนี้ ✚

ตอนนี้มาถึงการแก้ปัญหาค่ะ ปัญหาคือลูกอยากมีเพื่อนเล่นแต่ไม่ใช่เพื่อนทุกคนที่จะเล่นด้วย แถมบางคนผลักกลับด้วยซ้ำ เราจะชวนลูกเริ่มคิดแก้ปัญหานี้นะคะ

 

สำหรับเด็ก 2 - 3 ปี เราควรสรุปสิ่งที่อธิบายให้ลูกฟังไปแล้วทั้งความคิดของลูกและความคิดของเพื่อน ก่อนที่จะตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบกับลูก ...“เอายังไงดีน้า ลูกอยากจะเล่นกับเพื่อน แต่เพื่อนยุ่งกับการขี่จักรยาน และบอกว่า ‘ไป ! ไป !’ ยังไม่สนใจเล่นกับลูกเลย เราจะทำยังไงดีนะลูก”...

 

การตั้งคำถามให้ลูกหาคำตอบ เราไม่ได้คาดหวังลูกตอบคำถามได้ 100% แต่เราต้องทำให้ลูกเคยชินกับการมีส่วนร่วมในโจทย์ชีวิตเขาค่ะ ย้ำนะคะ ทำเพื่อให้ลูกเคยชินกับการแก้ปัญหาโจทย์ชีวิตเขา เมื่อเราทำบ่อย ๆ ลูกจะคิดและตอบเก่งขึ้น เรียนรู้การรับผิดชอบในการคิดเองมากขึ้น ไม่ใช่รอฟังคำบอกของพ่อแม่อย่างเดียว

เมื่อสักครู่หมอบอกว่าไม่ได้คาดหวังลูกตอบได้ ก็หมายความว่าคุณพ่อคุณแม่จะต้องมีคำตอบอยู่ในใจสัก 2- 3 อย่าง หรืออย่างน้อยก็ควรมากกว่า 1 อย่างเช่น ...“หนูจะวิ่งเล่นกับแม่แทน หรือจะกลับไปเล่นของเล่นกันที่บ้าน แล้วค่อยออกมาหาเพื่อนตอนอื่น”...

 

ที่หมอให้คุณแม่หาคำตอบมากกว่าหนึ่งอย่าง ก็เพื่อมีตัวเลือกให้ลูก อย่างน้อยลูกก็จะได้เป็นคน “ตัดสินใจแก้ปัญหาโจทย์ชีวิตตนเอง” ลูกอาจตัดสินใจ “กลับบ้าน” หรือ “วิ่งเล่นต่อก็ได้” แต่หมอเชื่อว่าลูกจะมีความสุข เพราะลูกเข้าใจเหตุการณ์ทั้งหมด และได้ตัดสินใจเอง โดยมีคุณแม่ที่เข้าใจอยู่ข้าง ๆ 

 

โดยสรุปให้โฟกัสที่ความคิดและความรู้สึกของลูกก่อน แล้วต่อด้วยความคิดและความรู้สึกของเพื่อน เมื่อลูกทำความเข้าใจได้ทั้งหมดแล้ว ก็ค่อยมองหาทางออกโดยยังให้ลูกเป็นผู้ตัดสินใจค่ะ

 

...”อ้อ...อย่าลืมสังเกตลูกเราด้วยว่าทำอะไรที่ไม่โอเคกับเพื่อนหรือเปล่า หากมีก็ต้องแก้ไขลูกเราด้วยนะคะ”...