การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
พ่อแม่ส่วนใหญ่อึดอัดใจเวลาจะคุยเรื่องเพศกับลูก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่แน่ใจว่าจะพูดได้มากแค่ไหน และลูกจะมีคำถามที่นึกไม่ถึงมาถามหรือเปล่า ?
เหล่านี้จึงทำให้เรื่องเพศเป็นสิ่งลึกลับในบ้าน ซึ่งขัดกับความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก ซึ่งความจริงแล้ว เด็กต้องการรู้เรื่องนี้จากคนที่ไว้ใจได้มากที่สุดก็คือ พ่อแม่ ไม่ใช่คนในอินเตอร์เน็ต !
หมออยากบอกว่า เด็กเล็ก ๆ จนถึงประมาณก่อน9ปี มีความสงสัยในเรื่องเพศไม่ลึกซึ้งในระดับที่ผู้ใหญ่คิดกันเลยนะคะ และทางการแพทย์ก็แนะนำให้พ่อแม่เริ่มคุยเรื่องเพศตั้งแต่เด็กรู้เรื่อง ซึ่งอายุประมาณ 2-3 ปีเลยค่ะ
โดยอาศัยช่วงที่อาบน้ำให้ลูก สอนให้ลูกรู้จักชื่อของอวัยวะเพศ เช่น “ตรงนี้เรียกว่าจู๋เอาไว้ฉี่นะคะ” ส่วนเด็กผู้หญิงเราก็บอกว่า “ตรงนี้เรียกว่าจิ๋ม เอาไว้ฉี่ค่ะ” ท่าทีของผู้ปกครองจะไม่แตกต่างจากการสอนให้ลูกเข้าใจว่า มือมีไว้ใช้ตักอาหารเข้าปากหรือวาดรูป ส่วนหูมีไว้ฟังเสียง
การสอนด้วยเสียงปกติ ทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่คุยเรื่องนี้ได้และปลอดภัยที่จะคุย สอนให้รู้จักชื่อและการทำงานแล้ว ก็ให้เพิ่มความสำคัญเข้าไปด้วย “แต่จิ๋ม/จู๋จะพิเศษกว่าที่อื่น ๆ ตรงที่อย่าให้ใครมาจับเลยนะคะ เป็นพื้นที่ส่วนตัวของเราเลย” ถ้าพูดเสียงปกติ ลูกก็จะรับรู้และเข้าใจ โดยไม่เขินอาย หรือกังวลใด ๆ เลย (อย่างไรก็ตาม การสอนไม่ให้คนอื่นจับ ไม่ได้การันตีว่าลูกจะทำได้แน่ ๆ พ่อแม่ยังต้องเลี้ยงลูกแบบสอดส่อง จะให้ไปเล่นแถวไหน อยู่กับใครต้องระมัดระวังอย่างมาก ๆ อย่าให้คลาดสายตานะคะ ยังไงลูกก็ยังเด็ก)
เช่น “ตรงนี้คือจิ๋มหรือคะ” ซึ่งลูกอาจได้ยินมาจากเพื่อน หรืออาจถามว่า “ทำไมตรงนี้ของหนูไม่เหมือนแม่ ของแม่มีขนด้วย” ผู้ปกครองต้องไม่ดุเด็ก ไม่หัวเราะ และไม่ควรมีท่าทีเขินดูผิดปกติไปจากเดิม เพราะหากลูกรู้สึกผิดที่ถาม หรือรู้สึกกังวล เขาจะไม่กล้าถามอีก อาจจะไปหาคำตอบจากที่อื่นแทน
ให้พ่อแม่หันมาสนใจฟังคำถามลูกอย่างตั้งใจ และอธิบายด้วยน้ำเสียงปกติ “ใช่ค่ะลูก ของผู้ใหญ่จะมีขนแต่ของเด็กยังไม่มีขน ถ้าหนูโตขึ้นก็จะมีขนเหมือนแบบนี้ค่ะ” หมอพบว่า เด็กส่วนใหญ่ฟังคำตอบนี้แล้วก็เฉย ๆ บางคนก็อาจบอกว่าไม่เอาขน ดูไม่สะอาด จะเห็นว่าเด็กไม่คิดถึงเรื่องทางเพศเลย ขอให้ผู้ปกครองสบายใจในการคุยนะคะ ทางที่ดี หมออยากให้พ่อแม่เป็นฝ่ายชวนคุยเรื่องนี้ก่อน เพราะบางทีเด็กก็ไม่มีคำถามมาให้ และการชวนคุยเป็นการบอกลูกทางอ้อมว่า พ่อแม่คุยเรื่องนี้ได้
เด็กบางคนถูสบู่แล้วมีความรู้สึกเกิดขึ้น เช่น เด็กผู้ชายลูบจู๋ไปมาแล้วแข็งขึ้น หรือเด็กผู้หญิงก็รู้สึกเพลิน เมื่อเอามือจับตรงบริเวณจิ๋มแล้วถูไปมา สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นภาวะปกติค่ะ เด็กสำรวจร่างกายแล้วบังเอิญค้นพบความรู้สึกเพลิดเพลินบางอย่างด้วย เราจะใช้คำว่าเด็กช่วยตัวเองก็ได้นะคะ
ถ้าผู้ปกครองเห็น หมอแนะนำให้ใช้วิธีเบี่ยงเบนไปทำกิจกรรมอย่างอื่น โดยไม่ดุ ไม่ต่อว่าเด็ก แต่หากพบว่าเกิดขึ้นถี่ ๆ ขอแนะนำให้สำรวจชีวิตประจำวันของเด็ก เด็กอาจรู้สึกเหงา เบื่อ เครียด คุณพ่อคุณแม่ควรชวนลูกมาทำกิจกรรมมากขึ้น พูดคุยในเชิงบวกเพิ่มขึ้นด้วย และในบาง Case ที่ลูกช่วยตัวเอง อาจเกี่ยวข้องกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศก็ได้ ถ้าหากไม่แน่ใจ แนะนำให้พบแพทย์นะคะ
ในช่วงอายุ 3-4 ปี เด็กจะเรียนรู้เรื่องเพศชาย เพศหญิงจากรูปลักษณ์ภายนอก ลูก ๆ จะตอบได้ว่าที่ห้องมีเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงด้วย ความสนใจเรื่องนี้ของตัวเอง ก็ทำให้สนใจอวัยวะเพศของคนอื่นได้ เช่น ถ้าลูกเราเป็นเด็กผู้หญิง ก็อาจจะถามเราว่าทำไมผู้ชายมีจู๋ ในทางตรงกันข้ามถ้าลูกเราเป็นเด็กผู้ชาย ก็อาจถามเราว่า ทำไมของเพื่อนผู้หญิงไม่เหมือนของเขา
คุณพ่อคุณแม่ไม่ดุลูกนะคะ ไม่ใช่ว่าลูกทะลึ่ง อย่าเพิ่งคิดไปไกลว่า ลูกกำลังสนใจเรื่องเพศแบบผู้ใหญ่ เป็นเพียงความอยากรู้อยากเห็นตามวัยซึ่งเป็นภาวะปกติค่ะ ลูกหมอก็ถามว่าทำไมของเพื่อนผู้ชายเป็นยาว ๆ พ่อแม่ควรสอนลูกให้เข้าใจด้วยน้ำเสียงปกติเหมือนเดิม เช่น “ของเพื่อนผู้ชาย ที่ไว้ฉี่เราเรียกว่าจู๋ก็ยาว ๆ แบบที่ลูกเห็นนั่นแหละ แต่ก็ทำหน้าที่ฉี่เหมือนจิ๋มเลยนะคะ”...
สิ่งสำคัญอีกอย่าง ที่หมออยากย้ำคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนเรื่องของความเหมาะสมด้วย ตอนที่ลูกหมอเด็ก ๆ มาถาม หมอก็ถามลูกกลับว่า “ลูกรู้ได้ยังไงว่าของผู้ชายยาว ๆ” ลูกสาวก็เล่าว่า “เพื่อน ๆ ชวนไปดูในห้องน้ำเด็กผู้ชาย” หมอไม่ดุลูกนะคะ เพราะรู้ว่าเป็นวัยอยากรู้อยากเห็น แต่หมอสั่งสอนลูกอย่างจริงจังว่า “เด็กผู้หญิงเข้าห้องน้ำผู้ชายไม่ได้ และเด็กผู้ชายก็เข้าห้องน้ำผู้หญิงไม่ได้เหมือนกัน ทั้งจิ๋มและจู๋ต้องไม่ให้ใครเห็นไงคะ” "อย่าเล่นแบบนี้อีก บอกเพื่อน ๆ ด้วย"
ความหนักแน่นและจริงจัง ทำให้ลูกรู้ว่าเรื่องนี้ไม่ควรทำอีก แต่ความสงสัยของลูก เด็กรับรู้ได้ว่าแม่ใจดีและอธิบายได้่ปกติ พ่อแม่ต้องแยกให้ได้นะคะ ถึงหมอจะพูดตลอดว่าให้สอนเรื่องเพศด้วยน้ำเสียงและท่าทีปกติ แต่เมื่อมาถึงความไม่เหมาะสม เราต้องเสียงเข้มขึ้นนะคะ
การสอนลูกเกี่ยวกับเพศศึกษา ไม่มีการสอนครั้งเดียวจบค่ะ เพราะเรื่องนี้จะพัฒนาไปตามอายุ ทั้งสรีระและฮอร์โมนของเด็ก รวมทั้งความสามารถของสมองในการเข้าใจด้วย
จังหวะไหนที่มีโอกาสสอน เราก็สอนได้เลย อย่างเช่นกรณีที่เป็นข่าว หากบังเอิญลูกรู้ข่าว ก็สอนลูกว่าพื้นที่ต้องห้ามที่ไม่ให้ใครจับ คือ บริเวณหน้าอก จิ๋ม ต้นขาและก้น ถึงแม้จะเป็นคุณพ่อก็ไม่ได้ค่ะ
แต่ถ้าลูกยังเล็ก ๆ ก็บอกว่าเป็นบริเวณจิ๋มที่ห้ามจับ และอย่าให้ใครมาจุ๊บปากด้วย ที่สำคัญอีกอย่าง พ่อแม่ควรสังเกตท่าทีอึดอัดของลูก หากลูกรู้สึกไม่ชอบให้ใครหอมแก้ม เราต้องหยุดคนนั้นค่ะ อย่าบังคับลูกด้วยความเกรงใจ เพราะหมออยากให้ #สัญชาติญาณในการปกป้องตนเองของลูกได้ทำงานตามปกติ ซึ่งจะช่วยลูกในภายหลังได้
กรณีพรีทีน 9-13 และวัยรุ่น 13ปีขึ้นไป นอกจากสอนเรื่องพื้นที่ต้องห้ามแล้ว ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ อีก เช่น การไม่อยู่สองต่อสองในที่ลับตา เช่น มุมตึก หรือในโรงหนังที่แม้จะมีคนอื่นอยู่ หรือถ้าไปโรงหนังสองคนแล้วจะปิดโอกาสไม่ให้มากไปกว่าจับมือยังไง, ความคิดของผู้ชายในเรื่องความรักที่ต่างจากผู้หญิง, เพศสัมพันธ์เป็นยังไง, การป้องกัน. ความเสี่ยง, จริง ๆ รายละเอียดเยอะค่ะ หมอก็คุยกับลูกคนโตเป็นระยะ ๆ โดยประเมินจากสิ่งที่เขารู้ด้วย ไม่ได้นั่ง lecture เป็นชุดนะคะ อย่างที่บอก เรื่องเพศ สอนได้ทุกครั้งที่มีจังหวะ อย่า lecture ค่ะให้พยายามสอนไป สังเกตุลูกไปด้วย ดีที่สุดคือถามลูกกลับ หรือรอฟังคำถามจากลูกในระหว่างที่เราสอน เราจะได้รู้ว่า ลูกเข้าใจอะไรบ้าง
กลับมาต่อ หมอขอย้ำอีกครั้งว่า การสอนลูกเกี่ยวกับเพศศึกษา ไม่มีการสอนครั้งเดียวจบ เพราะเรื่องนี้จะพัฒนาไปตามอายุ ทั้งสรีระและฮอร์โมนของเด็ก รวมทั้งความสามารถของสมองในการเข้าใจด้วย เมื่อมีจังหวะก็สอนเป็นระยะ โดยให้พยายามอธิบายตรงกับคำถามที่ลูกถาม และใช้คำพูดที่ตรง ๆ เช่น คำว่าจู๋หรือจิ๋ม ไม่ต้องเลี่ยงคำ และอย่าเอาความกังวลของเราสอนไปก่อน จนเกินวัยเด็ก วัยที่สมองยังไม่เข้าใจ อาจเกิดผลเสียทางด้านจิตใจลูกก็ได้ค่ะ
กรณีเด็กอนุบาลปลาย ประถมต้น หากพ่อแม่ไม่แน่ใจว่าลูกรู้อะไรมาบ้าง แนะนำให้ตั้งคำถามเพื่อประเมินค่ะ เช่น ...“ลูกรู้อะไรบ้างคะ"... ..."ลูกรู้มาจากไหน เปิดให้ดูได้มั้ยคะ แม่จะได้เข้าใจว่าลูกรู้ถึงไหน จะได้คุยต่อได้"... ..."ลูกรู้สึกยังไงพอได้เห็นคลิบนั้น"...
เพราะการสอนลูกในสิ่งที่ลูกไม่สงสัยแต่แรก แต่พ่อแม่กังวลและอยากสอนไว้ก่อน อาจทำให้ลูกอึดอัด ไม่อยากถามอีก ยิ่งถ้าพ่อแม่มีความกังวลสูง น้ำเสียงและคำพูดจะมีการห้าม และการขู่เยอะ อาจทำให้ลูกไม่อยากคุยกับเราอีกนะคะ
โดยสรุป คุยให้ตรงประเด็นที่ลูกสงสัย ใช้คำตรง ๆ ไม่เลี่ยงคำ ใจนิ่ง ๆ ตั้งคำถามกลับเพื่อทำความเข้าใจลูก