812
ยิ่งเด็ก ๆ เคลื่อนไหวร่างกาย ยิ่งสัมผัส สมองยิ่งพัฒนา

ยิ่งเด็ก ๆ เคลื่อนไหวร่างกาย ยิ่งสัมผัส สมองยิ่งพัฒนา

โพสต์เมื่อวันที่ : June 2, 2022

แผนที่การรับสัมผัสทางกายบริเวณสมอง (Somatosensory Cortex) ถูกค้นพบและวาดขึ้นโดย คุณหมอ Wilder Penfield ศัลยแพทย์ระบบประสาทชาวอังกฤษ และคณะ ในช่วงปี คศ 1950

 

คุณหมอ Wilder ได้ทำการผ่าตัดสมองของคนไข้โรคลมชัก ระหว่างที่ทำการผ่าตัดก็ได้ให้คนไข้ระบุความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับร่างกายของตัวเอง เมื่อเขาไปกระตุ้นในบริเวณต่าง ๆ ของเยื่อหุ้มสมอง ซึ่งทำให้คุณหมอสามารถระบุบริเวณสมองที่เชื่อมโยงไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้

 

การประมวลผลหลังได้รับการสัมผัสจะเกิดขึ้นในบริเวณสมองส่วน “Primary somatosensory cortex” ซึ่งอยู่ด้านหลังของร่องกลางสมอง (Central sulcus) เซลล์ประสาทในส่วนนี้จะถูกกระตุ้นเมื่อผิวหนังของเราได้รับการสัมผัส

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผิวหนังที่ได้รับการสัมผัสจะมีสัดส่วนมากเมื่อเทียบกับส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ผิวหนังบริเวณกลางลำตัวไปจนถึงขาและเท้า ก็ไม่ได้แปลว่าบริเวณสมองที่ดูแลจะมีสัดส่วนที่มากตาม ในทางกลับกัน หากผิวหนังบริเวณมือและใบหน้าได้รับการสัมผัส แม้ผิวหนังบริเวณนั้นจะมีสัดส่วนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับบริเวณอื่น แต่สมองที่ได้รับการกระตุ้นกลับมีมากกว่า

 

การค้นพบนี้ทำให้เกิดแนวคิดที่เรียกว่า “Homunculus” มีสองประเภท ได้แก่...

❤︎ 1. พื้นที่ส่วนของสมองที่รับรู้ประสาทสัมผัสทางร่างกาย (Somatosensory Cortex) พื้นที่สมองนี้อยู่ด้านหลังของร่องกลางสมอง (Postcentral gyrus)

❤︎ 2. พื้นที่ส่วนของสมองที่สั่งการการการเคลื่อนไหวทางร่างกาย (Motor Cortex) พื้นที่สมองนี้อยู่ด้านหน้าของร่องกลางสมอง (Precentral gyrus)

 

ยิ่งส่วนใดหรืออวัยวะใดของร่างกายครอบครองพื้นที่สมองในการควบคุมหรือตอบสนองมาก ภาพวาดของส่วนนั้นหรืออวัยวะนั้นก็ยิ่งใหญ่มาก

 

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าส่วนลำตัวไปจนถึงเท้า จะมีขนาดใหญ่กว่า มือและใบหน้า แต่บริเวณสมองที่ใช้ควบคุมการรับสัมผัสและการเคลื่อนไหวบริเวณลำตัวไปจนถึงเท้ากลับมีน้อยกว่ามือและใบหน้า ทำให้เรารับความรู้สึกและควบคุมการเคลื่อนไหวที่ละเอียดอ่อนบริเวณมือและใบหน้าได้ดีกว่าบริเวณลำตัวไปถึงเท้า

 

ดังนั้นการทำกิจกรรมที่ใช้มือและนิ้วมือทั้งสิบเพื่อสัมผัสและเคลื่อนไหว และ การแสดงออกทางสีหน้าและการรับรสสัมผัส สามารถกระตุ้นการทำงานของสมองเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ได้

 

“ยิ่งใช้งาน สมองยิ่งพัฒนา”

ในเด็กปฐมวัย (0-8 ปี) ที่สมองกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว หากมีการใช้งานร่างกายส่วนต่าง ๆ เป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะการใช้งานในส่วนมือ และนิ้วมือทั้งสิบ สมองของเด็ก ๆ จะยิ่งพัฒนามากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นหน้าที่ของเด็ก ๆ คือ “การเล่น” และ “การฝึกช่วยเหลือตัวเองขั้นพื้นฐาน” ตัวอย่างกิจกรรมที่ทำให้เด็ก ๆ ได้ใช้มือและนิ้วมือของพวกเขาเพื่อเคลื่อนไหว และรับสัมผัส

 

“การเล่น”

(1) การเล่นดิน (ดินร่วน-ดินเหนียว) เล่นทราย ไปจนถึงการเล่นดินน้ำมัน เล่นแป้งโดว์ เพราะระหว่างที่เด็ก ๆ เล่น มือและนิ้วทั้งสิบของพวกเขาได้สัมผัสพื้นผิวของดินและทรายอย่างทั่วถึง อีกทั้งการเคลื่อนไหวในรูปแบบ การขุด การตัก การก่อ การปั้น การบีบ การลูบ และอื่น ๆ ล้วนทำให้เกิดการกระตุ้นไปที่สมอง

 

(2) การเล่นเลอะเทอะ (Messy Play) การเล่นเลอะเทอะ หมายถึง การเล่นอย่างอิสระกับวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการรับสัมผัส และจินตนาการ เช่น การเล่นน้ำ เล่นโฟมสบู่ เล่นโคลน เล่นแป้งผสมน้ำ เล่นถั่ว/ข้าวสารแห้ง และอื่น ๆ เมื่อเด็ก ๆ ได้ล้วงเข้าไปในบ่อ Sensory มือและนิ้วของพวกเขาได้รับสัมผัสในพื้นผิวต่าง ๆ มากมาย

 

(3) การโยนรับบอล-สิ่งของ มือส่งแรงออกไป และมือคอยรับบอล-สิ่งของ สมองต้องทำงานเพื่อตอบสนองให้ทันการ รวมทั้งการเล่นอื่น ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย และการรับสัมผัส

 

“การช่วยเหลือตัวเอง”

(1) การกินอาหารแปลกใหม่และหลากหลาย เพราะระหว่างที่เด็ก ๆ กิน ลิ้นได้รับรสชาติแปลกใหม่และหลากหลาย ทำให้สมองของพวกเขาต้องประมวลรสชาติ เนื้อสัมผัสของอาหาร และการบดเขี้ยวในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอาหารแต่ละประเภทที่เขากิน ในทางกลับกันหากเด็ก ๆ กินเพียงอาหารรูปแบบซ้ำเดิม พวกเขาอาจจะขาดประสบการณ์ในส่วนนี้ไป

 

(2) การอาบน้ำ เพราะระหว่างที่เด็ก ๆ อาบน้ำด้วยตนเอง มือของพวกเขาได้ถูสบู่และขัดถูร่างกายส่วนต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ประสบการณ์ที่ได้รับเกิดขึ้นทั้งในด้านการรับสัมผัส และการเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือตัวเอง

 

(3) การแปรงฟัน เพราะระหว่างที่เด็ก ๆ แปรงฟัน แปรงสีฟันได้เข้าไปกระตุ้นการรับสัมผัสภายในช่องปาก ทั้งเหงือกและลิ้นของพวกเขา อีกทั้งการอ้า-หุบปาก และบ้วนปาก ล้วนแล้วเป็นการเคลื่อนไหวที่ทำให้สมองได้รับการกระตุ้นทั้งสิ้น และการช่วยเหลือตัวเองด้านอื่น ๆ

 

“การทำงานบ้าน”

ซักผ้า หนีบผ้า ซาวข้าว หุงข้าว ล้างจาน เก็บจาน กวาดบ้าน ถูบ้าน และอื่น ๆ ล้วนแล้วต้องอาศัยมือและนิ้วทั้งสิบเพื่อทำงานดังกล่าวให้สำเร็จ เพียงให้เด็ก ๆ เลือกทำงานบ้านหนึ่งอย่างในทุกวัน สมองของพวกเขาจะได้รับการกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ

 

สุดท้าย ขอเพียงเด็ก ๆ ได้ลงมือทำ ยิ่งทำ ยิ่งเล่น ยิ่งใช้งาน ยิ่งได้รับสัมผัส ยิ่งได้เคลื่อนไหวร่างกาย สมองของพวกเขายิ่งพัฒนา เมื่อสมองของเด็ก ๆ พร้อม พวกเขาจะพร้อมเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อีกมากมายในอนาคต

 

อ้างอิง :

Cummings, B (2004) Pearson Education Inc Nguyen, J, & Duong, H (2020) Neurosurgery, sensory homunculus StatPearls [Internet]

Schott, G D (1993) Penfield's homunculus: a note on cerebral cartography Journal of neurology, neurosurgery, and psychiatry, 56(4), 329