การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หนึ่ง (นามสมมติ) วัยรุ่นชายวัย 16 ปี เดินหน้าตาคร่ำเครียดเข้ามาในคลินิก ...“ผมคิดว่าผมน่าจะเป็นโรคซึมเศร้า ผมไม่อยากอยู่”...
พอได้คุยกัน ก็พบว่าหนึ่งมีชีวิตที่ดีมากพอสมควร พ่อแม่เป็นคนมีฐานะ เอาใจใส่ มีชีวิตที่สบายไม่ลำบาก เรียนได้เกรดเกือบ 4.00 มีเพื่อนที่เข้าใจ ชีวิตก็ดูไม่มีปัญหาอะไร แต่ในใจของหนึ่งกลับรู้สึกโหวงเหวงว่างเปล่า จนรู้สึกว่าชีวิตมันช่างไม่น่าอยู่ หนึ่งบอกว่าแม้ชีวิตดูเหมือนจะมีความสุข แต่เขากลับไม่มีความสุขเอาเสียเลย ชีวิตทุกวันเต็มไปด้วยความกดดัน ที่ได้รับจากการต้องอยู่กับความคาดหวังของพ่อแม่
พ่อแม่พูดมาตั้งแต่เล็กว่าอยากให้หนึ่งเป็นหมอ เพราะจะเป็นความภาคภูมิใจอย่างที่สุดของตระกูล ในวัยเด็กเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตจึงถูกใช้ไปในการเรียนเสริมทักษะตามที่ต่าง ๆ พออนุบาลก็ต้องจริงจังกับการสอบเข้าโรงเรียนดัง จากนั้นชีวิตก็ใช้ตามตารางที่พ่อแม่จัดให้ เพื่อจะได้กลายเป็นเด็กที่สมบูรณ์แบบในสายตาของพ่อแม่
หนึ่งเป็นเด็กเรียนดีมาก เป็นหัวหน้าห้อง เป็นเด็กที่ทำกิจกรรมหลากหลายในโรงเรียน จนพอมาอยู่มัธยมพ่อแม่ก็สนับสนุนให้สมัครประธานนักเรียน การไม่ได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียน สร้างความผิดหวังให้กับพ่อแม่เป็นอย่างสูง ซึ่งนั่นก็นำมาสู่ความกดดันในชีวิตของหนึ่งอยู่ไม่น้อย
แต่สิ่งที่กดดันที่สุด หนึ่งผู้เรียนดี ไม่ได้อยากเป็นหมอสักนิด สิ่งที่หนึ่งอยากเป็นมากที่สุดในชีวิต คือ“นักดนตรี” หนึ่งหลงใหลในการตีกลอง จนรู้สึกอยากทำตามสิ่งที่ฝัน แต่พอเกริ่นเรื่องนี้กับพ่อแม่ สิ่งที่ได้รับคือการบอกว่า “เป็นหมอก็ตีกลองได้” หนึ่งถูกพูดใส่ว่า “อย่าไร้สาระ” หนึ่งเคยอยากจะเรียนให้แย่ลง จะได้ไม่ถูกกดดันให้ต้องเรียนหมอ แต่ก็รู้สึกแย่ถ้าจะต้องทำให้พ่อแม่เสียใจ
ตัวอย่างที่เล่ามา เจอได้มากมายในครอบครัวยุคปัจจุบัน ครอบครัวที่มีลูกน้อยลง แต่มีต้นทุนในการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งที่สูงขึ้น การลงทุน ที่หลายคนมองหาความคุ้มค่าของผลตอบแทน ทำให้พ่อแม่มีความคาดหวังที่สูงขึ้น แถมมีโซเชียลคอยทำให้เกิดการเปรียบเทียบ หลายครั้งลูกจึงกลายเป็นเครื่องประดับที่เอาไว้อวดกันในโลกออนไลน์ อยากให้ลูกเราอวดได้ ไปจนถึงอยากให้ลูกกลายเป็นที่พึ่งพายามแก่เฒ่า
พ่อแม่ที่แสดงความคาดหวังในตัวลูกสูง หลายคนเข้าใจว่าจะทำให้ลูกผลักดันตัวเอง ทำให้ลูกมุ่งมั่น อยากสร้างความภาคภูมิใจให้พ่อแม่ แต่เราต้องกลับมาทำความเข้าใจว่า ถ้ามันมากไป โดยเฉพาะถ้ามันไม่เคยผ่านการรับฟังกันและกัน มันมีอะไรมากมายที่ลูกต้องแลก
มีอีกมากมายที่ต้องแลกกับการมีชีวิตที่ต้องเติบโตไปกับการกำหนดชีวิตด้วยความรักและความหวังดีของผู้อื่น เราในฐานะพ่อแม่ แค่ต้องหาจุดสมดุลระหว่างการมีความหวัง การจัดการกับความคาดหวัง และการรับมือเมื่อผิดหวัง ไม่มีใครมีหน้าที่เกิดมาเพื่อตอบสนองความต้องการในชีวิตใคร ถ้าเราเข้าใจ เราจะเติบโตไปแบบเกื้อกูลกันและกัน