การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้วยความเป็นเด็ก การเติบโตตามวัย ก็มีอะไรที่เด็ก ๆ รู้สึกกลัวเสมอ กลัวผี กลัวหมอ กลัวจิ้งจก กลัวตุ๊กแก กลัวการพลัดพรากจากพ่อแม่ ฯลฯ กลัวอะไร ๆ ง่าย ๆ ไปหมด
ความกลัว เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เวลาที่เรารู้สึกว่าเราอาจจะต้องเผชิญกับอะไรบางอย่างที่เราไม่สามารถควบคุมหรือจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ความกลัวก็ช่วยให้เราได้เตรียมตัว แต่ความกลัวที่มีมากเกินไปก็อาจเป็นอุปสรรคทำให้เราไม่สามารถทำอะไรได้เต็มไปตามศักยภาพ
...“ไม่ต้องกลัว ไม่เห็นมีอะไรเลย แค่นี้เอง”...
...“ผีไม่มีจริงหรอก จะไปกลัวทำไม”...
...“ฉีดยาไม่เจ็บเลย ไม่ต้องกลัว น้องเล็ก ๆ เค้ายังฉีดได้”...
คำพูดเหล่านี้ ดู ๆ ไปก็เหมือนไม่ช่วยอะไรมากนัก ช่วยลูกก้าวข้ามความกลัว ลองปรับเทคนิคเหล่านี้ไปใช้นะคะ
❤︎ 1. อย่าบังคับ ‣ การพยายามรีบผลักใส บีบบังคับ ให้เด็กต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวโดยยังไม่รู้สึกพร้อม หลายครั้งยิ่งทำให้ความกลัวมีมากขึ้น พ่อแม่ควรใจเย็นและให้เวลา แสดงความเข้าใจในความรู้สึกที่เกิดขึ้น
❤︎ 2. ยอมรับกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ‣ ความกลัวเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงและเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เราไม่สามารถบอกใครให้หายกลัวได้ แต่เราสามารถสอนให้ลูกจัดการความกลัวที่เกิดขึ้นได้ แทนการพูดว่า “จะกลัวทำไม ไม่เห็นมีอะไรน่ากลัว” ลองเปลี่ยนเป็น “หนูรู้สึกกลัวใช่ไหมจ๊ะ แม่เข้าใจเลย แม่อยู่ตรงนี้ มีอะไรที่จะทำให้หนูรู้สึกดีขึ้นบ้างมั้ย”
❤︎ 3. ทำให้ลูกสามารถควบคุมบางอย่างได้ ‣ ความกลัวหลายครั้งเกิดจากความรู้สึกว่าตัวเราไม่สามารถที่จะจัดการหรือควบคุมกับสถานการณ์บางอย่างได้การทำให้ลูกรู้สึกว่าลูกสามารถลุกขึ้นมาจัดการบางอย่างจะช่วยทำให้ลูกก้าวข้ามความกลัวได้ เช่น ลูกกลัวโจรเข้าบ้าน เราชวนกันล็อกประตูหน้าต่างทุกครั้งก่อนนอน ลูกกลัวสุนัขกัด เราอาจจะให้ลูกเดินอยู่ข้างหลัง หรือมีไม้เอาไว้ใช้ป้องกันตัวเวลาเดินผ่าน เป็นต้น
❤︎ 4. ตั้งคำถามชวนคิด ‣ หลายครั้งความกลัวของลูกเกิดจากการวาดภาพสิ่งที่กำลังเผชิญเอาไว้แบบน่ากลัวมากเกินไป การตั้งคำถาม เพื่อให้ได้ประเมินถึงสิ่งที่กำลังกลัวหรือมีความกังวลว่ามันมีโอกาสเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน จะทำให้ใจของลูกสงบมากขึ้น เช่น “ลูกคิดว่าโอกาสที่เราจะตกจากตรงนี้ลงไป มันเกิดจากอะไรได้บ้าง” “มันมีโอกาสเกิดขึ้นมากไหม” “มันมีโอกาสสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่เราจะตกลงไปจากตึกที่สูงตรงนี้” การให้ลูกได้สำรวจความคิดของตัวเองอาจทำให้ลูกได้เจอว่าหลายครั้งความกลัว มาจากความคิดที่ประเมินอะไรมากไปกว่าความเป็นจริง
❤︎ 5. ชวนลูกคิดวิธีจัดการความกลัว ‣ ความกลัวไม่ได้หายไปจากการฟังคำแนะนำของใคร แต่ความกลัวหายไปจากการจัดการใจของตัวเอง เวลาที่ลูกมีความกลัวลองตั้งคำถาม ว่ามีอะไรที่ลูกจะทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น รับฟังและช่วยทำมันให้เกิดขึ้น เช่น “หนูเข้าห้องน้ำคนเดียวแล้วกลัว มีอะไรที่จะช่วยให้หนูรู้สึกดีขึ้นได้บ้างไหม”
❤︎ 6. แสดงความชื่นชมและให้กำลังใจ ‣ เวลาที่ลูกแสดงความกล้าหาญในการที่จะเอาชนะความกลัวให้พยายามชื่นชมสิ่งนั้นเสมอหลายครั้งความกลัวยังก้าวข้ามไม่ได้แต่การลุกขึ้นมาจัดการใจ เป็นกระบวนการที่สำคัญ เช่น “เก่งมากเลย แม่เห็นหนูกล้าเข้าห้องน้ำคนเดียวได้แล้ว วิธีเปิดประตูแง้มไว้นี่ใช้ได้เลยนะ”
❤︎ 7. ใช้ความสงบ ช่วยลูกให้สงบ ‣ การมองความกลัวเป็นเรื่องขำขัน หรือการแสดงความโกรธเมื่อลูกกลัวกับเรื่องที่เล็ก ๆ น้อย ๆ ในสายตาพ่อแม่กลับทำให้ความกลัวในใจของลูกยิ่งรู้สึกแย่
❤︎ 8. ค่อย ๆ เผชิญความกลัวทีละนิด ‣ การค่อย ๆ ให้เด็ก ๆ สามารถเผชิญความกลัว แบบที่รู้สึกว่าตัวเองยังสามารถจัดการและควบคุมอะไรบางอย่างได้ จะช่วยให้เด็ก ๆ จัดการความกลัวที่เกิดขึ้นในใจได้ในที่สุด พ่อแม่ไม่ควรให้ลูกเผชิญความกลัวแบบเร่งรีบ เช่น จับแมลงสาบมาใส่ให้หายกลัว พาไปอยู่ในที่มืด ๆ คนเดียวให้หายกลัวผี สิ่งเหล่านั้นยิ่งกระตุ้นความกลัวให้มากขึ้น
❤︎ 9. ใช้นิทาน การ์ตูน ภาพยนต์ ช่วยสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ ‣ นิทานหลายเรื่องที่พูดถึงเรื่องการเอาชนะความกลัว หนังหลายเรื่องก็สอนเด็ก ๆ ว่าความกลัวเกิดขึ้นได้ แต่เราเอาชนะมันได้ด้วยพลังใจที่เข้มแข็ง การมีต้นแบบในใจ จะทำให้เด็ก ๆ รู้ว่าความกลัวเป็นอุปสรรคที่ก้าวข้ามผ่านไปได้
❤︎ 10. เป็นตัวอย่างที่ดี ‣ พ่อแม่เองก็น่าจะมีความกลัวบางอย่างในชีวิต กลัวความสูง กลัวสุนัข กลัวความมืด … การแสดงการยอมรับและก้าวข้ามความกลัวให้ลูกเห็น จะเป็นทั้งต้นแบบและพลังใจที่สำคัญ