539
วัยรุ่นกับโรคซึมเศร้า (ตอนที่ 2)

วัยรุ่นกับโรคซึมเศร้า (ตอนที่ 2)

โพสต์เมื่อวันที่ : November 21, 2022

หลายครั้งพ่อแม่อาจจะมีความรู้สึกกังวลใจ และก็แยกไม่ถูกระหว่างว่าสิ่งที่ลูกเป็นคือความเศร้าที่เกิดเป็นปกติหรือเข้าข่ายภาวะซึมเศร้า 

 

ความเศร้าปกติกับภาวะซึมเศร้าแยกกันอย่างไร ? เป็นปกติที่คนเราจะรู้สึกเศร้าหรือท้อแท้  ทุกคนมีอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อความยุ่งยากและอุปสรรคของชีวิต เราอาจรู้สึกเศร้าจากการทะเลาะกับเพื่อน เพื่อนสนิทย้ายโรงเรียนเลิกกับแฟน รู้สึกผิดหวังกับคะแนนที่ไม่ดี การตายของคนใกล้ชิด เหตุการณ์เหล่านี้อาจนำไปสู่ความเศร้าได้

ภาวะซึมเศร้าเป็นอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเสียใจ ความท้อแท้สิ้นหวังที่มีผลเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หลายเดือนหรือนานกว่านั้น ภาวะซึมเศร้ามีผลต่ออารมณ์ ความคิด ทำให้ไม่สนุกสนานเพลิดเพลินกับสิ่งต่าง ๆ ภาวะซึมเศร้าทำให้ขาดแรงจูงใจ ไม่มีสมาธิในการทำกิจกรรม

 

อาการของภาวะซึมเศร้า

ความรู้สึกและอารมณ์เชิงลบ ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าอาจรู้สึกเศร้าผิดหวังหรือท้อแท้มากผิดปกติ อาจรู้สึกสิ้นหวังคิดว่าไม่มีใครหรืออยู่คนเดียว บางคนรู้สึกผิดสมควรถูกปฏิเสธหรือไม่รัก บางคนที่มีภาวะซึมเศร้ารู้สึกโกรธ โมโห รำคาญ หงุดหงิดง่าย อารมณ์เชิงลบเหล่านี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของภาวะซึมเศร้าถ้าเป็นอยู่หลายสัปดาห์หรือมากกว่า

 

ความคิดด้านลบ คนที่มีภาวะซึมเศร้าติดอยู่ในความคิดด้านลบมองแต่ปัญหาและข้อบกพร่อง รู้สึกเบื่อหน่าย เชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ จะไม่ดีขึ้นปัญหาใหญ่เกินไปที่จะแก้ ไม่มีอะไรที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ความคิดด้านลบทำให้ ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ารู้สึกไร้ค่าและรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ภาวะซึมเศร้าอาจทำให้มีความคิดเกี่ยวกับการทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย

รู้สึกเหนื่อยล้าหรือหมดแรง ขาดแรงจูงใจ ทำอะไรเชื่องช้าหรือใช้เวลานานกว่าจะทำสิ่งต่าง ๆ รู้สึกว่าทุกอย่างต้องใช้ความพยายามมากขึ้น 

 

สมาธิไม่ดี ทำให้จำบทเรียนหรือให้ความสนใจกับสิ่งต่าง ๆ ได้ยาก

 

ปัญหาทางกาย บางคนที่มีภาวะซึมเศร้าบางคนน้ำหนักเพิ่มหรือน้ำหนักลด ปวดหัว นอนไม่หลับ ไม่เข้าสังคม แยกตัว

 

สิ่งที่ช่วยทำให้ภาวะซึมเศร้าดีขึ้น

อาการซึมเศร้าจะดีขึ้นต้องได้รับการดูแลที่ถูกต้อง แต่ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาก็จะทำให้แย่ลง เพราะฉะนั้นคนที่มีภาวะซึมเศร้า หดหู่ ไม่ควรปล่อยให้หายเอง แพทย์สามารถตรวจปัญหาสุขภาพที่อาจทำให้เกิดอาการคล้ายซึมเศร้าได้ เช่น โรคไทรอยด์ ซีด ซึ่งสามารถทำให้มีอารมณ์หดหู่ อ่อนล้า ทำให้รู้สึกเบื่อและซึมเศร้า

 

การพบแพทย์เพื่อรับการบำบัด จะช่วยให้ภาวะซึมเศร้าดีขึ้น ผู้ให้คำปรึกษาจะเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก สร้างความมั่นใจ หาแนวทางแก้ไขปัญหา ทำจิตบำบัด ปรับเปลี่ยนรูปแบบการคิดด้านลบเป็นด้านบวก เพิ่มความนับถือตนเองและยอมรับตนเองมากขึ้น

 

..."ถ้าสงสัยว่าลูกมีอาการซึมเศร้าอย่าลังเลที่จะรีบพาไปพบแพทย์นะคะ"...