600
การปลดล็อกกัญชา กับ สมองเด็ก

การปลดล็อกกัญชา กับ สมองเด็ก

โพสต์เมื่อวันที่ : June 21, 2022

การที่ประเทศไทยได้ปลดล็อกกัญชา ออกจากบัญชียาเสพติด และเปิดให้ประชาชนปลูกพืชกัญชาได้ เพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ โดยผ่านการจดแจ้ง ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ 9 มิ.ย.65

 

ประกาศนี้ ทำให้หลายภาคส่วน โดยเฉพาะวงการแพทย์ ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครอง มีความกังวล และห่วงใยเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติเป็นอย่างยิ่ง

เพราะการปลดล็อก"กัญชาเสรี"จะส่งผลให้ทุกคนในประเทศไทย รวมถึงกลุ่มเปราะบาง คือ เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงกัญชา และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาได้โดยง่าย และไม่ผิดกฎหมาย ปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายบริษัท ได้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา ออกจำหน่าย บางผลิตภัณฑ์ไม่ได้ติดป้ายหรือคำเตือนว่า "ห้ามเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีบริโภค" ด้วยซ้ำไป

 

ในวงการแพทย์ได้ออกประกาศเตือน เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีไม่ควรบริโภคกัญชา เพราะมีผลต่อสมอง เช่น ทำให้พัฒนาการล่าช้า มีปัญหาพฤติกรรม เชาวน์ปัญญาลดลง และส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ เช่น มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็น โรคจิตเภท เสี่ยงต่อการติดสารเสพติดชนิดอื่น ๆ รวมถึงส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ร่วมกับ สมาคมกุมารประสาทวิทยาฯ,ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นฯ, ชมรมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กฯ มีความห่วงใยและตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น หลังจากปลดล็อก"กัญชาเสรี" จึงได้มีคำแนะนำ 5 ข้อ เพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดจากกัญชาต่อเด็กและเยาวชน ดังนี้

 

1.เด็กที่อายุน้อยกว่า 20 ปีไม่ควรเข้าถึงและบริโภคกัญชา เนื่องจากสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ และกัญชามีสาร THC ที่มีผลต่อสมองเด็กในระยะยาว ยกเว้นมีความจำเป็นทางการแพทย์ เช่นประกอบการรักษามะเร็งระยะสุดท้าย โรคลมชักรักษายาก ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด

2.ให้มีการประชาสัมพันธ์กับประชาชน เรื่องโทษของการใช้กัญชากับสมองเด็ก เพื่อเกิดความตระหนักต่อการเข้าถึงกัญชาในเด็กและวัยรุ่น เพื่อนันทนาการว่า กัญชาเป็นสารที่มีฤทธิ์เสพติด ส่งผลต่อสุขภาพกาย และจิตในระยะเฉียบพลัน และอาจรุนแรง ถึงกับชีวิตได้ รวมถึงมีผลระยะยาวต่อสมอง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และการทำงานของสมองที่กำลังพัฒนา

 

3.ให้มีมาตรการควบคุม การผลิต และการขายอาหาร หรือผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาผสม และให้มีเครื่องหมาย / ข้อความเตือนอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการใช้ในเด็กและวัยรุ่น โดยระบุ "ห้ามเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริโภค"

 

 

4.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์ ควบคุมไม่ให้มีการจงใจออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เช่น ภาพการ์ตูน หรือใช้คำพูดสื่อในทางให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เป็นอาหารหรือขนมที่เด็กและวัยรุ่นบริโภคได้

 

5.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามผลกระทบของกัญชาต่อเด็กอย่างต่อเนื่องและจริงจัง หลังจากการใช้กฎหมายกัญชาเสรี

ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ได้ประกาศว่า พร้อมเสมอที่จะให้ข้อมูลที่เที่ยงตรงและถูกต้องบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงให้ข้อแนะนำที่เหมาะสมกับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน เกี่ยวกับผลกระทบของกัญชาต่อเด็กและวัยรุ่น

 

ต่อมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศเพิ่ม ภายหลังปลดล็อกกัญชาว่า ให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ห้ามจำหน่ายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร และยังมีประกาศ ห้ามการสูบเสพในที่สาธารณะ อาทิ พื้นที่ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า ถนนหนทาง สถานที่รวมกลุ่มคนจำนวนมาก ตลอดจนให้มีการควบคุมเหตุรำคาญจากกลิ่น หรือควันกัญชา เพราะควันกัญชา ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ส่วนเด็กและทารกที่สัมผัสกัญชามือสอง อาจได้รับผลกระทบทางจิตประสาทเช่นเดียวกับผู้สูบ

 

 

อย่างไรก็ตาม ในการตลาดยังมีการวางขายต้นกัญชาตามข้างทางอย่างเสรี รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ที่ใช้กัญชาเป็นส่วนประกอบออกมาจำหน่ายมากมาย ซึ่งเด็กและเยาวชนเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ง่าย

 

จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองต้องคอยชี้แนะ ให้ลูกตระหนักถึงพิษภัยของกัญชาที่มีต่อเด็กและเยาวชน โดยห้ามเด็ดขาดไม่ให้ลูกทดลองซื้อมาบริโภค ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด ทั้งอาหาร ยา เครื่องดื่ม และอื่น ๆ เพราะกัญชาเป็นสิ่งเสพติดง่าย ผู้บริโภคกัญชามักสมองเสื่อม มีอาการทางจิต หากใช้ในระยะเวลานาน จะเกิดภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร่างกายอ่อนแอ และมีผลร้ายอื่น ๆ ติดตามมามากมาย

 

..."มาช่วยกันกีดกันกัญชาให้ห่างไกลจากเด็กและเยาวชนตั้งแต่วันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีของชาติในวันข้างหน้ากันเถอะค่ะ"...