การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผมบังเอิญได้อ่านบทความของคุณหมอท่านหนึ่ง เขียนโดย พญ.เสาวภา พรจินดารักษ์ ท่านกล่าวไว้ว่าสมองส่วนการฟังและสมองส่วนการพูดนั้นเป็นคนละส่วนกัน การที่จะทำให้ลูกพูดเก่ง พูดคล่อง และเข้าใจความหมายได้นั้น “ต้องทำให้เกิดการกระตุ้น”
สิ่งแรกที่ต้องทำเลยก็คือ เลือกในสิ่งที่ลูกกำลังสนใจมากที่สุด วัยเล็ก ๆ อย่างนี้ คุณหมอแนะนำให้เล่นแบบมีปฏิสัมพันธ์ ทำให้ดู ชี้ให้เห็นว่าสิ่งนั้น ๆ คืออะไร ช่วงนี้ผมและลูกใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน ทำให้ลูกรู้สึกเบื่อพูดคุยน้อยลงเพราะไม่ค่อยได้เจอสิ่งใหม่ ๆ เจอแต่อะไรเดิม ๆ ซ้ำไปมาวนเวียนอยู่อย่างนั้น เมื่อผมได้อ่านบทความของคุณหมอจบ ผมจึงได้นั่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง ว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกสนใจ อะไรคือสิ่งที่ลูกชอบ อะไรที่ทำให้ลูกผมเกิดการกระตุ้น เพื่อให้ได้ฝึกพูดคุยได้เก่ง ๆ
ผมจึงเลือกที่จะพาลูกออกไปท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งเดียวที่เจ้าลูกชายของผมต้องการมากที่สุด ผมมักสังเกตเมื่อเวลาไปเที่ยว ผมชวนลูกคุย เขาจะพูดตามสิ่งที่ผมพูดบ่อยมาก เราสื่อสารกันด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน และแสดงท่าทางให้เห็น ลูกคอยชี้ชวนให้ผมดูนั่นดูนี่อยู่ตลอด เขาดูตื่นเต้นเป็นพิเศษ พร้อมด้วยคำถามตามมามากมาย อันนั้นคืออะไร อันนี้เรียกว่าอะไร ลูกเรียนรู้ได้เร็ว คงเพราะสิ่งที่อยู่ข้างหน้ามีความน่าสนใจสำหรับเขา
ผมชวนลูกตั้งคำถาม สิ่งนี้คืออะไร บางอย่างเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับเด็กชายตัวน้อย ๆ เขามองหน้าผมแบบฉงน ผมจึงเฉลยด้วยการชี้ไปที่สิ่งนั้นแล้วตอบว่าคืออะไร เมื่อเดินผ่านไปสักพักผมลองพาเดินย้อนกลับมาที่เดิมแล้วถามอีกครั้ง ว่านี่คืออะไรครับ เด็กชายรีบตอบทันทีทันใด เขาจำมันได้ดีมากทั้ง ๆ ที่เป็นครั้งแรกที่ได้เจอได้รู้จักกัน ผมรู้สึกทึ่งนิดหน่อยไม่คาดคิดว่าเขาจะจดจำได้เร็วขนาดนี้ เด็กเล็ก ๆ ความจำเขาดีมากนะครับแล้วยิ่งได้เห็นได้สัมผัสกับของจริงที่อยู่ตรงหน้าด้วยแล้ว เรียนรู้ได้เร็วและจำได้แม่นสุด ๆ เลยครับ
ผมจึงอยากเชิญชวนพ่อแม่มาคิดกันว่า อะไรคือสิ่งที่กระตุ้นลูกให้เกิดความสนใจได้ดี สิ่งไหนที่ลูกชอบ เราพาเขาไปทำสิ่งนั้นดูครับ แล้วจะรู้ว่าพัฒนาการของลูกเติบโตไวกว่าที่คิด
...“ส่วนตอนนี้ลูกชายของผมพูดไม่หยุดเลย ผมถึงขั้นต้องขอร้องกันเลยทีเดียว”...
:: อ้างอิง ::
เรื่อง "เทคนิคกระตุ้นลูกให้พูด" : พญ.เสาวภา พรจินดารักษ์ กุมารแพทย์พัฒนาการเด็กและพฤติกรรม