การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เด็กกับน้ำเป็นของคู่กันพ่อแม่หลาย ๆ ท่านคงกังวลอยู่ไม่น้อย ทุกครั้งที่ฝนตกมักจะมีเด็กตัวน้อย ๆ วิ่งออกไปเล่นน้ำฝนด้วยความที่ผมเป็นพ่อก็กังวลว่าลูกจะป่วยไม่สบาย จึงมักจะห้ามปรามลูกอยู่เสมอ ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดการปิดกั้นตัวเองจนลูกไม่กล้าที่จะทำอะไรเลย
ผมเคยผ่านประสบการณ์แบบนั้นมาแล้วครับ เมื่อลูกชายของผมร้องไห้งอแงอยากจะเล่นน้ำฝนให้ได้แล้วก็วิ่งออกไปเล่นทันทีทั้ง ๆ ที่ผมได้ห้ามแล้ว ด้วยความเป็นห่วงกลัวว่าลูกจะไม่สบายผมจึงได้เผลอดุลูกออกไป ผลในครั้งนี้ทำให้ลูกเกิดการต่อต้านอย่างเห็นได้ชัด
หลังจากนั้นผมได้พบหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้วของ(มาซารุ อิบุกะ) ได้แนะนำไว้ว่า “ชมเด็กดีกว่าดุเด็ก” ระหว่างการชมเชยและการดุว่าเด็กนั้นดูเหมือนว่าการดุจะให้ผลมากกว่า แต่อย่าด่วนคิดเช่นนั้นเพราะเมื่อเด็กถูกดุเขาจะพัฒนาความสามารถหรือทักษะในการต่อต้านขึ้นมา การพูดเช่นนี้เหมือนกับพูดอะไรในทางตรงกันข้าม
อย่างไรก็ตาม “การชม” หรือ “การดุ” จำเป็นต้องทำอย่างรอบคอบที่สุด ผมจึงฉุกคิดขึ้นมาจนได้ว่าสิ่งที่ผมทำนั้นไม่ถูกต้องเท่าไร ผมคงต้องปรับเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ ผมเรียกลูกแล้วมาเปิดใจพูดคุยกัน ผมถามถึงเหตุผลในการเล่นน้ำฝนของลูกและแน่นอนเด็กวัยนี้ยังไม่มีเหตุผลอะไรให้กับผมนอกเสียจากคำว่า “จะเล่น อยากเล่น”
“โอเค เอาอย่างนั้นก็ได้” ผมพูด แต่เราต้องมีกฎกติกากันสักหน่อยลูกนั่งฟังอย่างตั้งใจ ถ้าลูกอยากเล่นน้ำฝน พ่อจะอนุญาตแต่ลูกสามารถเล่นน้ำฝนได้แค่เพียง 10 นาทีเท่านั้นแล้วรีบอาบน้ำสระผมทำให้ร่างกายอบอุ่นทันที ลูกตอบตกลง วันเวลาผ่านไปไม่นานนักฝนได้กระหน่ำตกลงมาอีกครั้ง ลูกชายเดินมาขอผมไปเล่นน้ำฝนครั้งนี้ผมไม่ห้ามลูกแต่จะคอยเฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ เด็กน้อยไร้เดียงสากระโดดโลดเต้นเล่นน้ำฝนไปมา จนครบเวลา 10 นาทีตามที่ตกลงกันไว้ ผมเรียกลูกเข้าบ้านไปอาบน้ำทันทีลูกทำตามอย่างง่ายดาย ไม่มีอาการงอแงหรืออาการต่อต้านใด ๆ เลย
หลังจากลูกแต่งตัวเสร็จเรียบร้อยผมเข้าไปกอดและได้พูดชมเชยลูก เก่งมากเลยครับที่ลูกรักษาสัญญาตามที่ตกลงกันไว้ได้ ลูกกอดผมกลับอย่างแนบแน่นเขาคงรับรู้ได้ว่าพ่อเข้าใจเขามากที่สุด การดุลูกไม่มีประโยชน์อะไรเลยอาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่ขี้กลัวจนไม่กล้าทำอะไรเพราะเกรงว่าจะโดนดุ เขาจะเก็บตัวและเกิดการต่อต้านทันที เราแค่เปลี่ยนวิธีที่ทำให้ความเป็นห่วงของพ่อ และความอยากเรียนรู้อยากลองเล่นสนุกของลูกมาบรรจบเข้าด้วยกันให้ได้ ไม่ห้ามในสิ่งที่ลูกอยากทำแต่จงสร้างกฎกติกาขึ้นมาพ่อและลูกต่างก็แฮปปี้ทั้งคู่
พ่อแม่ทำได้แค่คอยเฝ้ามองระมัดระวังประคับประครองให้ลูกได้เติบโตอย่างดีที่สุดเท่านั้น แต่ประสบการณ์ชีวิตการเรียนรู้การผจญภัยต่าง ๆ ให้ลูกได้ใช้ชีวิตของเขาอย่างอิสระ คอยชมเชยเมื่อลูกทำสิ่งที่ถูกต้องและอธิบายในสิ่งที่ลูกทำผิดพลาดครับ