การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เคยรู้สึกแปลกใจกับสิ่งที่เราเคยพบเห็นเป็นประจำจนเป็นเรื่องปกติไหม สำหรับผมรู้สึกเฉย ๆ แต่กลับมีเพียงแค่ลูกเท่านั้นที่ร้อง “ ว้าว ” กับสิ่งปกติเหล่านั้น บางครั้งผมก็แอบแปลกใจเล็กน้อยอยู่เหมือนกันที่ลูกตื่นเต้นกับแค่สิ่งสิ่งนี้เองหรือ สำหรับผมแล้วสิ่งนั้นมันดูธรรมดามากไม่ได้พิเศษอะไรเลย
ผมไม่เข้าใจว่าลูกจะตื่นเต้นอะไรนักกันหนา ไม่เห็นว่ามันจะมีอะไรแปลกประหลาดน่าให้ตื่นเต้นตรงไหน สักพักผมก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า นี่คือลูกนะลูกของเราเอง เขาเพิ่งเกิดมาในโลกที่กว้างใหญ่ใบนี้ได้ไม่นาน เขาเพิ่งจะผ่านพ้นวัย 3 ขวบไปหมาด ๆ มันก็แน่นอนอยู่แล้วที่เขาจะร้อง “ว้าว” กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า หรือสิ่งของสถานที่อะไรก็แล้วแต่ที่เขาเคยพบเจอกันครั้งแรก
ผมจึงพาลูกออกเดินทางไปค้นหาความลับของธรรมชาติ ความลับที่ลูกยังไม่เคยสัมผัสหรือพบเจอที่ไหนมาก่อน จะเอาให้ร้อง “ว้าว” จนเมื่อยกรามกันไปข้างหนึ่ง ผมยกระดับความยากลำบากในการเดินทางครั้งนี้เข้าไปด้วย
จากปกติที่เที่ยวแบบสบาย ๆ ไปเช้าเย็นกลับ ครั้งนี้เราจะเข้าไปอยู่ในป่ากันจริงจัง ค้างคืนกันหลาย ๆ คืนไปเลย แต่การพาลูกไปเที่ยวของผมทุกครั้ง ผมก็จะต้องได้พัฒนาการชีวิตของเขาเป็นของแถมเพิ่มไปด้วย ครั้งนี้ผมต้องการสร้างรากฐานของสมองลูก ก่อนอื่นต้องเริ่มจากการสร้างวงจรการหลั่ง “ โดพามีน ” (dopamine)
โดพามีนคือสารสื่อประสาทในสมองที่จะหลั่งออกมาเมื่อรู้สึกดีใจหรือสนุกสนาน เด็ก ๆ เป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียนรู้ผ่านการเล่น สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ “การเล่นแบบโดพามีน” ซึ่งก็คือ การรู้ว่าร่างกายเด็กจะหลั่งโดพามีนได้มากเท่าไหร่ในการเล่น แต่มีสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอยู่อย่างหนึ่งนั่นก็คือ “การเปลี่ยนแปลง” หรือเรียกอีกอย่างว่า “ประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน”
ลูกผมที่ดูตื่นตาตื่นใจไปกับทุกอย่างที่อยู่รอบตัว แค่เห็นใบไม้ร่วงหล่นลงในลำธาร แล้วล่องลอยไปตามกระแสน้ำนั้นเขาก็ร้องว้าวแล้ว นี่ก็เป็นครั้งแรกที่ลูกได้เห็น จากใบไม้ต้องอยู่บนต้นเท่านั้นแต่ครั้งนี้กลับอยู่ในน้ำและไม่มีทีท่าว่าจะจมลง เขาจึงนึกสนุกวิ่งไปเด็ดใบไม้มาหลาย ๆ ใบ เพื่อนำมาต่อเติมจนกลายเป็นเรือ ผมช่วยลูกนำกิ่งไม้แห้งมาเป็นตัวยึดใบไม้เข้าไว้ด้วยกัน แล้วค่อย ๆพากันไปปล่อยสู่ลำธาร ใบไม้ลำใหญ่คล้ายเรือในจินตนาการของลูก กำลังไหลไปตามกระแสน้ำเขาอ้าปากค้างพร้อมกับอุทานเบา ๆ “ว้าว มันลอยได้”
การเล่นนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเล็ก ๆไปสู่สิ่งที่ใหญ่ขึ้น จากใบไม้เปลี่ยนเป็นเรือหลังจากนั้นลูกผมก็นั่งไม่ติดอีกเลย เขาเทียววิ่งไปวิ่งมาเก็บนั่นเก็บนี่ประกอบเป็นรูปร่างอีกมากมาย วงจรของสมองที่คอยหลั่งโดพามีนจะแข็งแรงขึ้นเมื่อลูกรู้สึกตื่นเต้นจากการเจอเรื่องที่คาดเดาไม่ได้
เด็กในช่วงอายุเท่านี้แทบไม่มีประสบการณ์ในการทำอะไรมาก่อน แทบทุกเรื่องที่พบเจอล้วนเป็นเรื่องใหม่ทั้งสิ้น การที่ได้พบเจอกับเรื่องเหล่านั้นก็คือ “ การเปลี่ยนแปลง ” นั่นเอง คุณพ่อคุณแม่เรามาช่วยสร้างรากฐานของสมองให้กับลูกน้อย เพื่อเป็นต้นทุนชีวิตให้กับเขากันครับ
ข้อมูล : เค็นอิชิโร โมะงิ นักวิจัยด้านสมองชาวญี่ปุ่น