การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ครั้งที่ 6 (Multiple Indicator Cluster Survey 6 : MICS6) ในประเด็นพัฒนาการเด็กปฐมวัย จัดทำการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูล โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และกรมอนามัย
พบเด็กปฐมวัยไทย (อายุต่ำกว่า 5 ปี) มีพัฒนาการสมวัย ร้อยละ 92.3 พบว่า มีพัฒนาการด้านสติปัญญาและภาษาต่ำที่สุดจากทั้ง 4 ด้าน อยู่ที่ร้อยละ 61 ในเด็กผู้ชาย และร้อยละ 64 ในเด็กผู้หญิง แนะพ่อแม่ควรใช้เวลาในการเล่นและการอ่านหนังสือกับลูกให้มากขึ้น เพื่อกระตุ้นพัฒนาการ
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า พัฒนาการของเด็กปฐมวัยเป็นพื้นฐานสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ เนื่องจากเด็กทุกคนเป็นผู้ชี้อนาคตของประเทศไทย เด็กที่มีพัฒนาการสมวัยจะมีเชาวน์ปัญญาดี และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพ
การติดตามสถานการณ์พัฒนาการของเด็กปฐมวัยอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการกำหนดนโยบาย และจัดสรรทรัพยากรสนับสนุนเด็กปฐมวัย โดยประเทศไทย สำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย (MICS) ซึ่งเป็นการสำรวจมาตรฐานระดับโลกอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในปี พ.ศ.2562 เป็นการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ครั้งที่ 6 (Multiple Indicator Cluster Survey 6 : MICS6) ในประเด็นพัฒนาการเด็กปฐมวัย จัดทำการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลพัฒนาการเด็ก โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และกรมอนามัยใน 4 ด้าน
ได้แก่ พัฒนาด้านสติปัญญาและภาษา พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวและกล้ามเนื้อ พัฒนาการด้านสังคมและพัฒนาการด้านการเรียนรู้ โดยเก็บข้อมูลใน 17 จังหวัด จาก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ มีกลุ่มตัวอย่าง 5,787 คน
นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เปิดเผยผลการสำรวจว่า เด็กปฐมวัยในประเทศไทย มีพัฒนาการสมวัยร้อยละ 92.3 ซึ่งถือเป็นอันดับที่ 7 จาก 80 ประเทศ ที่มีรายได้ต่ำหรือปานกลาง พบว่า มีพัฒนาการด้านสติปัญญาและภาษาต่ำที่สุดจากทั้ง 4 ด้าน ที่ร้อยละ 61 ในเด็กผู้ชาย และร้อยละ 64 ในเด็กผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวยากจน จะมีพัฒนาการด้านสติปัญญาและภาษาต่ำไปด้วย
ผลการวิเคราะห์ยังพบว่า การที่พ่อแม่เล่นกับลูก เช่น การหัดเรียกชื่อ นับเลขหรือวาดรูป การเล่านิทาน การอ่านหนังสือหรือดูสมุดภาพ การร้องเพลง การทำกิจกรรมร่วมกัน และการพาเด็กไปเล่นนอกบ้าน ส่งผลต่อพัฒนาการสมวัยที่มากขึ้นร้อยละ 28
เด็กที่มีพ่อแม่ที่มีการศึกษาสูงกว่า จะมีพัฒนาการสมวัยที่มากกว่าครอบครัวที่พ่อแม่มีการศึกษาน้อยกว่าถึงร้อยละ 34 เมื่อแบ่งเศรษฐานะครอบครัวเป็นดัชนีความมั่งคั่ง 5 ระดับ พบว่าเด็กที่อาศัยในครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุด จะมีพัฒนาการสมวัยที่มากกว่าถึง 2.92 เท่า เมื่อเทียบกับครอบครัวที่ยากจนที่สุด โดยติดตามผลการวิจัยได้ที่ https://www.mdpi.com/1660-4601/19/13/7599
นพ.อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า จากผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า พัฒนาการของเด็กปฐมวัยไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง โดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีเศรษฐานะต่ำ จะมีพัฒนาการสมวัยต่ำกว่า
อย่างไรก็ตาม พ่อแม่สามารถเสริมพัฒนาการให้ดีขึ้นได้ผ่านการเล่นกับลูกให้มากขึ้น โดยเฉพาะการอ่านหนังสือ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นสมองให้เกิดวงจรการเรียนรู้ เรียนรู้การออกเสียง เพิ่มคลังคำศัพท์ และสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัว
ด้วยการส่งเสริมการเล่นและการอ่านผ่านโครงการเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก ด้วยการเติมเต็มการเรียนรู้ ผ่านการเล่นตามแนวคิด 3F ได้แก่ Family Free และ Fun และพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก ครอบคลุมทุกตำบล เพื่อให้เด็กทุกเพศ ทุกฐานะ ได้มีโอกาสเข้าถึง และพัฒนาตนเองผ่านการเล่นต่อไป