210
สุขใจเมื่อคลายล็อก...แต่การ์ดต้องไม่ตก

สุขใจเมื่อคลายล็อก...แต่การ์ดต้องไม่ตก

โพสต์เมื่อวันที่ : July 6, 2022

หลังจากรัฐบาลไทยได้ประกาศคลายล็อก มาตรการต่าง ๆ ที่เคยมี เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ โควิด-19 โดยมีผลตั้งแต่ 1 ก.ค.

 

ด้วยการปรับระดับพื้นที่สีควบคุมเป็น "สีเขียว" ทั่วประเทศ และผ่อนปรนมาตรการหลายอย่าง รวมทั้งประกาศให้ถอดหน้ากากได้ตามความสมัครใจนั้น ทำให้ประชาชนสุขใจ และคิดว่า โรคระบาดหายคลายกังวลกันได้แล้ว

แต่ในความเป็นจริง ปรากฏว่า การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ยังดำรงคงอยู่ โดยเฉพาะสายพันธ์ุ ย่อยล่าสุด โอไมครอน BA 4/5 ถึงแม้ว่าผู้ใหญ่หลายคนจะฉีดวัคซีนเข็ม 4 หรือ 5 ไปแล้ว ก็ยังติดเชื้อได้อยู่ดี แต่ทางการแพทย์ยังคงยืนยันว่า การได้ฉีดวัคซีน mRNA สามารถลดความเสี่ยงอาการรุนแรง หรือเสียชีวิตได้ และหากมีอาการมากขึ้น อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

 

 

ในผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนกันไปคนละหลายเข็มแล้ว จึงไม่น่าห่วงมากเท่าเด็กเล็ก ๆ ที่ยังไม่มีวัคซีน ซึ่งมีความเสี่ยงมาก เพราะผู้ใหญ่ ออกไปพบปะผู้คนภายนอกบ้าน มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ และนำโควิด-19 เข้ามาติดเด็กได้

 

ดังนั้นแม้ทางการคลายล็อกแล้ว แต่ในบ้านที่มีเด็ก ผู้ใหญ่ต้องการ์ดไม่ตก ต้องระมัดระวังตัวเองให้ถึงที่สุด ให้ไม่ติดเชื้อ และนำพาเชื้อโรคโควิด-19 มาติดเด็ก ซึ่งทำได้โดยการดูแลตนเอง สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้แอลกอฮอล์สำหรับล้างมือบ่อย ๆ รักษาระยะห่าง ไม่ไปในที่ชุมนุมชน โดยไม่จำเป็น

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า "เด็กเล็ก" อายุ 0-6 เดือน ติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น มีความเสี่ยงอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้มากที่สุด สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำคือ การให้พ่อแม่ผู้ปกครองคอยสังเกตอาการ หากที่บ้านมีผู้ป่วยโควิด หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และเด็กมีอาการป่วย ให้รีบพาพบแพทย์ทันที

 

ส่วนเด็กกลุ่มอายุ 5-12 ปี การเสียชีวิตค่อนข้างน้อย ดังนั้นกลุ่มวัยเรียนอายุ 5 ปีขึ้นไป ควรรับวัคซีน ที่จะช่วยให้ผ่อนหนักเป็นเบาได้ (เรื่องฉีดวัคซีนในเด็กวัยเรียนนั้น อยู่ในดุลยพินิจของพ่อแม่เป็นหลัก)

 

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ มีคำแนะนำใน การสังเกตอาการ และวิธีดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มเด็กเล็กเบื้องต้น ดังนี้...

 

1. กลุ่มเด็กที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี และเด็กที่มีโรคประจำตัวที่รุนแรง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด ไตวายเรื้อรัง หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

2. ควรงดสัมผัส หรือหอมแก้มเด็กเล็ก โดยไม่จำเป็น

3. เชื้อโควิดมี ระยะฟักตัว 14 วัน แต่มักมีอาการของโรคใน 4-5 วัน หลังจากที่ได้รับเชื้อ

4. เตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นได้แก่ ปรอทวัดไข้ ยาบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก ไว้ประจำบ้าน

การดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กเบื้องต้น คำแนะนำของแพทย์คือ การประคับประคองตามอาการ โดยให้สังเกตอาการ และมีวิธีดูแล ดังนี้

  • ☞ หากมีไข้ ปวดศีรษะ ให้กินยาลดไข้ ส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ไม่เกิน 2-3 วัน จะค่อย ๆ ดีขึ้น
  • ☞ หากมีน้ำมูก ให้กินยาลดน้ำมูกเท่าที่จำเป็น หรือถ้าน้ำมูกข้นเขียว ในเด็กโตสามารถล้างจมูก ด้วยน้ำเกลือได้
  • ☞ หากมีอาการไอ ให้กินยาแก้ไอ ตามอาการ และจิบน้ำอุ่นบ่อย ๆ
  • ☞ หากไข้สูงกว่า 39 °C หายใจหอบเร็วกว่าปกติ หน้าอกบุ๋ม ปีกจมูกบาน ตอนหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 95% ซึมลง งอแง ไม่ดูดนม ไม่กินอาการ ถ่ายเหลว หรืออาเจียนมากต่อเนื่องกัน ต้องรีบนำเด็กไปโรงพยาบาลทันที

 

ขณะที่สังคมมีความสุขใจ เมื่อทางการคลายล็อค…แต่ทุกคนย่อมรู้ดีว่า วิถีการดำรงชีวิต จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป ดังนั้น ท่ามกลางสงครามเชื้อโรค พ่อแม่ผู้ปกครองต้องการ์ดไม่ตก เพื่อความปลอดภัยของเด็ก ๆ ที่รักยิ่ง รวมทั้งทุกชีวิตในบ้านของเรา