การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
พ่อแม่ทุกคนต่างมีความคาดหวังให้ลูกเป็นเด็กดี ฉลาด มีความสมบูรณ์พร้อม ทั้งกายและใจ
รวมทั้งมีพัฒนาการตามวัย เพื่อจะได้เจริญเติบโต เป็นผู้ใหญ่ที่ดีของครอบครัวและสังคมต่อไปในอนาคต แต่ลูกจะเป็น คนดี และฉลาด ตามความคาดหวังหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่เป็นหลัก
"ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น" เป็นความจริงที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่า "พ่อแม่เป็นอย่างไร ลูกก็จะเป็นอย่างนั้น" จะเห็นได้ว่า มีหลายครอบครัวที่พ่อแม่รักการอ่าน ก็จะส่งเสริมให้ลูกรักการอ่านด้วย เนื่องจากเล็งเห็นว่า การอ่านจะช่วยพัฒนาสมอง ทำให้ลูกฉลาดปราดเปรื่องได้จริง ๆ
การอ่านหนังสือเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกลยิ่งขึ้น ประโยชน์ของการอ่านคือ ให้ทั้งความรู้และความบันเทิง ช่วยส่งเสริมจินตนาการ รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ การอ่านเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมอง ให้รู้จักคิด วิเคราะห์ ช่วยลดความเครียด ทำให้จิตใจสงบ และทำให้มีสมาธิมากขึ้น
การส่งเสริมให้ลูกรักการอ่าน ทำได้โดย พ่อแม่ต้องอ่านให้ลูกเห็น ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ส่งเสริมให้ลูกได้สัมผัสหนังสือตั้งแต่ยังเป็นทารก สร้างบรรยากาศในการอ่านที่บ้าน ทำมุมอ่านหนังสือ มีเก้าอี้นั่งแสนสบาย ไว้ใช้ชีวิตในการอ่านร่วมกันในครอบครัว รวมทั้งหาซื้อหนังสือที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับวัยของลูก และมีความน่าสนใจ วางไว้ในที่ ๆ เขาสามารถหยิบมาอ่านได้สะดวก ยามเมื่อเขาอยากจะอ่านเอง หรือเลือกหยิบมาให้ผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง เป็นต้น
พ่อแม่ควรหาเวลาที่เหมาะสม อ่านนิทานให้ลูกฟังเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน อาจใช้เวลาสั้น ๆ ก่อน แล้วค่อยเพิ่มเวลาต่อไป โดยดูจากความสนใจของลูกเป็นหลัก การอ่านหนังสือให้ลูกเล็ก ๆ ฟัง ต้องสร้างสีสันด้วยการใช้น้ำเสียง และท่าทาง ที่เข้ากันได้ดีกับเนื้อเรื่อง อาจมีการใช้อุปกรณ์เสริม เช่น ตุ๊กตารูปสัตว์ต่าง ๆ ผลไม้ หมวก ผ้าหรือสิ่งอื่นใดที่สามารถประกอบการเล่าเรื่อง ทำให้ลูกรู้สึกสนุกสนาน ซึ่งเป็นการเสริมสร้างจินตนาการได้เป็นอย่างดี
การส่งเสริมการอ่านผ่านการเล่น เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก เช่น เกมหาคำจากภาพ เกมทายคำ เกมลากเส้นต่อจุด เป็นต้น นอกจากนี้ พ่อแม่สามารถที่จะทำให้การอ่านอยู่ในชีวิตประจำวันของลูกได้ เช่น ชี้ชวนให้ลูกอ่านป้ายข้างทาง ชื่อถนน ชื่อซอย เมื่อยามที่ออกไปนอกบ้านด้วยกันกับพ่อแม่
เมื่อลูกอ่านหนังสือได้ พ่อแม่ควรชมเชย และให้กำลังใจเขาเสมอ ทำให้เขาอยากอ่านต่อ ๆ ไปอีกหลายๆเล่ม และควรมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับลูก ถึงความสนุกของการอ่านหนังสือแต่ละเล่มด้วย
การที่จะให้ลูกรักการอ่าน ต้องอย่าบังคับ หากลูกอยากเล่นอย่างอื่นมากกว่า ก็ต้องผ่อนปรนตามเขา อย่าให้การอ่านเป็นบรรยากาศแห่งการยัดเยียด ลูกจะพาลไม่สนุก และต่อต้านการอ่าน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อลูกในอนาคต
เมื่อส่งหนังสือให้ลูกอ่าน พ่อแม่ต้องไม่ห่วงกังวลว่า ลูกจะทำหนังสือเสียหาย หากเขาขีดเขียนเลอะเทอะ ก็ต้องปล่อยเขา แต่ต้องค่อย ๆ สอนเขาถึงวิธีการใช้หนังสืออย่างถูกต้องด้วย และที่สำคัญอย่าเบื่อหน่ายในการที่จะปลูกฝังเรื่องรักการอ่านแก่ลูกเล็ก ๆ ที่อาจมีสมาธิในการฟังเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ยามใดที่พ่อแม่รู้สึกท้อแท้ ที่จะส่งเสริมการอ่านให้ลูก ซึ่งอาจไม่ได้เป็นไปดั่งใจหวัง ในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่ขอให้ใช้ความอดทน เพียรพยายามสอดแทรกเรื่องการอ่านให้เป็นกิจวัตรประจำวัน ชวนอ่านด้วยกัน พ่อแม่ก็อ่านด้วย ทำให้การอ่านเป็นเรื่องสนุก แล้วลูกก็จะซึมซับรักการอ่านได้ในที่สุด และยอมเป็นสมาชิก " ครอบครัวหนอนหนังสือ " ด้วยความเต็มใจยิ่ง