การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความปลอดภัยของลูก มีความสำคัญมาก ถือว่าเป็นเรื่องหลักในการดูแลลูก ที่พ่อแม่ต้องตระหนักเป็นอย่างยิ่ง ความปลอดภัยหมายถึง การปราศจากภัยหรืออันตราย การไม่มีอุบัติเหตุ อันเป็นเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ที่อาจเกิดขึ้น ทำให้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตได้
จากข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเด็ก ทำให้พ่อแม่ทั้งหลายกังวลใจว่า จะเกิดขึ้นกับลูกของตน การได้รับข่าวสารเหล่านี้ แม้จะเป็นเรื่องเศร้า สะเทือนใจ แต่ก็ถือว่าเป็นอุทหารณ์สอนใจให้พ่อแม่คนอื่น ๆ ได้ระมัดระวัง และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในครอบครัวของตน
อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กมีหลายอย่าง ถ้าหากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู ได้ติดตามดูแลเด็กเป็นอย่างดี ก็จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุในเด็กได้ดีที่สุด อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในบ้าน ยกตัวอย่าง เช่น น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ไฟฟ้าดูด สรุปแล้วผู้ใหญ่ต้องไม่ทิ้งเด็กเล็กไว้ตามลำพัง , อย่าให้เด็กเข้าใกล้ เมื่อต้มน้ำ หรือ รีดผ้า ,ไม่วางกระติกนำ้ร้อนไว้ในที่เด็กคว้าง่าย , ไม่ให้เล่นใกล้เตาไฟ , ต้องติดปลั๊กไฟให้สูง หรือติดอุปกรณ์ครอบปลั๊ก ป้องกันเด็กเอานิ้ว หรือโลหะต่าง ๆ แหย่ปลั๊ก ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
พ่อแม่ต้องจัดสภาพแวดล้อมในบ้านที่ปลอดภัยสำหรับลูก เช่น เก็บของมีคมทุกชนิด รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทำจาก แก้ว กระจก และโลหะ ทุกอย่างต้องเก็บไว้อย่างมิดชิด ให้พ้นมือเด็ก รวมทั้งอุปกรณ์ที่ให้ความร้อน ไม่ว่าจะเป็น เตารีด หม้อต้มน้ำ หม้อหุงข้าว ฯ ล ฯ ก็ต้องวางไว้ให้ห่างไกลจากมือเด็กเช่นกัน
บ้านที่มีเด็ก ต้องทำความสะอาดพื้นบ้านให้แห้งอยู่เสมอ เพราะถ้าพื้นเปียก เด็ก ๆ วิ่งเล่นซุกซนอาจลื่นล้ม เป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ บ้านที่ปลอดภัย ต้องเป็นบ้านที่ติดตั้งประตูรั้วบริเวณทางขึ้นหรือลงบันได ป้องกันเด็กตกบันได และต้องล็อกประตู - หน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันเด็กปีนป่ายตกลงมาได้
หลายครั้งที่เราเคยได้ยินข่าวเศร้าว่า เด็กจมอ่างน้ำ แม้มีน้ำในระดับที่ไม่สูงมากก็ตาม ดังนั้น จึงเป็นข้อห้ามวางภาชนะที่ใส่น้ำ อ่างน้ำ หรือถังน้ำใกล้เด็ก รวมทั้งต้องสอนเด็กไม่ให้เข้าใกล้สระน้ำ บ่อน้ำ เพราะอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
การปกป้องลูกให้มีความปลอดภัย เป็นหน้าที่ของพ่อแม่โดยตรง ที่จะต้องคอยอบรมสั่งสอน ชี้แนะแก่ลูกว่า สิ่งไหนที่เป็นอันตราย ไม่ให้ลูกทำ หรือเข้าใกล้ เช่น ไม่ให้ลูกเล็กๆจับต้องของมีคม เพราะจะทำให้บาดเจ็บ เลือดไหล , ไม่ให้ลูกออกจากบ้านตามลำพัง โดยไม่มีผู้ใหญ่ไปด้วย เพราะอาจถูกรถชน หรืออาจพบผู้ไม่ประสงค์ดี เข้ามาลักพาตัว หรือทำร้าย เป็นอันตรายได้ , ไม่ให้ลูกพูด รับของ หรือไปกับคนแปลกหน้าในทุกกรณี
พ่อแม่ต้องปกป้องลูกไม่ให้อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดความไม่ปลอดภัยเท่าที่จะทำได้ แต่อย่าให้การระวังเป็นการระแวงจนเกินไป ถึงกับห้ามไปหมดทุกอย่าง พ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการที่ดีในแต่ละช่วงวัยด้วย
ความปลอดภัยของลูก คือความสุขใจของพ่อแม่ ที่ได้เฝ้ามองการเจริญเติบโตของเขา ในแต่ละก้าวของชีวิตอย่างมั่นคง ดังนั้น " การป้องกันดีกว่าการแก้ไข " แน่นอนที่สุด