การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ย้อนสถิติพบ 11 ปี พบเด็กติดในรถอย่างน้อย 129 เหตุการณ์ เสียชีวิต 7 คน ล่าสุดสูญเสียเด็กหญิงวัย 7 ขวบ ที่ จ.ชลบุรี ขณะที่กรมควบคุมโรค แนะ 3 ข้อควรจำ นับจำนวนเด็กก่อนขึ้น-ลงรถ ตรวจดูให้ทั่วก่อนล็อกรถ และอย่าประมาท
กรณี ด.ญ.วัย 7 ขวบ เสียชีวิต ถูกลืมทิ้งในรถตู้โรงเรียน จ.ชลบุรี โดยพ่อแม่เข้าแจ้งความดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้อง เมื่อวานนี้ (30 ส.ค.2565) กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ได้เฝ้าระวังข่าวจากสื่อตั้งแต่ปี 2557-2563 พบประเด็นที่น่าสนใจคือ มีเหตุการณ์เด็กที่ถูกลืมและทิ้งให้อยู่ในรถตามลำพัง 129 เหตุการณ์ เป็นเด็กอายุ 2 ปี มากที่สุดร้อยละ 38.0 รองลงมาคือเด็กอายุ 1 ปี และ 3 ปี ร้อยละ 20.9 และ 19.4 ตามลำดับ
เหตุเกิดขึ้นในรถยนต์ส่วนบุคคลมากที่สุดร้อยละ 96.0 โดยมีเด็กเสียชีวิต 6 คน เป็นเพศหญิง 3 คน เพศชาย 3 คน อายุระหว่าง 2- 6 ปี ทั้ง 6 คน เสียชีวิตเกิดเหตุขึ้นในรถรับส่งนักเรียน 5 คน และรถยนต์ส่วนบุคคล (ของครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 คน) ทั้งหมดถูกลืมทิ้งไว้นานกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไป โดยเด็กนอนหลับ และรถถูกจอดไว้หลังจากรับส่งนักเรียนเสร็จ และล่าสุดเคส ด.ญ. อายุ 7 ปี เสียชีวิตเมื่อวานนี้ (30 ส.ค.)
แนะนำผู้ปกครอง พนักงานขับรถรับส่งนักเรียน และครูอาจารย์ เตือนตนเองใน 3 ข้อควรจำ-ปฏิบัติเพื่อป้องกันการลืมเด็กในรถ ดังนี้
1. นับ - นับจำนวนเด็กก่อนขึ้นและหลังลงจากรถทุกครั้ง
2. ตรวจตรา - ตรวจตรา ก่อนล็อคประตูรถ ตรวจดูให้ทั่วรถ
3. อย่าประมาท - อย่าทิ้งเด็กไว้เพียงลำพังแม้ช่วงเวลาสั้น ๆ
รศ. นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสว่า การปล่อยเด็กไว้ในรถช่วงกลางวัน และรถจอดตากแดดไว้ หรืออยู่ในร่มก็มีความอันตราย เพราะอากาศโดยรอบอุณหภูมิสูงอยู่แล้ว เมื่อร่างกายพยายามไล่ความร้อน และร่างกายคุมไม่อยู่ ความร้อนจะเข้ามาในร่างกายและไม่สามารถขับออกได้ ตัวจะแดงและผิวแห้ง ต่อมาเซลล์อวัยวะต่าง ๆ จะเริ่มตาย ภาวะเลือดเป็นกรด ช็อก หมดสติ สมองบวมและกดศูนย์หายใจที่ก้านสมอง จนเด็กหยุดหายใจ โดยรวมทั้งหมดไม่เกิน 2 ชั่วโมง เด็กที่ติดอยู่ในรถก็อาจจะเสียชีวิตได้
รถตากแดดไม่เกินครึ่งชั่วโมง อุณหภูมิในรถจะขึ้นมา 42 องศาฯ ความร้อนจะรั่วเข้าร่างกาย ร่างกายก็พยายามไล่ออก ไม่เกิน 2 ชั่วโมงจะหมดพลังและอุณหภูมิภายในร่างกายเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ
รศ. นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า การลืมเด็กไว้ในรถโรงเรียน หรือรถสาธารณะไม่น่าจะเกินขึ้นได้เลย เพียงผู้ขับขี่และผู้ดูแล เช็กชื่อเด็กที่ขึ้นมาบนรถและนับจำนวนเด็กขณะลงจากรถว่าครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งไม่น่าจะเกิน 15 คนต่อคัน
รถโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการภายนอก ทำให้โรงเรียนไม่รับผิดชอบเรื่องนี้เลย ทั้งที่ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ 30 ปีมาแล้ว ระบุให้ "รถโรงเรียน" ที่โรงเรียนเป็นผู้ประกอบการเอง หรือผู้ประกอบการภายนอกนั้น โรงเรียนจะต้องรับผิดชอบทั้งหมด
ส่วนการสอนเด็กให้บีบแตร หรือเปิดประตูรถนั้น เด็กปฐมวัย (อายุน้อยกว่า 5-6 ปี) อาจยังเชื่อมโยงเหตุผลได้ไม่ดี เมื่อเกิดช่วงวิกฤตอาจไม่ได้นำความรู้ หรือทักษะมาใช้ อาจร้องและทุบกระจกจนหมดแรง
รศ. นพ.อดิศักดิ์ ยังตั้งคำถามถึงเคสล่าสุดเด็กอายุ 7 ปี เสียชีวิตในรถ สามารถเชื่อมโยงเหตุผลและแก้ไขปัญหาเบื้องต้นด้วยตัวเอง เป็นเรื่องน่าแปลก ปกติไม่เคยพบเคสเด็กอายุมากเท่านี้ อาจต้องตรวจสอบปัญหาอื่น ๆ เพิ่มเติม
รถโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการภายนอก ขาดหน่วยกำกับดูแล ถ้าโรงเรียนไม่ดูแลแล้ว ความหวังจะให้ขนส่งจังหวัดมาดูแล ก็เป็นเรื่องยาก
รศ. นพ.อดิศักดิ์ แนะหลักการ 3 ข้อ คือ ต้องจัดการสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยตั้งแต่แรก ผู้ดูแลต้องใกล้ชิดตลอดเวลา และสอนเด็กให้รู้ถึงจุดเสี่ยงและอันตราย โดยสอนให้เด็กกดแตรรถยนต์ให้เสียงดัง ใช้แอปพลิเคชันตรวจนับจำนวนรถเด็กขึ้น-ลงรถ ที่สำคัญให้คนขับตรวจนับจำนวนเด็กด้วยตัวเองทุกครั้ง และต้องมีระบบควบคุมการปฏิบัติงานของคนขับอย่างเคร่งครัด
รศ. นพ.อดิศักดิ์ แนะหลักการ 3 ข้อ คือ ต้องจัดการสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยตั้งแต่แรก ผู้ดูแลต้องใกล้ชิดตลอดเวลา และสอนเด็กให้รู้ถึงจุดเสี่ยงและอันตราย โดยสอนให้เด็กกดแตรรถยนต์ให้เสียงดัง ใช้แอปพลิเคชันตรวจนับจำนวนรถเด็กขึ้น-ลงรถ ที่สำคัญให้คนขับตรวจนับจำนวนเด็กด้วยตัวเองทุกครั้ง และต้องมีระบบควบคุมการปฏิบัติงานของคนขับอย่างเคร่งครัด