170
ปรับเสียงโวยวายให้เป็นเสียงพูดปกติก่อนตอบสนอง

ปรับเสียงโวยวายให้เป็นเสียงพูดปกติก่อนตอบสนอง

โพสต์เมื่อวันที่ : September 1, 2022

เด็กที่โวยวายเรียกพ่อแม่ช่วยหรือโวยวายเพราะไม่ได้ดั่งใจนั้น แม้จะไม่ได้ก้าวร้าวรุนแรง พ่อแม่ก็ควรฝึกลูกควบคุมอารมณ์ก่อนค่ะ

 

ไม่ควรตอบสนองต่อเสียงโวยวายด้วยการตามใจหรือรีบเข้าช่วยทันที เพราะนั่นจะเป็นแรงเสริมให้การโวยวายนั้นคงอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ จนติดเป็นนิสัย และในที่สุดจากที่โวยวายน้อย ๆ ก็จะเปลี่ยนมาแรงขึ้น ๆ จนกลายเป็นอาละวาดรุนแรงได้ เด็กๆควรเรียนรู้ “การพูดจาดี ๆ แทนโวยวาย” พ่อแม่จึงควรสอนให้ลูกพูดดี ๆ ก่อนเข้าช่วยเหลือ เช่น...

 

...“ลูกพูดดี ๆ ก่อนนะคะ แม่ฟังไม่รู้เรื่องถ้าลูกโวยวายแบบนี้ ไหนพูดซิคะว่า แม่ช่วยหน่อยคะ”...

 

แล้วรอลูกพูดเมื่อลูกพูดตามเราแล้ว ก็ควรชื่นชม แล้วค่อยช่วยค่ะ แต่หากเป็นการโวยวายเพราะถูกขัดใจ พ่อแม่ก็ต้องสอนลูกว่า “หนูโวยวายแบบนี้ พ่อแม่ก็ไม่เปลี่ยนใจนะคะ” และต่อด้วยการชวนลูกไปเล่นอย่างอื่นเพื่อเบี่ยงเบนสิ่งที่เป็นสาเหตุ หรือจะใช้วิธีเพิกเฉย รอลูกสงบแล้วค่อยสอนก็ได้ ขึ้นอยู่กับต้นทุนของความสัมพันธ์และบริบทตอนนั้นคะ

 

 

ส่วนกรณีที่ลูกโวยวาย แต่พ่อแม่ยังไม่ต้องการขัดใจทันที ยังอยากคุยกับลูกเพื่อให้ไปเลือกอย่างอื่นแทนชิ้นนี้ เราก็ควรให้ลูกหยุดโวยวายก่อน โดยบอกลูกว่า...

 

...“แม่อยากให้ลูกเงียบ ๆ ก่อน แม่จะได้คุยกับหนูรู้เรื่อง, แม่จะชวนไปดูของชิ้นอื่นแทนนะคะ”...

 

แล้วรอลูกสงบก่อนค่ะ พอลูกสงบก็อธิบายว่าทำไมไม่ให้ชิ้นนี้ และทำไมอยากให้เป็นชิ้นอื่นแทน พ่อแม่ไม่ควรพูดอธิบายกับลูกตอนโวยวาย เพราะลูกอาจไม่รับฟังเลย และจะทำให้เคยชินกับการโวยวายด้วยค่ะ

ที่สำคัญพ่อแม่ควรชื่นชมลูก เมื่อลูกสามารถควบคุมตนเองให้สงบ หรือพูดดี ๆ แทนการโวยวายได้ ดังนี้

 

...“ลูกเก่งมากที่พูดดี ๆ ได้นะคะ แบบนี้แม่ฟังเข้าใจเลยว่า ลูกจะให้แม่ทำอะไร”...

...“ลูกน่ารักมากที่เงียบเสียงได้แล้ว แม่อธิบายให้ลูกฟังแบบไม่ต้องตะโกนเลย ดีจังค่ะ”...

 

สุดท้ายนะคะ นอกจากจะไม่ปล่อยให้ลูกชินกับการโวยวายแล้ว คนในบ้านก็ควรเป็นต้นแบบที่ดีของการพูดจากันดี ๆ ไม่โวยวายต่อกัน หากจะทะเลาะกัน ก็ขอให้ไปหลังไมค์ อย่าให้ลูกเห็น เพราะลูกจะซึมซับการใช้อารมณ์และการโวยวายจากพ่อแม่ได้