654
10 ขั้นตอน ช่วยลูกแก้ปัญหาเรื่องเพื่อน

10 ขั้นตอน ช่วยลูกแก้ปัญหาเรื่องเพื่อน

โพสต์เมื่อวันที่ : September 6, 2022

คุณแม่บอกลูกว่า ...“ใครจะให้เล่นหรือไม่ให้เล่น เราอย่าไปสนใจ เราทำให้ดีที่สุดของเราก็พอแล้ว ถ้าเขาไม่ให้เล่น เราก็ไปหาเพื่อนคนอื่นเล่นได้”... ลูกวัยประถมต้นแย้งกลับมาว่า ...“เพื่อนคนนี้ไปบอกเพื่อนคนอื่นไม่ให้เล่นด้วย”... ลูกคิดในใจ "วิธีแม่ใช้ไม่ได้เลย !"

 

หมอชอบแนวคิดและคำสอนของคุณแม่นะคะ แต่สิ่งที่เราบอก มันเป็นเพียง concept หรือหลักการเท่านั้น พวกเราคิดว่า เด็ก ๆ จะนำหลักการนี้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงหรือ ?

เอาจริง ๆ นะคะ นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยหลายคนยังนำหลักการนี้ไปใช้กับตนเองยากเลย

 

เด็กตั้งแต่วัยประถมขึ้นไป จะได้ฝึกทักษะสังคมอย่างเป็นจริงเป็นจังกับปัญหาการคบเพื่อน ก็เพื่อเตรียมตัวเองให้อยู่ในสังคมได้ ก่อนเข้าสู่วัยทำงานซึ่งเป็นของจริงต่อไป ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็ก ไม่ว่าจะไปแกล้งคนอื่นหรือถูกคนอื่นแกล้ง ขอให้พ่อแม่คิดเสียว่านี่คือแบบจำลองสำหรับฝึกลูก โดยมีพ่อแม่ชี้แนะก่อนเป็นผู้ใหญ่ต่อไป

 

ทุกคนเป็นเด็ก ปัญหาที่เกิดขึ้นมันเป็นระดับเด็ก ๆ พ่อแม่อย่าเข้าไปมีอารมณ์ร่วมจนสีหน้าและท่าทางแสดงความโกรธออกมาให้ลูกรับรู้ได้ เพราะบางครั้งเรื่องเล็กจะกลายเป็นเรื่องใหญ่แทน (แต่ถ้าเรื่องใหญ่ก็ห้ามทำเป็นเรื่องเล็ก เอาตามจริง แต่อย่าใช้อารมณ์ค่ะ)

 

จงตั้งสติ และค่อย ๆ คิดตามลงไปนะคะ

1. อย่าให้แต่หลักการ เช่น “ใครไม่เล่นด้วยก็อย่าสนใจ ไปเล่นกับคนอื่นก็ได้” เพราะลูกอาจนำไปประยุกต์ใช้เองไม่ได้

 

2. อย่าช่วยลูกแก้ปัญหาโดยละเลยการฝึกสมองลูกคิดวิเคราะห์ปัญหา เช่น “ไปบอกเพื่อนว่า ทำแบบนี้ไม่ได้นะ” โดยลูกยังไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมเพื่อนไม่ให้เล่นด้วย บางทีอาจเป็นเพราะเพื่อนไม่น่ารัก หรือ อาจเป็นลูกเราเองนั่นแหละที่ไม่น่ารัก

 

3. ช่วยลูกวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา โดยกระตุ้นลูกให้เล่าเรื่องราวแบบลงรายละเอียด เมื่อสมองลูกต้องลำดับเหตุการณ์ให้ฟัง คนที่เล่าก็จะเริ่มเห็นสาเหตุชัดขึ้น พ่อแม่ที่ฟังอยู่ก็จะเข้าใจเรื่องมากขึ้นด้วย ข้อนี้คือ สิ่งที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่พลาด !

 

เด็กมักถามปัญหา โดยใช้ข้อสรุปจากตนเอง เช่น “เพื่อนไม่ให้หนูเล่นด้วย” พ่อแม่ได้ยินคำถามแบบนี้ก็มักตอบแบบข้อสรุปกลับไป เช่น “ถ้าเขาไม่ให้เล่นด้วย ลูกก็ไปเล่นกับคนอื่น”

ผู้ปกครองควรช่วยลูกลงรายละเอียดมากกว่าด่วนสรุปตามเด็ก ด้วยการตั้งคำถามที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น “ใครที่ไม่ให้เล่นคะ” “แล้วตอนนั้นทำอะไรกันอยู่” “เล่นกันอยู่ที่ตรงไหน” “มีใครอยู่เล่นด้วยนะคะ” “พอเพื่อนพูดแบบนี้ เพื่อนคนอื่นที่อยู่ใกล้ ๆ ได้ยินมั๊ยคะ” “แล้วคนที่ได้ยิน เขาเห็นด้วยมั๊ย หรือ ทำยังไงต่อ”

 

4. พ่อแม่ต้องวิเคราะห์เรื่องเองก่อน จึงจะช่วยลูกวิเคราะห์ปัญหาได้ เช่น “แม่คิดว่า ใบเฟิร์นเขาพูด เพราะเห็นว่าครั้งก่อนหนูเล่นผิดกติกา ตอนนี้หนูรู้วิธีเล่นแล้ว แต่เขาอาจไม่รู้ว่าหนูเล่นเป็นแล้ว”

 

5. บางทีข้อมูลจากลูกเราก็น้อยเกินไป พ่อแม่ควรหาข้อมูลจากช่องทางอื่น ช่น ครู หรือ พ่อแม่ของเพื่อน ๆ การถามจากคนอื่น มีเป้าหมายเพื่อนำข้อมูลจากมุมมองอื่นมาฝึกลูกวิเคราะห์ปัญหา ไม่ใช่เพื่อจับผิดใครนะคะ

 

 

6. เมื่อลูกวิเคราะห์ปัญหาได้แล้ว ก็ค่อยกระตุ้นลูกคิดแก้ปัญหา เช่น “ลูกคิดว่าจะบอกเพื่อนยังไงดี ถ้าเขาไม่รู้ว่าเราเล่นเป็นแล้ว”

 

7. พ่อแม่แชร์วิธีแก้ปัญหาของเราให้ลูกฟัง เช่น “แม่คิดว่า บอกเพื่อนให้เข้าใจจะดีที่สุด” เพื่อให้ลูกนำไปขบคิดว่าจะใช้วิธีการของเขาหรือของแม่

ปัญหานี้คือปัญหาของลูก ลูกต้องเป็นคนตัดสินใจ ลูกจึงควรมีวิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลายค่ะ

 

8. พ่อแม่ต้องติดตามผลในวันต่อมา หรือในระยะเวลาที่เร็วที่สุด เพราะอย่าลืมว่า การแก้ปัญหาที่เราคิดกับลูกนั้น เป็นการคิดผ่านมุมมองของเราเท่านั้น ซึ่งอาจผิดก็ได้ ข้อนี้ผู้ปกครองก็มักพลาด คือ มักไม่ติดตามผล หากลูกทำไม่สำเร็จ เขาจะคิดว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ วิธีการของพ่อแม่ไม่ได้ผลหรอก ทำให้ไม่อยากปรึกษาพ่อแม่อีก เรื่องก็จะเงียบไป แต่เป็นการเงียบแบบลูกไม่มาปรึกษาแล้ว ไม่ใช่เงียบเพราะเรื่องเรียบร้อยดีแล้วนะคะ

 

9. หากวิธีการที่แนะนำไม่สำเร็จ พ่อแม่ก็ต้องมานั่งฟังเหตุการณ์อีกค่ะ ทำซ้ำแบบข้อ 4 5 6 7 8 เพื่อหาสาเหตุว่าทำไมไม่ได้ผล เช่น เราวิเคราะห์ผิด วิธีแก้ปัญหาของเราไม่เหมาะกับเด็ก หรือ ลูกไม่กล้าพูด หรือ เพื่อนคนนั้นเกเรมาก พ่อแม่ก็แก้ไขไปตามสาเหตุนั้น ๆ ค่ะ

 

10. กรณีเรื่องซับซ้อนมาก หรือรุนแรงมาก แนะนำให้ร่วมปรึกษากับคุณครูค่ะ หรือบางทีอาจต้องมีแพทย์เข้าช่วยดูแลด้วย

 

เรื่องเพื่อน ๆ เป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตเด็ก อย่ามองว่าเรื่องเล็ก ขอให้ตั้งใจทำตามที่แนะนำ อย่าสอนสั้น ๆ ให้แต่หลักการ แล้วไม่ติดตามดูผลเลยนะคะ