603
ลูกไม่ยอมรับผิด เมื่อไปทำผิดนอกบ้าน

ลูกไม่ยอมรับผิด เมื่อไปทำผิดนอกบ้าน

โพสต์เมื่อวันที่ : October 20, 2022

..."ลูก 7 ขวบย่าง 8 ขวบ เวลาทำผิดไม่ยอมรับผิด เอาแต่ร้องไห้มาฟ้อง เช่น ไปทำขนมหกบ้านเพื่อนบ้าน แต่พอตาเพื่อนบอกต้องรับผิดชอบ น้องกลับวิ่งร้องไห้ร้องห่มมาเหมือนถูกกระทำรุนแรงมา พอไปถามคุณตาถึงเข้าใจ ถ้าคนไม่เข้าใจไม่ทันได้ถามอาจจะทะเลาะกันไปได้ หลายครั้งที่ไม่กล้ารับผิด และร้องไห้ปานจะขาดใจ ถามเพื่อเอาความจริงไม่ได้ค่ะ เหนื่อยมาก"...

 

การยอมรับผิดถือเป็นความกล้าหาญค่ะ หากลูกยังไม่ยอมรับผิด ก็แปลว่า ลูกคงกลัวมากกว่ากล้า แล้วลูกกลัวอะไร ลูกกลัวการถูกดุแรง ๆ การลงโทษที่เกินเหตุ การเสียหน้าหรือความรู้สึกอับอาย

 

อยากให้ลูกยอมรับผิดได้จริง ๆ พ่อแม่ต้องช่วยให้ลูกเลิกกลัวปัจจัยเหล่านั้น


1.พ่อแม่ต้องใจเย็น

อย่ามีท่าทีจ้องเอาผิดเค้นเอาคำตอบ เพราะลูกจะกลัวมาก ๆ พ่อแม่ควรมีท่าทีอยากช่วยแทนนะคะ ให้เราค่อย ๆ ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ขอให้ใจเย็น ๆ มีท่าทีอบอุ่น ปลอดภัยค่ะ และหากลูกยังร้องไห้มาก ๆ ยังไม่ยอมพูดอะไร ก็ควรบอกลูกว่า “หนูร้องไห้ แม่ฟังไม่รู้เรื่องเลย ค่อย ๆ เบาเสียงร้องไห้ลง แล้วค่อย ๆ เล่านะ... แม่จะได้เข้าใจและช่วยแก้ปัญหาได้” ท่าทีอยากช่วยและใจเย็นของพ่อแม่ คือ ความปลอดภัยและความไว้วางใจที่ลูกต้องการจากเรา

2. พ่อแม่ไม่ควรจัดการลูก ต่อหน้าคนอื่น

เด็กอายเป็นนะคะ ยิ่งรู้ความแบบนี้ อายแน่นอน ! หากเกิดเรื่องนอกบ้าน ในที่สาธารณะ พ่อแม่ต้องแยกตัวเองกับลูกออกจากบริเวณที่คนมองเห็น จะไปอยู่ที่ลานจอดรถ หรือมุมที่ไม่ค่อยมีคนมองก็ได้ บอกลูกว่า “เราไปคุยกันเอง ที่เงียบ ๆ กันค่ะ” แล้วจูงมือลูกอย่างใจเย็น

 

หากเกิดเรื่องในบ้าน อย่างเคสนี้ ลูกไปทำเรื่องที่บ้านเพื่อน แต่วิ่งกลับมาที่บ้านเรา ให้พ่อแม่คุยกับลูกที่บ้านตัวเองก่อน อย่าเพิ่งลากไปหาความจริงบ้านเพื่อนนะคะ เพราะเด็กจะกลัวรนรานมากขึ้น เด็กบางคนเกิดเป็นปมในใจก็มี ขอให้พ่อแม่คิดถึงใจเขาใจเรา เราไม่อยากอายยังไง ลูกก็ไม่อยากอาย เหมือนเรานั่นแหละ สอนลูกให้เป็นเด็กดีได้ ไม่จำเป็นต้องทำให้อาย

 

 

3. สร้างบรรยากาศให้ลูกรู้สึกปลอดภัย ไม่ต้องกลัวถูกทำโทษเกินจริง เช่น ตี ด่ารุนแรง และขู่

พ่อแม่อย่าลืมว่า คุณตาข้างบ้านได้บอกให้ลูกรับผิดชอบเรื่องขนมมาแล้ว เราในฐานะพ่อแม่ต้องนึกออกว่า ลูกเจออะไรมาบ้าง หมายถึง คุณตาได้พูดกับลูกแบบไหน แบบหยอก ๆ ไม่น่ากลัว หรือ ดุดันน่ากลัวมาก หากพ่อแม่รู้ว่าลูกเจอความน่ากลัวมาแล้ว เราต้องไม่ทำให้ลูกกลัวซ้ำ ไม่เช่นนั้น ลูกจะไร้ที่พึ่งทางใจ

 

คำว่าไร้ที่พึ่งทางใจ หมายถึง ลูกรู้สึกทางตัน ! พ่อแม่จะต้องเป็นที่พึ่งทางใจให้ลูก โดยเฉพาะลูกไปทำผิดมาจากข้างนอก ควรช่วยให้ลูกคลายความกลัวลง อย่าเค้นถามจนลูกกลัวมากขึ้น อย่าเร่งรัด ควรให้เวลา และมีท่าทีรับฟังอย่างใจเย็น ความไม่ร้อนรนของพ่อแม่ จะช่วยลดความร้อนรนของลูก ลูกจะรู้สึกปลอดภัยทั้งทางกายและจิตใจ

เมื่อความกลัวของลูกลดลง ก็จะช่วยให้ความกล้าหาญทำงาน ลูกจะกล้าเล่าเรื่อง และหมอเชื่อว่า ลูกจะกล้ารับผิดด้วย ซึ่งอันที่จริงแล้ว เด็กทำขนมหก โดยตัวเรื่องนั้น ไม่มีอะไรที่น่ากลัวเลย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ด้วยซ้ำ แต่ที่ปฏิกิริยาของลูกคุณแม่แรงขนาดนี้ ก็แปลว่า เขากลัวเกินไป กลัวจนบดบังสติ ลูกจึงไม่สามารถคิดออกว่า เรื่องนี้ มันเล็กนิดเดียว ไม่เห็นต้องกลัวเลย !

 

ขอให้คุณแม่สร้างพื้นที่ปลอดภัยทั้งทางกายและทางใจขึ้นในบ้านนะคะ ถึงเวลาแล้ว จริง ๆ ค่ะ เมื่อเด็กไม่กลัว (อารมณ์พ่อแม่) ไม่อับอาย และรู้ว่าการลงโทษของพ่อแม่สมเหตุผล เด็กจะพิจารณาได้ว่าเรื่องไหนเรื่องใหญ่ - เรื่องเล็ก และจะไม่กลัวเล่าเรื่องที่ทำผิดมา ทำให้พ่อแม่สามารถสอนลูกได้ทันการณ์

 

เลี้ยงลูกให้กลัว มีผลข้างเคียงมากมาย เคสนี้เป็นตัวอยา่งตอนเด็ก ๆ แต่หากเป็นวัยรุ่น อย่าว่าแต่รับผิดเลย อาจไม่กลับมาให้เราดุซ้ำก็ได้ นะคะ