227
พ่อแม่ต้องระวัง ! "อุ้มเขย่าเด็ก" อันตรายต่อสมอง

พ่อแม่ต้องระวัง ! "อุ้มเขย่าเด็ก" อันตรายต่อสมอง

โพสต์เมื่อวันที่ : March 14, 2023

 

ยามเมื่อลูกเล็กร้องไห้ไม่หยุด คุณพ่อคุณแม่รู้สึกอย่างไรบ้างครับ ?

 

พ่อแม่ส่วนใหญ่คงมองหา ‘สาเหตุ’ ที่ทำให้ลูกร้องไห้ ไม่ว่าจะเป็นความหิว ความง่วง อาการท้องอืด ไม่สบายตัว เบ่งอึ ความไม่สบายตัวจากความร้อน-ความเย็นจากสิ่งแวดล้อม และแมลงสัตว์กัดต่อย ฯลฯ

 

โดยเมื่อหาสาเหตุของการร้องไห้เจอก็จัดการดูแลและแก้ไขกันไป และบางครั้งพ่อแม่ก็หาสาเหตุของการร้องไห้ไม่เจอ ดังนั้นจึงต้องลงเอยด้วยการอุ้มกอดปลอบประโลมกันไป และสิ่งที่ตามมาก็คือ “ความรู้สึกหงุดหงิด” จากเสียงร้องของลูกที่พ่อแม่ต้องรับมือให้ได้

 

 

ในขณะที่ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่รู้สึกหงุดหงิดหรือกระทั่งโมโห ‘เสียงร้องไห้’ ของเด็กโดยที่ไม่คิดที่จะหาสาเหตุของเสียงร้องไห้เลยด้วยซ้ำ เรื่องราวจึงลงเอยด้วย ‘การเขย่าเด็ก’ หรืออุ้มเหวี่ยงไปมาด้วยความแรงด้วยความหวังลึก ๆ ว่าเด็กจะหยุดร้องไห้ บางครั้งการอุ้ม เขย่า กระแทกเด็กไปมา ก็อาจเป็นวิธีการทารุณกรรมเด็กที่ผู้ใหญ่ที่ชั่วร้ายกระทำต่อเด็กคนหนึ่งด้วย

 

ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็พบวิดีโอสั้นในแอปพลิเคชันหนึ่งว่าด้วย ‘การรับขวัญหลาน’ โดยการเอาเด็กใส่กระจาดแล้วกระแทกลงพื้นวน ๆ หากเราไม่นับเป็นเรื่องของ ‘ความเชื่อ’ ที่พยายามเรียกขวัญมาเข้าร่าง แต่วิญญาณเด็กอาจออกจากร่างไปก็ได้ใครจะรู้ เพราะการเขย่าและโยนเด็กที่มีอายุเด็กต่ำกว่า 2 ขวบ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงขวบแรกของชีวิต) สามารถทำให้เด็กเสียชีวิตได้ กลับไปเป็นเทวดาน้อยได้เลย กลุ่มอาการนี้เรียกว่า "Shaken Baby Syndrome"

 

 

Shaken Baby Syndrome

หรือกลุ่มอาการที่เกิดจากการเขย่าเด็ก ทางการแพทย์นั้นถือเป็นหนึ่งใน ‘การทำทารุณกรรมเด็ก’ ที่รุนแรงที่เกิดจากการเขย่าหรือโยนเด็กเล็กด้วยเหตุต่าง ๆ โดยเฉพาะจากความโกรธ หงุดหงิดของผู้เลี้ยงที่เด็กไม่ยอมหยุดร้องไห้เสียที พบว่าคนที่เขย่าเด็กที่บ่อยที่สุดคือ พ่อ พี่เลี้ยงเด็ก รวมถึงตัวของแม่เด็กเองด้วย

 

ยิ่งมีเรื่องของสารเสพติดด้วยยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นในการเขย่าเด็กอีกด้วย ในขณะเดียวกันปัจจัยแวดล้อมก็สำคัญครับ เราพบว่า ‘ความเครียด’ จากทุกเรื่องรอบตัวไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ ยิ่งกระตุ้นพฤติกรรมรุนแรงในครอบครัวได้อีกด้วย ดังนั้นการเขย่าเด็กจึงมักพบในครอบครัวที่มีปัญหาครอบครัวมาก และมีเศรษฐานะต่ำนั่นเอง

 

เนื่องจากกล้ามเนื้อคอของเด็กทารกยังไม่แข็งแรง ทำให้ยังไม่สามารถรับน้ำหนักของศีรษะที่มีขนาดใหญ่ของเด็กได้ (เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของร่างกาย) จึงทำให้เมื่อเกิดการเขย่าเด็กไปมา ส่งผลให้ศีรษะถูกเหวี่ยงไปมาในแนวระนาบ จึงทำให้ 'สมอง' ถูกเหวี่ยงไปในมาอยู่ในกะโหลกศีรษะที่เป็นพื้นที่ปิด และจะแย่กว่านั้นหากเหวี่ยงแล้วถูกกระแทกด้วยอย่างการจับเด็กกระแทกที่พื้นหรือกำแพงด้วย เพราะจะเกิดแรงกระชากอย่างรุนแรงได้ เป็นเหตุให้เกิด 'เลือดออก' ตามที่ต่าง ๆ ได้เช่น เชื่อหุ้มสมอง โพรงสมอง จอประสาทตา

 

 

 

ในขณะเดียวกัน "การอุ้มเขย่าเด็ก "ก็อาจทำให้เกิดการฉีกขาดของเส้นประสาทได้ จึงเป็นเหตุให้สมองส่วนที่มีเลือดออกบวมและขาดอากาศไปเลี้ยง เกิดอันตรายแบบถาวรได้ บางคนเลือดออกเยอะจนความดันในช่องกะโหลกสูงก็ชัก ก็เสียชีวิตได้นั่นเอง

 

พยากรณ์โรคของกลุ่มอาการเขย่าเด็กมักแย่ เนื่องจากเด็กมักถูกเขย่าซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน จนกระทั่งถึงจุดที่เด็กมีอาการรุนแรงมาก อย่างการหมดสติ ชักเกร็งกระตุก หรือกระทั่งหยุดหายใจและเสียชีวิตแล้วจึงค่อยถูกพามาพบแพทย์ ดังนั้นเราจึงพบพยาธิสภาพตามอวัยวะต่าง ๆ หลายตำแหน่ง และมีอาการรุนแรง

 

 

การเขย่าเด็ก ป้องกันได้ง่ายมากด้วย ‘การไม่เขย่าเด็ก’ คุณพ่อคุณแม่ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่ยังไม่คุ้นเคยกับเสียงร้องไห้ของเด็ก รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาทางจิตอารมณ์อยู่เดิมอย่างผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ต้องมีสติและรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองเสมอ และควรได้รับการรักษาและดูแลอย่างเหมาะสมโดยแพทย์ในกรณีที่เป็นโรคทางอารมณ์และจิตใจ

 

หากรู้สึกว่าอารมณ์ความรู้สึกผิดปกติไปจากเดิมอาจต้องหาผู้ช่วยมาดูแลลูกแทน แล้วไปพักให้จิตใจสงบและปลอดโปร่งมากขึ้นสั้น ๆ ก่อนได้ เน้นย้ำที่คำเดิมสั้น ๆ ให้คุณพ่อคุณแม่ท่องเอาไว้ให้ขึ้นใจนั่นก็คือ “อย่าเขย่าเด็ก” นั่นเอง